โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 (1) (2) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 10 เดือน รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 30 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 15 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยให้การรับสารภาพแล้ว จำเลยจะอุทธรณ์ว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดตามฟ้องอีกไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้อง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเป็นการวินิจฉัยข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านในชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่า สัญญากู้ยืมเงินระบุอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปี โจทก์จะมอบเงินให้แก่จำเลยแต่ละงวดโดยหักเงินในส่วนดอกเบี้ยไว้ จำเลยจึงไม่ได้รับเงินเต็มตามสัญญากู้ยืมเงิน ดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นดอกเบี้ยของงวดก่อน เนื่องจากโจทก์คิดดอกเบี้ยค้างชำระในงวดก่อนร้อยละ 18 ต่อปี เมื่อปรากฏว่าจำนวนเงินในเช็คพิพาททั้งสามฉบับมีการเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี รวมเข้ากับเงินต้นในเช็คพิพาทแต่ละฉบับไว้ด้วยซึ่งกฎหมายให้เรียกดอกเบี้ยเงินกู้ได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 มาตรา 4 (1) จึงเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายย่อมตกเป็นโมฆะฟ้องบังคับไม่ได้ เช็คพิพาททั้งสามฉบับจึงไม่ใช่การชำระหนี้ที่จะบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพตามฟ้อง แต่คำให้การรับสารภาพของจำเลยไม่ตรงตามความจริงที่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์ในการไต่สวนมูลฟ้องจึงไม่อาจรับฟังคำรับสารภาพของจำเลยประกอบกับคำฟ้องของโจทก์ลงโทษจำเลย อีกทั้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ได้ให้อำนาจศาลในการพิพากษาคดีว่า ถ้าศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ให้ศาลยกฟ้องปล่อยจำเลยไป ซึ่งการพิพากษาคดีตามบทบัญญัติดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง, 225 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 แม้จะมิได้เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้นก็ตาม ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 แล้วพิพากษายกฟ้องมานั้น จึงชอบแล้ว ส่วนฎีกาข้ออื่น ๆ ของโจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน