ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้า: การพิจารณาเจตนาในการกระทำผิดเพื่อตัดสินว่าเป็นการกระทำผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรม
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2541เวลากลางวัน จำเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบท หลายกรรม กล่าวคือ (ก) จำเลยซึ่งประกอบอาชีพค้าขายสินค้าทั่วไป ได้ขาย เสนอขายเพื่อการค้า หากำไรซึ่งตุ๊กตากล้วยหอมบี 1 จำนวน 1 ตัว ซึ่งเป็นงานศิลปกรรมประยุกต์ ตัวแสดงในภาพยนตร์ชุด"บานาน่าส์อินพิจามัส"ที่มีผู้ทำขึ้นโดยดัดแปลงทำเป็นหุ่นเหมือนตัวแสดงในภาพยนตร์ชุด "บานาน่าส์อินพิจามัส"โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ 1 ทั้งนี้ โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่างานศิลปกรรมประยุกต์ ดังกล่าวได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ 1(ข) จำเลยซึ่งประกอบ อาชีพค้าขายสินค้าทั่วไป ได้ขายเสนอขายเพื่อการค้าหากำไร ซึ่งตุ๊กตาเครยองชินจัง จำนวน 1 ตัว ซึ่งเป็นงานศิลปกรรมประยุกต์ ตัวแสดงในภาพยนตร์โทรทัศน์ชุด"เครยองชินจัง"ที่มีผู้อื่นทำขึ้นโดยดัดแปลงทำเป็นหุ่นเหมือนตัวแสดงในภาพยนตร์โทรทัศน์ "เครยองชินจัง"โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ 2 ทั้งนี้ โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่างานศิลปกรรมประยุกต์ ดังกล่าวได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ 2 ตามคำฟ้อง ของโจทก์ดังกล่าวไม่ปรากฏรายละเอียดให้เห็นได้ชัดเจนว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดตามฟ้องข้อ (ก)และข้อ(ข)ต่างหากจากกันอย่างไร เช่น มีการขาย เสนอขายแก่ผู้ซื้อต่างคราวกันหรือต่างรายกันอย่างใดหรือไม่หรือโจทก์เห็นว่าการกระทำตามฟ้องเป็นความผิดต่างกรรมกันเพราะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายต่างรายกันเท่านั้นลำพังการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายต่างรายกันไม่แน่ว่าจะต้องเป็นการกระทำผิดต่างกรรมกันเสมอไปหากแต่ต้องพิจารณาเจตนาในการกระทำผิดว่าต่างกันหรือไม่เป็นสำคัญ แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพตามฟ้องแต่เมื่อคำฟ้องไม่ปรากฏชัดเจนว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ข้อ (ก)และข้อ(ข) โดยเจตนาต่างหากจากกันดังกล่าว จึงต้องฟังเป็นคุณแก่จำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องดังกล่าวในลักษณะที่มีเจตนาเดียวกันจึงเป็นความผิดกรรมเดียวกัน