คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (2) (4), 157, 160 ตรี วรรคท้าย (เดิม) (ที่ถูก วรรคสามด้วย) เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 160 ตรี วรรคท้าย (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี และปรับ 60,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี และปรับ 30,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี ให้คุมความประพฤติของจำเลยมีกำหนด 3 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรมีกำหนด 36 ชั่วโมง ให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ร่วมทั้งสามตามสัญญาประนีประนอมยอมความลงวันที่ 9 ธันวาคม 2564 โดยให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขของการคุมประพฤติด้วย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 เพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลย สำหรับคดีส่วนแพ่ง ศาลชั้นต้นพิจารณาสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 9 ธันวาคม 2564 แล้ว เห็นว่า ชอบด้วยกฎหมาย จึงพิพากษาตามยอมให้คดีเป็นอันเสร็จเด็ดขาดตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนคดีแพ่งให้เป็นพับ ต่อมาโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องว่า เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ซึ่งครบกำหนดชำระค่าเสียหายงวดแรกตามสัญญาประนีประนอมยอมความลงวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 จำนวน 75,000 บาท ปรากฏว่าจำเลยนำเงินมาชำระเพียง 15,000 บาท อันเป็นการผิดเงื่อนไขในการคุมประพฤติจำเลย จึงขอให้ศาลชั้นต้นเปลี่ยนการรอการลงโทษจำคุกเป็นลงโทษจำคุกจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เปลี่ยนการรอการลงโทษจำคุกเป็นลงโทษจำคุกจำเลยตามที่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 มีคำร้องขอ ทั้งหมายจับจำเลยมาบังคับโทษตามคำพิพากษา
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยไม่ชำระหนี้ให้แก่ผู้เสียหายตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งศาลชั้นต้นกำหนดเป็นเงื่อนไขเพื่อควบคุมความประพฤติของจำเลยไว้ เป็นกรณีที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติที่ศาลกำหนดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกเลิกการคุมประพฤติและให้ลงโทษจำคุกที่รอการลงโทษแก่จำเลย ดังนี้ จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ และเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำพิพากษาแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ย่อมเป็นที่สุด ตามพระราชบัญญัติคุมประพฤติ พ.ศ. 2559 มาตรา 34 วรรคสอง จำเลยจะฎีกาไม่ได้ การที่จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้รับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและผู้พิพากษาที่พิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำสั่งว่า ข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุด จึงอนุญาตให้ฎีกามานั้นไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของจำเลย