ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านคำวินิจฉัยของผู้ชี้ขาดของสถาบันอนุญาโตตุลาการสำนักงานศาลยุติธรรม ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 20 วรรคสอง ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนศาสตราจารย์ ดร.ศักดา จากการทำหน้าที่อนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 73/2564
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้องคัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องคัดค้านของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องพิจารณาตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องคัดค้านของผู้ร้องฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือไม่ เห็นว่า แม้ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่คู่พิพาทมิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น คู่พิพาทฝ่ายที่ประสงค์จะคัดค้านอนุญาโตตุลาการจะต้องยื่นหนังสือแสดงเหตุแห่งการคัดค้านต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ... และหากอนุญาโตตุลาการซึ่งถูกคัดค้านไม่ถอนตัวจากการเป็นอนุญาโตตุลาการหรือคู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วยกับข้อคัดค้านนั้น ให้คณะอนุญาโตตุลาการเป็นผู้วินิจฉัยคำคัดค้านนั้น" และผู้ร้องกับผู้คัดค้านตกลงร่วมกันให้ใช้ข้อบังคับสำนักงานศาลยุติธรรมว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการสำหรับการดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการ ซึ่งตามข้อบังคับดังกล่าวข้อ 23 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า "ถ้าคู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการคัดค้านหรือหากอนุญาโตตุลาการซึ่งถูกคัดค้านมิได้ถอนตัวจากการเป็นอนุญาโตตุลาการ ให้คณะอนุญาโตตุลาการเป็นผู้วินิจฉัยคำคัดค้านนั้น เว้นแต่สถาบันเห็นสมควรแต่งตั้งผู้ชี้ขาดหรือคณะผู้ชี้ขาดจำนวนไม่เกิน 3 คน ให้ทำหน้าที่พิจารณาและวินิจฉัยการคัดค้านและให้ผู้ชี้ขาดหรือคณะผู้ชี้ขาดวินิจฉัยคำคัดค้านให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วัน คำวินิจฉัยของผู้ชี้ขาดหรือคณะผู้ชี้ขาดให้เป็นที่สุด" อันถือเป็นกรณีที่คู่พิพาทได้ตกลงกันไว้ โดยผู้ร้องและผู้คัดค้านต้องผูกพันกระบวนการคัดค้านอนุญาโตตุลาการตามข้อบังคับดังกล่าวก็ตาม แต่ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 20 วรรคสอง ตอนต้น ก็บัญญัติต่อไปว่า "ถ้าการคัดค้านโดยวิธีตามที่คู่พิพาทตกลงกันหรือตามวิธีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่งไม่บรรลุผล หรือในกรณีมีอนุญาโตตุลาการเพียงคนเดียว คู่พิพาทฝ่ายที่คัดค้านอาจยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลที่มีเขตอำนาจ ..." จากบทบัญญัติดังกล่าวย่อมหมายความว่า ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่มีการวินิจฉัยคำคัดค้านอนุญาโตตุลาการโดยวิธีการตามข้อบังคับของสถาบันอนุญาโตตุลาการข้างต้น หรือกรณีที่คู่พิพาทมิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นซึ่งต้องดำเนินการโดยวิธีการตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง ก็ตาม หากการคัดค้านดังกล่าวไม่บรรลุผลแล้วคู่พิพาทฝ่ายที่คัดค้านย่อมสามารถยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลได้ แม้ตามข้อบังคับของสถาบันอนุญาโตตุลาการข้อ 23 จะกำหนดให้คำวินิจฉัยของผู้ชี้ขาดหรือคณะผู้ชี้ขาดให้เป็นที่สุดก็ตาม