โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 520,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 42
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 245,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 15 มีนาคม 2561) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมที่โจทก์ได้รับยกเว้นนั้นให้จำเลยนำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 95,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 15 มีนาคม 2561) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นให้จำเลยชดใช้ในนามของโจทก์เพียงเท่าจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น กับให้ตรวจคืนค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนในนามของโจทก์ส่วนที่จำเลยชำระไว้เกินในขณะยื่นอุทธรณ์ให้แก่จำเลยด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นมารดาของเด็กชาย ช. จำเลยเปิดการเรียนการสอนโครงการนานาชาติหลักสูตรของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ โจทก์ให้เด็กชาย ช. เข้าเรียนหลักสูตรดังกล่าว ชั้น Year 8 (ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1) ปีการศึกษา 2559 โดยเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2559 โจทก์ชำระเงินค่าเรียนเตรียมความพร้อม 15,000 บาท และค่าแรกเข้า 100,000 บาท วันที่ 3 ตุลาคม 2559 ชำระค่าบำรุงการศึกษาภาคเรียนที่ 1 จำนวน 150,000 บาท และวันที่ 8 พฤษภาคม 2560 ชำระค่าบำรุงการศึกษาภาคเรียนที่ 2 จำนวน 150,000 บาท หลังจากเรียนจบภาคเรียนที่ 2 โจทก์ขอพักการเรียนและรักษาสภาพการเป็นนักเรียนของเด็กชาย ช. มีกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2560 เพื่อส่งเด็กชาย ช. ไปเรียนต่อต่างประเทศ โดยชำระค่ารักษาสภาพการเป็นนักเรียนให้แก่จำเลย 5,000 บาท ต่อมาโจทก์มีหนังสือลงวันที่ 5 กันยายน 2560 แจ้งให้จำเลยคืนเงินค่าธรรมเนียมที่โจทก์ชำระไปทั้งหมด 420,000 บาท คณะกรรมการโครงการนานาชาติของจำเลยประชุมแล้วมีมติว่าไม่สามารถคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ได้ หลังจากครบกำหนดขอพักการเรียนแล้วเด็กชาย ช. ไม่ได้กลับมาเรียนโครงการนานาชาติของจำเลยอีก ในส่วนที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินค่าเรียนเตรียมความพร้อม 15,000 บาท และค่าบำรุงการศึกษาภาคเรียนละ 150,000 บาท กับที่ขอให้ชำระค่าเสียหาย 100,000 บาท นั้น ศาลอุทธรณ์ยกคำขอ โจทก์ไม่ฎีกา คำขอในส่วนนี้จึงเป็นอันยุติ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาข้อแรกว่า โจทก์มีสิทธิเรียกเงินค่าแรกเข้าหรือเงินบริจาคคืนหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อนี้จำต้องรับฟังข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติเสียก่อนว่า จำเลยผิดสัญญาให้บริการทางการศึกษาหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่โจทก์ได้โต้แย้งมาในคำแก้ฎีกาแล้ว จึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามคำแก้ฎีกาของโจทก์เสียก่อน เห็นว่า จำเลยจัดการเรียนการสอนตรงตามคำโฆษณาหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการให้บริการหรือการดำเนินการใด ๆ ซึ่งอยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของจำเลยที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจ ภาระการพิสูจน์จึงตกอยู่แก่จำเลยตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 29 แต่จำเลยมีเพียงนายนรินทร์มาเบิกความถึงคุณสมบัติของครูผู้สอนว่าเฉพาะครูที่สอนวิชาภาษาอังกฤษเท่านั้นที่จะต้องมาจาก 5 ประเทศหลัก ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ทั้งยังขัดกับคุณสมบัติของครูผู้สอน ที่โจทก์ได้รับจากจำเลยซึ่งระบุไว้ในหน้าที่ 6 ข้อ 1 ว่า เป็นชาวตะวันตกที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในประเทศของตน โดยมิได้มีข้อความใดที่บ่งชี้ให้เห็นได้ว่าใช้เฉพาะกับครูผู้สอนวิชาภาษาอังกฤษ คำเบิกความของนายนรินทร์จึงไม่อาจรับฟังได้ นอกจากนี้ข้อ 2 ของแผ่นพับโฆษณาดังกล่าวยังได้ระบุคุณสมบัติของครูผู้สอนอีกว่า