โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ 661/2563 และที่ อ 662/2563 ของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 (1) (3) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 19 กระทง ปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 5,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 1 เดือน ทางนำสืบจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม คงปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 3,333.33 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 20 วัน รวมปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 63,333.33 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 380 วัน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับกระทงข้อ 2.1.4 ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ 661/2563 และที่ อ 662/2563 ของศาลชั้นต้นนั้น เนื่องจากคดีทั้งสองดังกล่าวศาลยังมิได้มีคำพิพากษา กรณีจึงไม่อาจนับโทษจำเลยที่ 2 ต่อได้ ให้ยกคำขอในส่วนนี้ คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2558 จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถแทรกเตอร์ประเภทรถขุดดินจากโจทก์รวม 2 คัน ตกลงชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวดรายเดือน ชำระทุกวันที่ 18 ของทุกเดือน งวดแรกชำระในวันที่ 18 กันยายน 2558 เป็นเงิน 100,000 บาท งวดที่ 2 ถึงที่ 49 ชำระงวดละ 80,000 บาท จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ออกเช็คให้แก่โจทก์รวม 98 ฉบับ โดยเช็คทั้งยี่สิบฉบับที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นส่วนหนึ่งของเช็คจำนวนดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ค่าเช่าซื้อ เมื่อเช็คแต่ละฉบับถึงกำหนด โจทก์นำเข้าบัญชีธนาคารเพื่อเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทั้งยี่สิบฉบับ โดยให้เหตุผลว่าเงินในบัญชีไม่พอจ่ายตามเช็คและใบแจ้งผลคืนเช็ค โจทก์ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายในอายุความแล้ว สำหรับฟ้องโจทก์ข้อ 2.1.4 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่อุทธรณ์ ความผิดในข้อหาดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในปัญหาข้อกฎหมายเพียงประการเดียวว่า เช็คจำนวน 10 ฉบับ ตามฟ้องข้อ 2.1.2, 2.1.3, 2.1.5, 2.1.7, 2.1.9, 2.2.2, 2.2.3, 2.2.5, 2.2.7 และ 2.2.9 ที่จำเลยทั้งสองออกให้แก่โจทก์ เพื่อชำระหนี้ค่าเช่าซื้อ ซึ่งโจทก์ไม่ออกใบกำกับภาษีและส่งมอบใบกำกับภาษีให้แก่จำเลยทั้งสองนั้น เป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย อันจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 หรือไม่ เห็นว่า เช็คตามฟ้องทั้ง 10 ฉบับ ดังกล่าวเป็นเช็คที่จำเลยทั้งสองออกให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อเป็นงวด ๆ ซึ่งโจทก์ในฐานะผู้ให้เช่าซื้อมีความรับผิดในการชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยมีหน้าที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อเมื่อมีการชำระค่าเช่าซื้อตามงวดที่ถึงกำหนดชำระเพื่อนำส่งกรมสรรพากรตามประมวลรัษฎากร ฯ จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องรับผิดชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อต้องชำระค่าเช่าซื้อในแต่ละงวดตามสัญญา ดังนั้น ในขณะที่จำเลยทั้งสองออกเช็คแต่ละฉบับเพื่อชำระค่าเช่าซื้อในแต่ละงวดตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่โจทก์ มูลหนี้ตามเช็คแต่ละฉบับจึงมีมูลหนี้ค่าเช่าซื้อและภาษีมูลค่าเพิ่มรวมเข้าไปด้วย ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ส่วนการที่โจทก์ไม่ออกใบกำกับภาษีและส่งมอบใบกำกับภาษีให้แก่จำเลยทั้งสองนั้น หากจะเป็นความผิดก็เป็นการกระทำคนละส่วนแยกต่างหากตามที่มีบทบัญญัติของกฎหมายบัญญัติเป็นการเฉพาะ ทั้งหากมีการละเมิดกฎหมายดังกล่าวก็ต้องไปดำเนินการตามกฎหมายในส่วนนั้น หาได้ทำให้การกระทำของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นความผิดต่อกฎหมายกลับไม่เป็นความผิด ทั้งปรากฏว่าเช็คตามฟ้องไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ จึงยังไม่มีการชำระราคาค่าเช่าซื้อตามงวดที่โจทก์จะต้องมีความรับผิดในการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากจำเลยทั้งสอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน