โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 7 กระทง กระทงที่ 3 ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 30,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน กระทงที่ 4 ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 50,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 10 เดือน ส่วนที่เหลืออีก 5 กระทง ปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 25,000 บาท รวมเป็นเงิน 125,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 5 เดือน รวม 25 เดือน รวมปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 205,000 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 41 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 102,500 บาท คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 20 เดือน 15 วัน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามฎีกาของจำเลยทั้งสองโดยโจทก์ไม่คัดค้านในคำแก้ฎีกาว่า หลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้ว โจทก์ได้นำเช็คพิพาทคดีนี้ทั้ง 7 ฉบับ ไปยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีแพ่งเพื่อเรียกเงินตามสัญญากู้ยืมที่มีมูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้ง 7 ฉบับ และเรียกเงินตามเช็คพิพาททั้ง 7 ฉบับ และในที่สุดศาลได้พิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองไม่มีเจตนาผูกพันตามสัญญากู้ยืมและไม่ได้รับเงินตามสัญญา สัญญากู้ยืมจึงไม่สมบูรณ์ไม่มีผลผูกพันและใช้บังคับแก่จำเลยทั้งสองไม่ได้ ประเด็นอื่นไม่จำต้องวินิจฉัยตามสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีหมายเลขดำที่ มย 48/2562 คดีหมายเลขแดงที่ มย 124/2562 และระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยทั้งสองได้ยื่นคำแถลงขอระบุพยานเพิ่มเติม โดยขอยื่นสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 คดีหมายเลขดำที่ พ 467/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 2615/2563 ซึ่งพิพากษายืนตามคำพิพากษาคดีแพ่งดังกล่าว คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยก่อนว่า โจทก์ต้องผูกพันตามคำพิพากษาในคดีแพ่งและส่งผลให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลล่างทั้งสอง แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัย ซึ่งหากได้ความว่าคดีแพ่งดังกล่าว ถึงที่สุดโดยศาลพิพากษายกฟ้อง ย่อมถือว่าเช็คพิพาททั้ง 7 ฉบับ เป็นเช็คที่ไม่มีมูลหนี้อยู่จริงและไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย ส่งผลให้การกระทำของจำเลยทั้งสองในคดีนี้ไม่เป็นความผิดตามฟ้อง แต่เนื่องจากไม่ปรากฏว่าคดีถึงที่สุดโดยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ดังกล่าวหรือไม่ ศาลฎีกาจึงเรียกสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ มย 48/2562 คดีหมายเลขแดงที่ มย 124/2562 ของศาลชั้นต้น มาประกอบการวินิจฉัย และข้อเท็จจริงได้ความว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและเมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นฎีกาแล้ว ไม่ปรากฏว่าโจทก์ยื่นฎีกาแต่อย่างใด คดีดังกล่าวจึงถึงที่สุดโดยคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ พ 467/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 2615/2563 ของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยทั้งสองระบุพยานเพิ่มเติมในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา และย่อมฟังได้ว่าหนี้ตามเช็คพิพาททั้ง 7 ฉบับ ไม่ใช่หนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย จึงไม่อาจมีการกระทำความผิดตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ตามคำฟ้องของโจทก์ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง