โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335, 264, 265, 268, 341, 342 (1), 83, 90, 91 และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 7,100 บาท ให้แก่บริษัทบัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหายที่ 2 ด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก, 264, 265, 268, 341, 342 (1) ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ซึ่งเป็นบทที่มีอัตราโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 2 ปี ให้จำเลยคืนเงิน 7,100 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่โจทก์มีผู้เสียหายที่ 1 เบิกความว่า จำเลยโทรศัพท์มาคุยกับพยานเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2545 รับว่าเป็นผู้นำบัตรเครดิตของพยานไปใช้และจะชดใช้ค่าเสียหายให้ทั้งหมด พยานนัดให้จำเลยมาพบในวันรุ่งขึ้นเวลา 18 นาฬิกา ครั้นถึงเวลานัดจำเลยมาพบพยานต่อหน้ามารดาและนายสุวิทย์ เจ้าหน้าที่ของผู้เสียหายที่ 2 จำเลยรับว่าเป็นผู้นำบัตรเครดิตของพยานไปใช้และจะรับผิดค่าใช้จ่ายทั้งหมด พยานจึงให้จำเลยเจรจาตกลงกับนายสุวิทย์เอง นายสุวิทย์เบิกความว่า หลังจากรับแจ้งจากผู้เสียหายที่ 1 ว่าไม่ได้รับบัตรเครดิตของผู้เสียหายที่ 2 ที่ผู้เสียหายที่ 1 ได้ยื่นใบสมัครไว้แล้ว พยานได้ตรวจสอบจากระบบคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหายที่ 2 พบว่ามีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่ออกให้ผู้เสียหายที่ 1 แล้วเป็นเงิน 19,000 บาทเศษ ตามสำเนารายการการใช้บัตรเครดิต พยานโจทก์อีกปากหนึ่ง คือนายอนุรักษ์ ก็เบิกความยืนยันว่า วันที่ 12 สิงหาคม 2545 เวลาประมาณ 19 นาฬิกา มีหญิงวัยรุ่นอายุประมาณ 20 ปี ไว้ผมยาวและใส่เหล็กดัดฟันเข้ามาเลือกซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ร้านจ๊ะเอ๋ เซฮาโล ซึ่งพยานเป็นเจ้าของ ครั้งแรกจะขอซื้อโทรศัพท์ยี่ห้อโนเกียรุ่นท๊อป ราคา 12,000 บาท โดยส่งบัตรเครดิตให้พยานลองรูดบัตรว่าผ่านวงเงินจำนวนดังกล่าวหรือไม่ เมื่อเครื่องอนุมัติวงเงินดังกล่าวแล้ว หญิงวัยรุ่นขอเปลี่ยนเครื่องโทรศัพท์ที่จะซื้อเป็นรุ่นอื่นที่มีราคา 7,100 บาท ซึ่งถูกกว่าโดยมีจำเลยเข้ามาช่วยเลือกซื้อด้วย ในที่สุดตกลงซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นที่ราคา 7,100 บาท โดยหญิงวัยรุ่นใช้บัตรเครดิตชำระค่าโทรศัพท์ดังกล่าวต่อหน้าจำเลย ส่วนจำเลยนำสืบเจือสมพยานโจทก์ แต่อ้างว่าไม่ได้ร่วมรู้เห็นในการกระทำผิดของนางสาววรศิริบุตรสาว หากแต่ที่ไปเจรจาและตกลงชดใช้ค่าใช้จ่ายที่มีการใช้บัตรเครดิตที่ออกให้ผู้เสียหายที่ 1 เป็นการไปเจรจาแทนนางสาววรศิริบุตรสาวเท่านั้นและเหตุที่จำเลยกับสามีจำเลยรับเอกสารซึ่งภายในมีบัตรเครดิตที่ออกให้ผู้เสียหายที่ 1 ก็เพราะเข้าใจว่าเป็นเอกสารที่ส่งถึงนางสาววรศิริบุตรสาวจำเลยจึงรับไว้แทน แต่เมื่อบุตรสาวแจ้งว่าไม่ใช่เอกสารที่ส่งถึงตนก็ได้บอกให้บุตรสาวนำไปคืนไปรษณีย์แล้ว เห็นว่าพยานโจทก์ทั้งสามเบิกความสอดคล้องต้องกันและเป็นเหตุเป็นผลต่อกัน พยานโจทก์ทั้งสามไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลย ประกอบกับได้ความจากทางนำสืบของจำเลยว่า จำเลยมีอาชีพรับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้า และนางสาววรศิริยังเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยรังสิต โดยเป็นนักศึกษาในพระบรมราชานุเคราะห์ในสมเด็จพระบรมราชินีนาถโดยได้ทุนการศึกษาเดือนละ 10,000 บาท และยังต้องทำงานหารายได้เสริมจากการเป็นแด๊นเซอร์ซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอน และขณะเกิดเหตุนางสาววรศิริยังต้องยืมโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเพื่อนใช้ จึงไม่น่าเชื่อว่านางสาววรศิริจะมีรายได้เพียงพอที่จะซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้เองและได้รับอนุมัติให้ถือบัตรเครดิตในชื่อของตนเองได้ตามที่จำเลยอ้าง ข้ออ้างของจำเลยจึงมีพิรุธ ไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามทางนำสืบของโจทก์ว่า จำเลยกับพวกร่วมกันรับบัตรเครดิตซึ่งเป็นทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 2 ไว้ การที่ผู้เสียหายที่ 2 ส่งบัตรเครดิตไปให้ผู้เสียหายที่ 1 ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับตามที่อยู่ที่ผู้เสียหายที่ 1 ระบุไว้ในใบสมัครสมาชิกบัตรเครดิต แม้ผู้เสียหายที่ 1 จะย้ายออกไปจากบ้านเช่าหลังดังกล่าวแล้ว แต่ผู้เสียหายที่ 2 ก็มิได้มีเจตนาส่งมอบบัตรเครดิตให้แก่จำเลยกับพวกที่เข้ามาอยู่ในบ้านหลังดังกล่าวต่อจากผู้เสียหายที่ 1 เพราะจดหมายซึ่งส่งบัตรเครดิตไปนั้น