สำเร็จการศึกษาขั้นต่ำในระดับปริญญาตรี โดยต้องมีสาขาวิชาเอกตรงกับวิชาที่สอน เมื่อได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า วิชาเทคโนโลยีสารสนเทศใช้ครูชาวฟิลิปปินส์เป็นผู้สอน วิชาคณิตศาสตร์ใช้ครูชาวอิหร่านเป็นผู้สอน วิชาดนตรีและวิชาพลศึกษาใช้ครูคนไทยเป็นผู้สอน และภาคเรียนที่ 1 ขาดครูสอนวิชาภาษาอังกฤษอยู่ 2 เดือน บางครั้งไม่มีครูมาสอน บางครั้งครูที่มาสอนแทนไม่ใช่ครูที่สอนวิชาภาษาอังกฤษ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยใช้ครูผู้สอนที่มีคุณสมบัติไม่ตรงตามที่โฆษณา ส่วนห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์และเครื่องดนตรีนั้น จำเลยไม่ได้นำสืบโต้แย้ง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า โครงการของจำเลยไม่มีห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์และขาดเครื่องดนตรีตามที่โจทก์นำสืบ ที่นายนรินทร์เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ขณะผู้ปกครองรวมทั้งโจทก์นำนักเรียนมาสมัครเรียน ได้แจ้งให้ทราบแล้วว่ามีการย้ายโรงเรียนจึงไม่มีความพร้อม นั้น เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ซึ่งโจทก์ นางสาววลัยพรรณ และนางหทัยรัตน์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้ปกครองนักเรียนดังกล่าวต่างก็เบิกความยืนยันว่าไม่เคยได้รับแจ้งในเรื่องนี้ อีกทั้งตามแผ่นพับโฆษณาก็ระบุเพียงว่าโรงเรียนจะย้ายไปที่ตั้งแห่งใหม่ มีความสะดวกและทันสมัยเหมาะกับการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของนักเรียนมากยิ่งขึ้น ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องความไม่พร้อมของห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์และเครื่องดนตรีแต่อย่างใด ข้อแก้ตัวของจำเลยจึงไม่อาจรับฟังได้ ยิ่งกว่านั้น ยังได้ความนางสาววลัยพรรณ และนางหทัยรัตน์ เจ้าหน้าที่โครงการนานาชาติของจำเลย เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า นักเรียนที่มาเรียนพร้อมเด็กชายชยุตมี 25 คน พอขึ้นชั้น Year 9 เหลือเพียง 7 คน เหตุที่นักเรียนออกเนื่องจากครูผู้สอนไม่มีความพร้อม ห้องเรียนและอุปกรณ์ก็ไม่พร้อม เจือสมกับทางนำสืบของโจทก์ พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยจัดการเรียนการสอนโครงการนานาชาติไม่เป็นไปตามที่โฆษณา แม้จำเลยจะเป็นส่วนราชการ การใช้จ่ายเงินใด ๆ ต้องเสนอของบประมาณ และการจัดซื้อจัดจ้างต้องปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก็ตาม แต่จำเลยเปิดการเรียนการสอนโครงการนานาชาติขึ้นนอกเหนือหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเรียกเก็บค่าใช้จ่ายและค่าเล่าเรียนในอัตราสูง ย่อมไม่อาจนำข้ออ้างที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการมายกเว้นหน้าที่ในการจัดการเรียนการสอนให้เป็นไปตามคำโฆษณาได้ จึงต้องถือว่าจำเลยผิดสัญญาให้บริการทางการศึกษา
มีปัญหาต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิเรียกเงินค่าแรกเข้า 100,000 บาท คืนหรือไม่ เห็นว่า แม้เงินค่าแรกเข้าจะตกเป็นของจำเลย แต่โจทก์ชำระเงินดังกล่าวให้แก่จำเลยตามสัญญาให้บริการทางการศึกษาซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทน จำเลยจึงมีหน้าที่ชำระหนี้ตอบแทนตามสัญญาด้วย ได้ความจากรายงานการดำเนินงานโครงการนานาชาติ ปีการศึกษา 2559 หน้าที่ 5 ประกอบคำเบิกความของนายนรินทร์และนางสาวแพรวพรรณ พยานจำเลย รวมทั้งคำเบิกความของโจทก์ว่า ค่าแรกเข้าจะเรียกเก็บเพียงครั้งเดียวตลอดระยะเวลาที่นักเรียนศึกษาอยู่ในระดับ Year 8 ถึง Year 13 ประกอบด้วย ค่าสูทประจำโครงการนานาชาติสำหรับนักเรียน 1 ชุด ค่าทดสอบความสามารถทางภาษา TOEFL Junior สำหรับนักเรียนที่สำเร็จชั้น Year 8 ค่าทดสอบความสามารถทางภาษา TOEIC สำหรับนักเรียนที่สำเร็จชั้น Year 9 ค่าทดสอบความสามารถทางภาษา CU-TEP สำหรับนักเรียนที่สำเร็จชั้น Year 10 ค่าทดสอบความสามารถทางภาษา IELTS สำหรับนักเรียนที่สำเร็จชั้น Year 11 ค่าทดสอบความสามารถทางภาษา IGCSE สำหรับนักเรียนที่สำเร็จชั้น Year 10-11 (5 วิชา) ค่าทดสอบความสามารถทางภาษา AS-Level / A-Level สำหรับนักเรียนที่สำเร็จชั้น