ก็หมายความเพียงเป็นที่สุดสำหรับกระบวนพิจารณาในชั้นอนุญาโตตุลาการเท่านั้น หาใช่เป็นการตัดสิทธิคู่พิพาทฝ่ายที่คัดค้านมิให้ใช้สิทธิทางศาลตามที่ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 20 วรรคสอง บัญญัติไว้แต่อย่างใด เมื่อผู้ชี้ขาดมีคำวินิจฉัยให้ยกคำคัดค้านอนุญาโตตุลาการของผู้ร้องแล้ว ย่อมถือได้ว่าการคัดค้านโดยวิธีตามที่คู่พิพาทตกลงกันไม่บรรลุผล ผู้ร้องจึงสามารถยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลชั้นต้นได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 20 วรรคสองที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องคัดค้านตามบทบัญญัติข้างต้นและมีคำสั่งให้ยกคำร้องคัดค้านของผู้ร้องมานั้น จึงฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องในส่วนนี้ฟังขึ้น
สำหรับปัญหาว่า กรณีสมควรมีคำสั่งยอมรับหรือยกเสียซึ่งคำคัดค้านของผู้ร้องหรือไม่นั้น แม้ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยในปัญหานี้ แต่เมื่อศาลชั้นต้นไต่สวนคำคัดค้านของผู้ร้องจนเสร็จการพิจารณาและสำนวนขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้ว เพื่อมิให้คดีต้องล่าช้าและเพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ที่มีวัตถุประสงค์ให้การระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยคำร้องคัดค้านของผู้ร้องไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาอีก เห็นว่า ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง อนุญาโตตุลาการต้องมีความเป็นกลางและเป็นอิสระ โดยบุคคลซึ่งจะถูกตั้งเป็นอนุญาโตตุลาการจะต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงซึ่งอาจเป็นเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางหรือเป็นอิสระของตน คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านอ้างทำนองว่า ศาสตราจารย์ ดร.ศักดา มิได้เปิดเผยข้อเท็จจริงซึ่งอาจเป็นเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางหรือเป็นอิสระอันเป็นเหตุให้สามารถคัดค้านอนุญาโตตุลาการได้ให้คู่พิพาททราบ โดยไม่เปิดเผยข้อเท็จจริงว่าตนเคยเป็นกรรมการอิสระที่มิใช่ผู้บริหารในบริษัท ซ. ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินกิจการร่วมค้าร่วมกับบริษัทในเครือของผู้คัดค้านนั้น กรณีจึงต้องพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างบริษัท ซ. กับผู้คัดค้านก่อน ซึ่งเมื่อพิจารณาข้ออ้างตามคำร้องคัดค้านที่ผู้ร้องยื่นต่อศาลชั้นต้น ประกอบหนังสือคัดค้านอนุญาโตตุลาการที่ผู้ร้องยื่นต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ และบันทึกถ้อยคำอธิบายความเป็นกลางและเป็นอิสระที่ศาสตราจารย์ ดร.ศักดา ยื่นต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ ซึ่งผู้ร้องมิได้โต้แย้งความถูกต้องในบันทึกดังกล่าวแล้ว ได้ความว่า บริษัท ซ. เป็นบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายดินแดนเบอร์มิวดาและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ทำธุรกิจในด้านอาหารและการเกษตร โดยดำเนินงานในสาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ส่วนผู้คัดค้านเป็นนิติบุคคลจัดตั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยผู้ร้องอ้างในคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องจักร ยี่ห้อ ค. อย่างเป็นทางการรายเดียวในประเทศไทย จากข้อมูลดังกล่าวเห็นได้ว่า บริษัท ซ. และผู้คัดค้านต่างเป็นนิติบุคคลแยกจากกัน จดทะเบียนในคนละประเทศ ประกอบธุรกิจคนละประเภท และดำเนินการในต่างภูมิภาคกัน ส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่า ศาสตราจารย์ ดร.