โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินแก่โจทก์คนละ 819,561.51 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 679,631.83 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 8774 ถึง 8777 เป็นของนายยิ่ง เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2540 เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สาขาหัวหิน แจ้งการยึดที่ดินตามโฉนดเลขที่ดังกล่าวทั้ง 4 แปลง ตามหมายบังคับคดีของศาลจังหวัดราชบุรี วันที่ 28 เมษายน 2547 เจ้าพนักงานบังคับคดีสำนักงานบังคับคดีจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สาขาหัวหิน แจ้งการยึดที่ดิน 4 แปลง ดังกล่าวซ้ำอีก ตามหมายบังคับคดีของศาลจังหวัดเพชรบุรี วันที่ 1 มิถุนายน 2547 เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีหนังสือถึงมีหนังสือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สาขาหัวหิน แจ้งถอนการยึดที่ดินทั้ง 4 แปลง ที่ถูกยึดไว้ตามตามหมายบังคับคดีของศาลจังหวัดเพชรบุรี ในวันเดียวกันจำเลยทั้งสองซื้อที่ดินทั้ง 4 แปลง กับที่ดินแปลงอื่น รวม 14 แปลง จากนายยิ่ง โดยจดทะเบียนและทำสัญญาซื้อขายกันที่สำนักงานที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สาขาหัวหิน ต่อมาวันที่ 29 พฤศจิกายน 2550 จำเลยทั้งสองขายที่ดินทั้ง 4 แปลง กับที่ดินแปลงอื่นรวม 14 แปลง ดังกล่าวแก่บริษัท จ. หลังจากนั้นวันที่ 4 พฤษภาคม 2554 บริษัท จ. ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 615/2556 ให้รับผิดฐานรอนสิทธิตามสัญญาซื้อขายเนื่องจากบริษัท จ. ไม่สามารถนำที่ดินทั้ง 4 แปลง ที่ซื้อมาจากจำเลยทั้งสองไปขายให้บุคคลอื่นเพราะถูกยึดไว้ตามหมายบังคับคดีของศาลจังหวัดราชบุรีจำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่า จำเลยทั้งสองซื้อที่ดินทั้ง 4 แปลง มาจากนายยิ่งโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ในวันที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ เจ้าพนักงานที่ดินไม่ได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบว่าที่ดินถูกยึดโดยเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สาขาหัวหิน และขอให้หมายเรียกโจทก์เข้าเป็นจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4979/2559 โดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลล่างทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองและโจทก์ในฐานะจำเลยร่วม ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัท จ. เป็นเงิน 1,400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่บริษัท จ. ชนะคดี วันที่ 10 มกราคม 2560 โจทก์นำเงินที่ต้องชำระตามคำพิพากษาไปวางที่ศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิไล่เบี้ยจำเลยทั้งสองในเงินที่โจทก์นำไปวางต่อศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เพื่อเป็นการชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาให้แก่บริษัท จ. หรือไม่ เห็นว่า ถึงแม้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4979/2559 จะกำหนดให้จำเลยทั้งสองและโจทก์ในฐานะจำเลยร่วม ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายต่อบริษัท จ. ในหนี้จำนวนเดียวกัน และเห็นว่าเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระมิได้ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 301 บัญญัติว่าถ้าบุคคลหลายคนเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระมิได้ ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นต้องรับผิดเช่นอย่างลูกหนี้ร่วมกัน แต่ความรับผิดของลูกหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 296 ซึ่งบัญญัติให้ลูกหนี้ร่วมต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นนั้น จะต้องพิจารณาด้วยว่าลูกหนี้ร่วมแต่ละคนนั้นมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นอย่างไรและเพียงใด เมื่อข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวได้ความว่าจำเลยทั้งสองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่เจ้าหน้าที่ของโจทก์ไม่ตรวจดูว่าที่ดินที่ซื้อขายถูกยึดไว้หรือไม่ ทั้งคดีหมายเลขดำที่ 662/2557 ของศาลจังหวัดหัวหิน นางอุษา เจ้าหน้าที่ของโจทก์ถูกฟ้องเกี่ยวกับการรับจดทะเบียนโอนที่ดินทั้ง 4 แปลงทั้งที่มีหนังสือแจ้งการยึดจากเจ้าพนักงานบังคับคดี ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ที่ถูกยึดหรืออายัด หรือที่ตนรู้ว่าน่าจะถูกยึดหรืออายัด เพื่อจะมิให้การเป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 187 และจำเลยทั้งสองถูกฟ้องฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าว ศาลจังหวัดหัวหินพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสอง โดยคดีในส่วนของจำเลยทั้งสองถึงที่สุดแล้ว และคดีนี้โจทก์ก็มิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองรู้ว่าที่ดินทั้ง 4 แปลง เคยถูกยึดไว้ตามหมายบังคับคดีของศาลก่อนที่จำเลยทั้งสองจะขายให้แก่บริษัท จ. หรือมีพฤติการณ์ใดที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองน่าจะทราบเรื่องดังกล่าวและปกปิดไม่แจ้งเรื่องให้บริษัท จ. ทราบ อันจะถือได้ว่าจำเลยทั้งสองมีส่วนในการก่อให้เกิดความเสียหายนั้นด้วย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดจากความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่โจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียว การชำระหนี้ของโจทก์ให้แก่บริษัท จ. จึงเป็นการชำระหนี้ในส่วนที่โจทก์เป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นเองทั้งสิ้น โจทก์ย่อมไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของบริษัท จ. ที่จะมีสิทธิไล่เบี้ยจำเลยทั้งสองได้ สำหรับประเด็นที่ว่าความรับผิดของโจทก์กับจำเลยทั้งสองในฐานะลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษามีเพียงใดนั้น ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยในคดีก่อน จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำดังที่โจทก์ฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