Year 12-13 (3 วิชา) และค่าทัศนศึกษายังต่างประเทศสำหรับนักเรียน Year 8 ถึง Year 13 โดยเงินค่าแรกเข้าจำนวน 50,000 บาท จะใช้ในการไปทัศนศึกษาของนักเรียนแต่ละคน แต่ระหว่างเรียนอยู่โครงการนานาชาติของจำเลย เด็กชายชยุตได้รับสูทประจำโครงการ 1 ชุด จำเลยออกเงินค่าสมัครสอบ TOEFL Junior ให้ 1 ครั้ง 500 บาท และก่อนสอบ TOEFL Junior จำเลยจัดติวให้เป็นเวลา 30 ชั่วโมง โดยเด็กชาย ช. ยังไม่ได้ไปทัศนศึกษายังต่างประเทศ และยังไม่ได้ใช้สิทธิในการทดสอบความสามารถทางภาษาส่วนที่เหลืออีกหลายครั้ง โจทก์จึงได้รับความเสียหายในส่วนนี้ การที่โจทก์ให้เด็กชายชยุตเข้าเรียนโครงการนานาชาติของจำเลยย่อมมุ่งหวังที่จะให้เรียนจนจบหลักสูตร แต่จำเลยกลับจัดการเรียนการสอนไม่เป็นไปตามที่โฆษณา จึงเชื่อว่าโจทก์ให้เด็กชายชยุตออกจากโครงการนานาชาติของจำเลยไปเรียนยังต่างประเทศเป็นเพราะขาดความมั่นใจในคุณภาพการเรียนการสอนอันเป็นความผิดของจำเลยตามที่โจทก์นำสืบ กรณีถือได้ว่าจำเลยไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 215 ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยคืนเงินค่าแรกเข้าแก่โจทก์ 90,000 บาท จำเลยไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่าเป็นจำนวนที่สูงเกินไป ศาลฎีกาจึงเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นั้น ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 มาตรา 3 และมาตรา 4 บัญญัติให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความใหม่แทน เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่อาจปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี โดยมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดฉบับดังกล่าวให้ใช้บทบัญญัติตามมาตรา 224 ที่แก้ไขใหม่แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 จึงต้องบังคับตามมาตรา 224 ที่แก้ไขใหม่ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 ส่วนที่โจทก์แก้ฎีกาขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายเพื่อการลงโทษนั้น เป็นการขอให้ศาลฎีกาเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งต้องกระทำโดยยื่นเป็นคำฟ้องฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ มิใช่ขอมาในคำแก้ฎีกา จึงไม่มีประเด็นที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยให้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาข้อต่อไปว่า จำเลยต้องคืนเงินค่ารักษาสภาพการเป็นนักเรียนหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ชำระค่ารักษาสภาพการเป็นนักเรียนให้แก่จำเลย 5,000 บาท เพื่อให้เด็กชายชยุตยังคงมีสถานะเป็นนักเรียนโครงการนานาชาติของจำเลยในระหว่างที่เด็กชายชยุตไปเรียนต่อยังต่างประเทศ ถือเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของโจทก์เอง ไม่ใช่ความเสียหายอันเกิดจากการไม่ชำระหนี้ของจำเลยที่โจทก์จะมีสิทธิเรียกให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือคืนเงินได้ ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยคืนเงินค่ารักษาสภาพการเป็นนักเรียนแก่โจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
อนึ่ง การที่จำเลยอุทธรณ์ขอให้พิพากษากลับเป็นยกฟ้อง แม้จะเป็นการขอให้กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปด้วย แต่คำขอในส่วนนี้มิใช่เป็นคำขอให้ชำระค่าเสียหาย หรือเงินอื่น ๆ บรรดาที่ให้จ่ายมีกำหนดเป็นระยะเวลาในอนาคตตามตาราง 1 (4) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลอนาคตชั้นอุทธรณ์อีกส่วนหนึ่ง แต่จำเลยเสียค่าขึ้นศาลอนาคตชั้นอุทธรณ์มา 100 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนนี้แก่จำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 90,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ อัตราดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ใช้อัตราที่ปรับเปลี่ยนบวกด้วยร้อยละ 2 ต่อปี คืนค่าขึ้นศาลอนาคตชั้นอุทธรณ์ 100 บาท แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งคืนและค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์