ศักดา เคยได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการในบริษัท ซ. พร้อมกับนายชัชวาล ในปี 2551 ซึ่งในขณะนั้นนายชัชวาลยังเป็นกรรมการของผู้คัดค้านอยู่ด้วย ในข้อนี้ได้ความข้างต้นสอดคล้องต้องกันว่า ทั้งนายชัชวาลและศาสตราจารย์ ดร.ศักดา ต่างลาออกจากบริษัท ซ. ไปตั้งแต่ปี 2553 และปี 2563 แล้วตามลำดับ ทั้งตามสำเนาหนังสือรับรองบริษัทผู้คัดค้านที่ออก ณ วันที่ 21 ธันวาคม 2565 ท้ายคำแถลงของผู้ร้องที่ขอให้ปิดหมายและส่งหมายข้ามเขตแก่ผู้คัดค้าน ก็ไม่ปรากฏชื่อนายชัชวาลเป็นกรรมการหรือสามารถลงลายมือชื่อผูกพันผู้คัดค้านได้ ดังนี้ แม้ศาสตราจารย์ ดร.ศักดาและนายชัชวาลจะเคยเป็นกรรมการในบริษัท ซ. ด้วยกันในช่วงปี 2551 ถึง 2553 ก็ไม่ใช่ข้อเท็จจริงอันอาจเป็นเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางหรือเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่อนุญาโตตุลาการของศาสตราจารย์ ดร.ศักดา สำหรับข้อพิพาทในคดีนี้ได้ ที่ผู้ร้องอ้างต่อไปทำนองว่า นายชัชวาลมีความสัมพันธ์ทางครอบครัวเกี่ยวข้องกับนายทองไทร หรือตระกูลบูรพชัยศรี ซึ่งเป็นผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ของผู้คัดค้าน โดยนายชัชวาลเป็นสามีของนางขวัญใจซึ่งเป็นบุตรสาวของนายทองไทรและนายวีระ บุตรอีกคนของนายทองไทรยังเป็นรองประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการของ ผู้คัดค้านด้วยนั้น แม้จะได้ความตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างมาก็ไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่เกี่ยวโยงไปถึงศาสตราจารย์ดร.ศักดา สำหรับกิจการร่วมค้าบริษัท อ. ที่ผู้ร้องอ้างว่าเป็นการร่วมลงทุนกันระหว่างบริษัท ซ. กับบริษัทในเครือของผู้คัดค้าน โดยบริษัท ซ. ร่วมลงทุนในกิจการร่วมค้าดังกล่าวผ่านบริษัท ก. ซึ่งเป็นบริษัทลูก กับบริษัท ม. ซึ่งมีนายทองไทรถือหุ้นอยู่ร้อยละ 92.4 นั้น เมื่อข้อเท็จจริงตามสำนวนไม่ปรากฏว่าศาสตราจารย์ ดร.ศักดา เคยเป็นกรรมการหรือมีอำนาจบริหารจัดการทั้งในกิจการร่วมค้าบริษัท ช. บริษัท ม. และผู้คัดค้าน แม้จะได้ความตามที่ผู้ร้องอ้างว่ามีการร่วมลงทุนในกิจการร่วมค้าดังกล่าว ก็ยังไม่ใช่ข้อบ่งชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างศาสตราจารย์ ดร.ศักดา กับผู้คัดค้านจนถึงขนาดให้ควรสงสัยถึงความเป็นกลางหรือเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่อนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทตามคำร้องคัดค้านได้ ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่ว่า ศาสตราจารย์ ดร.ศักดา เคยเป็นกรรมการอิสระที่มิใช่ผู้บริหารในบริษัท ซ. ปี 2551 ถึงปี 2554 จึงไม่ใช่ข้อเท็จจริงซึ่งอาจเป็นเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางหรือเป็นอิสระ กรณียังรับฟังไม่ได้ว่า ศาสตราจารย์ ดร.ศักดา ขาดความเป็นกลางและเป็นอิสระ หรือมิได้เปิดเผยข้อเท็จจริงซึ่งอาจเป็นเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางหรือเป็นอิสระของตน จึงสมควรมีคำสั่งยกเสียซึ่งคำคัดค้านอนุญาโตตุลาการของผู้ร้อง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องคัดค้านของผู้ร้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