โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินรางวัลผันแปรตามผลงาน (วีพีอาร์) ประจำปี 2559 จำนวน 418,278 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 171,656 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 16,890,950 บาท รวมเป็นเงิน 17,480,884 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานพิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 171,656 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ 31 ธันวาคม 2559) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางพิจารณากำหนดจำนวนค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้จำเลยชดใช้แก่โจทก์แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง
จำเลยฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยประกอบธุรกิจการค้าผลิตภัณฑ์ยารักษาโรค โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2528 ในตำแหน่งผู้จัดการกลุ่มผลิตภัณฑ์ยาแก้ไอได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 171,656 บาท บริษัทเบอริงเกอร์ อินเกลไฮม์ อินเตอร์เนชั่นแนล จีเอ็มบีเอช แห่งประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของจำเลยจะเลิกประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์รักษาสุขภาพ โดยได้ตกลงขายแลกเปลี่ยนธุรกิจดังกล่าวกับบริษัทซาโนฟี่-เบอร์เรียล แห่งประเทศฝรั่งเศส มีผลให้พนักงานในแผนกคอนซูมเมอร์ เฮลแคร์ ของจำเลยจะต้องโอนไปทำงานกับบริษัทซาโนฟี่-อาเวนตีส (ประเทศไทย) จำกัด จำเลยได้ประกาศชี้แจงให้พนักงานรวมทั้งโจทก์ทราบถึงความจำเป็น ข้อกำหนด และเงื่อนไขในการยุบแผนกดังกล่าวแล้ว โดยจำเลยเสนอข้อเสนอดังกล่าวแก่โจทก์เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2559 กำหนดให้โจทก์ตอบรับข้อเสนอภายในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 แต่โจทก์มิได้ตอบรับข้อเสนอของจำเลย จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการโอนย้ายโจทก์เป็นการเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 13 จึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยบอกกล่าวล่วงหน้าชอบแล้ว และโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินรางวัลผันแปรตามผลงานเพราะพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานก่อนวันจ่ายเงินรางวัลผันแปรดังกล่าว โดยศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า การเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ไม่ยินยอมโอนย้ายไปทำงานที่อื่น เป็นการเลิกจ้างที่ไม่มีเหตุผลสมควรเพียงพอเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ให้ย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหาย การที่จำเลยบอกกล่าวล่วงหน้าในวันที่ 27 ตุลาคม 2558 มิได้มีข้อความระบุว่าจำเลยจะเลิกจ้างโจทก์จึงไม่เป็นการบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์จึงมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าในส่วนที่ขาด และโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินรางวัลผันแปรตามผลงาน
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกมีว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 13 (เดิม) ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จะไม่ได้บัญญัติว่าการเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้างจะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง แต่การเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้างตามมาตราดังกล่าว กรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคล จะต้องเป็นการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง โอนหรือควบกับนิติบุคคลใด แต่การที่จำเลยขายกิจการในแผนกคอนซูมเมอร์ เฮลแคร์ และโอนลูกจ้างรวมทั้งโจทก์ไปทำงานกับบริษัทซาโนฟี่-อาเวนตีส (ประเทศไทย) จำกัด นั้น มิใช่การเปลี่ยนแปลงนิติบุคคลจำเลยหรือมีผลเป็นการโอนหรือควบรวมนิติบุคคลจำเลยกับบริษัทดังกล่าวแต่อย่างไร กรณีดังกล่าวจึงมิใช่การเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้าง ซึ่งเมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 6 จ้างแรงงาน มาตรา 577 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติว่า นายจ้างจะโอนสิทธิของตนให้แก่บุคคลภายนอกก็ได้ เมื่อลูกจ้างยินยอมพร้อมใจด้วยดังนั้น การที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจะโอนสิทธิการเป็นนายจ้างโจทก์ให้แก่บริษัทซาโนพี่-อาเวนตีส (ประเทศไทย) จำกัด จึงเป็นการโอนสิทธิความเป็นนายจ้างซึ่งจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างยินยอมพร้อมใจด้วย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์ไม่ตอบรับข้อเสนอของจำเลยจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่มีเหตุสมควร ถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยอาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 577 วรรคสาม ได้โดยชอบ เห็นว่า มาตรา 577 วรรคสาม บัญญัติว่า ถ้าคู่สัญญาฝ่ายใดทำการฝ่าฝืนบทบัญญัตินี้ คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ ดังนี้ จำเลยซึ่งเป็นฝ่ายฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 577 วรรคหนึ่ง เสียเอง จึงหามีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาได้ไม่ ฎีกาข้ออื่นไม่เป็นสาระแก่คดีไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการสุดท้ายมีว่า จำเลยบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 2 เดือน แล้วหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า จำเลยบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ล่วงหน้าเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ตามเอกสารหมาย ล.3 และคำแปลหมาย ล.4 ซึ่งมีข้อความระบุชัดเจนว่า แผนกคอนซูมเมอร์ เฮลแคร์จะยุติกิจการในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 อันเป็นวันธุรกรรมเสร็จสมบูรณ์ และยังมีข้อความต่อไปอีกว่าให้ถือเอาหนังสือฉบับลงวันที่ 27 ตุลาคม 2559 เป็นหนังสือบอกกล่าวเลิกจ้างงาน ถ้าโจทก์ไม่ตอบรับภายในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 โจทก์จะถูกเลิกจ้างในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 ย่อมถือได้ว่าเป็นหนังสือบอกกล่าวล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 2 เดือนแล้ว เห็นว่า เอกสารหมาย ล.3 และ ล.4 มีข้อความระบุว่า หากโจทก์ไม่ตอบรับข้อเสนอของจำเลยภายในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 จำเลยจะสันนิษฐานว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะรับข้อเสนอ และข้อเสนอจะถือว่าถูกเพิกถอนไป โดยที่จำเลยจะไม่มีตำแหน่งให้โจทก์อีกต่อไป นับแต่วันที่ธุรกรรมเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งหมายถึงการจ้างงานของโจทก์จะสิ้นสุดลงในวันที่ธุรกรรมเสร็จสมบูรณ์ และให้ถือว่าหนังสือฉบับนี้เป็นคำบอกกล่าวเลิกการจ้างข้อความตามเอกสารดังกล่าวชัดเจนว่า หากโจทก์ไม่ตอบรับข้อเสนอของจำเลยภายในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ ดังนี้ ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่าเอกสารดังกล่าวหามีข้อความใดระบุว่าจำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ไม่ จึงไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม เอกสารหมาย ล.3 และ ล.4 มีข้อความเพียงว่า จำเลยจะไม่มีตำแหน่งงานให้โจทก์อีกต่อไปนับแต่วันที่ธุรกรรมเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งหมายถึงการจ้างของโจทก์จะสิ้นสุดลงในวันที่ธุรกรรมเสร็จสมบูรณ์ หาได้มีข้อความระบุชัดเจนว่าจะยุติกิจการในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 (อันเป็นวันที่ธุรกรรมเสร็จสมบูรณ์) และถ้าโจทก์ไม่ตอบรับภายในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 โจทก์จะถูกเลิกจ้างในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 ดังที่จำเลยอ้างในฎีกาไม่ ดังนี้ แม้เอกสารหมาย ล.3 และ ล.4 จะเป็นการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า แต่ก็ไม่ได้กำหนดวันที่จะเลิกจ้างไว้ให้ชัดเจนว่าจะเลิกจ้างโจทก์ในวันใด การบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 2 เดือนแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
คดีนี้ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินรางวัลผันแปรตามผลงาน (วีพีอาร์) โจทก์ไม่ได้ฎีกา ปัญหาในเรื่องดังกล่าวจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ โจทก์จะยื่นคำแก้ฎีกาของจำเลยขอให้ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินรางวัลผันแปรตามผลงาน (วีพีอาร์) ให้แก่โจทก์อีกนั้นย่อมไม่ได้
พิพากษายืน