ย่อมต้องระบุชื่อและชื่อสกุลพร้อมทั้งที่อยู่ของผู้รับไว้ชัดเจน บุคคลอื่นย่อมไม่มีสิทธิในจดหมายและสิ่งของที่บรรจุในจดหมายดังกล่าว กรณีจึงมิใช่เป็นการส่งมอบบัตรเครดิตให้แก่จำเลยกับพวกโดยสำคัญตัวผิดว่าจำเลยกับพวกคือผู้เสียหายที่ 1 เมื่อจำเลยกับพวกรับบัตรเครดิตไว้และยึดถือเป็นของตนเองเพื่อนำไปใช้ประโยชน์โดยทุจริต เป็นการแย่งการครอบครอง การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้อง และข้อเท็จจริงยังรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยกับพวกร่วมกันปลอมบัตรเครดิตโดยให้พวกของจำเลยลงลายมือชื่อในช่องลายมือชื่อด้านหลังบัตรเครดิตดังกล่าวเพื่อให้ผู้อื่นหรือประชาชนเข้าใจว่าเป็นลายมือชื่อที่แท้จริงของผู้เสียหายที่ 1 และร่วมกันใช้บัตรเครดิตดังกล่าวโดยให้พวกของจำเลยลงลายมือชื่อในบันทึกรายการสินค้าเพื่อหลอกลวงให้นายอนุรักษ์เจ้าของร้านจ๊ะเอ๋ เซฮาโล หลงเชื่อยอมขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ราคา 7,100 บาท แก่จำเลยกับพวก และยอมให้จำเลยกับพวกชำระราคาโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยบัตรเครดิตดังกล่าว การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ ใช้เอกสารสิทธิปลอมและฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่นตามฟ้องโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยตามฟ้องเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทนั้น เห็นว่า ความผิดฐานลักบัตรเครดิตเป็นความผิดสำเร็จในตัวโดยอาศัยเจตนาแยกต่างหากจากความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิใช้เอกสารสิทธิปลอม และฐานฉ้อโกง การกระทำตามฟ้องจึงเป็นความผิดสองกรรมแต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยเป็น 2 กรรม ศาลฎีกาจึงไม่อาจลงโทษจำเลยเป็น 2 กรรมได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225 นอกจากนี้ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 7,100 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 นั้น เห็นว่าความผิดฐานฉ้อโกงกฎหมายมุ่งคุ้มครองผู้ถูกหลอกลวง ซึ่งคดีนี้คือนายอนุรักษ์ เจ้าของร้านจ๊ะเอ๋ เซฮาโล ส่วนผู้เสียหายที่ 2 ต้องจ่ายเงินให้แก่สถานที่รับบริการการใช้บัตรเครดิตที่จำเลยกับพวกซื้อสินค้าแทนจำเลยกับพวกตามสัญญาที่ผู้เสียหายที่ 2 มีกับสถานที่รับบริการการใช้บัตรเครดิต เป็นความเสียหายที่ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับในทางแพ่ง ไม่ใช่ความเสียหายที่ได้รับจากการที่ถูกจำเลยกับพวกหลอกลวงหรือปกปิดข้อเท็จจริง การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยตรงต่อสถานที่รับบริการการใช้บัตรเครดิต กรณีไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายที่ 2 แม้ผู้เสียหายที่ 2 จะต้องจ่ายเงินให้แก่สถานที่รับบริการใช้บัตรเครดิตก็ไม่ทำให้ผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) พนักงานอัยการย่อมไม่มีอำนาจเรียกให้จำเลยคืนเงินแทนผู้เสียหายที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 ได้ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
อนึ่ง แม้ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2547 กำหนดความผิดอาญาและอัตราโทษสำหรับการกระทำความผิดเกี่ยวกับบัตรและข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยกำหนดให้การปลอมบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้เพื่อประโยชน์ในการชำระค่าสินค้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269 /1 ประกอบมาตรา 269/7 และกำหนดให้การใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้เพื่อประโยชน์ในการชำระค่าสินค้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/4 วรรคแรก และวรรคสาม ประกอบมาตรา 269/1 และมาตรา 269/7 แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยจึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยไม่เป็นกรณีที่ต้องแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้น
พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 (7) วรรคแรก, 268 วรรคสอง ประกอบมาตรา 265, 341 และ 342 (1) ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน รวม 2 กระทง แต่ลงโทษจำเลยตามมาตรา 335 (7) วรรคแรก ได้เพียงกระทงเดียว ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน คำให้การและคำเบิกความของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลย 1 ปี ให้ยกคำขอให้จำเลยคืนเงิน 7,100 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2