โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,900,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษากลับว่า ให้จำเลยชำระเงิน 1,900,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 4 พฤษภาคม 2561) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์เป็นมารดาของนายปรัชญาผู้เอาประกันภัย จำเลยเป็นนิติบุคคลจดทะเบียนบริษัท ณ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน (เขตบริหารพิเศษฮ่องกง) ได้รับหนังสือรับรองให้ประกอบธุรกิจบริการประกันภัยประเภทประกันชีวิตตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2556 จำเลยตกลงทำสัญญาประกันชีวิตฉบับแรกให้แก่นายปรัชญาตามกรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ ที 180544363 โดยระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญา วันที่ 18 กันยายน 2557 นายปรัชญายื่นหนังสือรับรองสุขภาพว่า ใน 1 ปี ที่ผ่านมานายปรัชญามิได้ดื่มสุราเป็นประจำเพื่อขอกลับคืนสู่สถานะเดิมของกรมธรรม์ประกันภัยตามสัญญาประกันชีวิตฉบับแรกเนื่องจากนายปรัชญามิได้ชำระเบี้ยประกันภัยประจำงวดวันที่ 16 มกราคม 2557 ให้แก่จำเลย และวันที่ 24 กันยายน 2557 จำเลยต่ออายุสัญญาประกันชีวิตฉบับแรกให้แก่นายปรัชญา ต่อมาวันที่ 13 กรกฎาคม 2558 จำเลยตกลงทำสัญญาประกันชีวิตฉบับที่สองให้แก่นายปรัชญาตามกรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ ที 195474305 โดยระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาเช่นกัน วันที่ 14 เมษายน 2559 นายปรัชญาเสียชีวิตด้วยสาเหตุติดเชื้อในปอด ตับแข็ง และเลือดออกในทางเดินอาหาร โจทก์ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตทั้งสองฉบับยื่นคำขอเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนมรณกรรมจากจำเลย จำเลยตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการรักษาของนายปรัชญา จึงทราบว่านายปรัชญาเคยเข้ารับการรักษาอาการเจ็บป่วยจากผลข้างเคียงของการใช้แอลกอฮอล์ (ALCOHOL USE) การบำบัดอาการติดสุรา โรคติดสุรา (ALCOHOL ADDICTION) หรือ (ALCOHOL DEPENDENCE SYNDROME) โรคตับอักเสบ (HEPATITIS) โรคตับอักเสบจากการใช้แอลกอฮอล์ (ALCOHOL HEPATITIS) โรคตับแข็งจากการใช้แอลกอฮอล์ (ALCOHOLIC CIRRHOSIS) ภาวะทางจิตจากการใช้แอลกอฮอล์ (ALCOHOLIC PSYCHOSIS) ภาวะตับโต (HEPATOMEGALY) ที่โรงพยาบาลวารินชำราบตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2557 เป็นต้นมา ดังนี้ การที่นายปรัชญามิได้ตอบคำถามตามความเป็นจริงหรือปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาพในการตอบคำถามเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลขณะยื่นหนังสือรับรองสุขภาพเพื่อขอกลับคืนสู่สถานะเดิมของกรมธรรม์ประกันภัยตามสัญญาประกันชีวิตฉบับแรกและในใบคำขอเอาประกันชีวิตตามสัญญาประกันชีวิตฉบับที่สอง ทำให้สัญญาประกันชีวิตทั้งสองฉบับดังกล่าวตกเป็นโมฆียะ วันที่ 20 มิถุนายน 2559 จำเลยมีหนังสือบอกล้างสัญญาประกันชีวิตทั้งสองฉบับไปถึงโจทก์เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2559
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาแต่เพียงว่า จำเลยบอกล้างสัญญาประกันชีวิตพิพาททั้ง 2 ฉบับ ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่จำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า นายปรัชญาเอาประกันชีวิตไว้กับจำเลยรวมสองสัญญา ต่อมาระหว่างระยะเวลาเอาประกัน นายปรัชญาเสียชีวิตด้วยสาเหตุติดเชื้อในปอด ตับแข็ง และเลือดออกในทางเดินอาหาร จำเลยต้องรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ จำเลยให้การต่อสู้ว่า สัญญาประกันชีวิตทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นโมฆียะ และจำเลยได้บอกล้างแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องนำสืบให้ได้ความว่า จำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ตั้งแต่เมื่อใด และได้บอกล้างสัญญาดังกล่าวภายใน 1 เดือน นับแต่วันทราบมูลอันจะบอกล้างแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 วรรคสอง หรือไม่ แต่ทางนำสืบของจำเลยมีนางสาวลัดดาภรณ์ เป็นพยานเบิกความแต่เพียงว่า หลังจากโจทก์ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตทั้งสองฉบับยื่นคำขอเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนมรณกรรมของนายปรัชญาจากจำเลยแล้ว ประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายนจำเลยได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2559 จำเลยได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการรักษาจากโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ที่นายปรัชญารู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงหรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จอันทำให้สัญญาประกันชีวิตทั้งสองฉบับเป็นโมฆียะ โดยไม่ปรากฏจากคำเบิกความของนางสาวลัดดาภรณ์ว่า นางสาวลัดดาภรณ์เป็นผู้ตรวจสอบหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวหรือไม่ หรือจำเลยมอบหมายให้ใครเป็นผู้ทำการตรวจสอบ ทั้งไม่ปรากฏด้วยว่าจำเลยทำการตรวจสอบอย่างไร และเหตุใดจำเลยจึงทราบข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการรักษานายปรัชญาจากโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2559 นอกจากนี้ยังปรากฏตามสำเนาบัตรตรวจโรคโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ นั้น ซึ่งมีข้อมูลระบุชัดว่าโรงพยาบาลวารินชำราบ ส่งตัวนายปรัชญาไปรับการตรวจและรักษาต่อที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ เกี่ยวกับโรคติดสุรา เมื่อสำเนาเอกสารท้ายคำให้การดังกล่าวระบุที่มุมด้านซ้ายของเอกสารว่า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2559 และมีนายวิไชย เจ้าพนักงานเวชสถิติชำนาญงาน เป็นผู้รับรองสำเนาถูกต้องเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2559 ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความนางสาวลัดดาภรณ์ที่ว่า ประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายนจำเลยได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง อันแสดงให้เห็นว่าจำเลยได้ตรวจสอบประวัติการรักษาของนายปรัชญาไปยังโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ในช่วงเวลาดังกล่าวและโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ได้ออกเอกสารให้แก่จำเลยหรือตัวแทนของจำเลยผู้ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2559 แล้ว ส่วนการที่นางสาวลัดดาภรณ์เบิกความว่าจำเลยได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการรักษาของนายปรัชญาจากโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2559 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ห่างจากวันที่ 23 พฤษภาคม 2559 นานกว่า 2 สัปดาห์ นั้น ก็เป็นเพียงการกล่าวอ้างลอย ๆ กำหนดระยะเวลาหนึ่งเดือนในการใช้สิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 วรรคสอง จึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2559 ที่ตัวแทนของจำเลยได้รับสำเนาประวัติการตรวจรักษาของนายปรัชญาซึ่งเป็นการทราบมูลอันจำเลยจะบอกล้างโมฆียะกรรมได้ การที่จำเลยมีหนังสือลงวันที่ 20 มิถุนายน 2559 บอกล้างสัญญาประกันชีวิตทั้งสองฉบับไปยังโจทก์ และโจทก์ได้รับหนังสือบอกล้างดังกล่าววันที่ 26 มิถุนายน 2559 กรณีจึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยใช้สิทธิบอกล้างสัญญาประกันชีวิตทั้งสองฉบับภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่จำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีผู้บริโภค พิจารณาและพิพากษาให้จำเลยต้องรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันชีวิตทั้งสองฉบับให้แก่โจทก์ตามฟ้องมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีการออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 และมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เดิมและบัญญัติให้ใช้ความใหม่ว่า ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายโดยชัดแจ้งให้ใช้อัตราร้อยละสามต่อปี... และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดฉบับดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 224 เดิมแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และบัญญัติให้ใช้ความใหม่ว่า หนี้เงินให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี... และพระราชกำหนดดังกล่าว มาตรา 7 บัญญัติให้ใช้บทบัญญัติตามมาตรา 224 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ปัญหาเรื่องการคิดดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ตามกฎหมายเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 ค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นหนี้เงิน โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้นแต่ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามขอ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ ส่วนดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 4 พฤษภาคม 2561) จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 โจทก์ยังคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เดิม
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 1,900,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 4 พฤษภาคม 2561) จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ สำหรับดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปนั้นถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเปลี่ยนไปบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