โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 10,325,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์เป็นรายเดือน เดือนละ 100,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยจะหยุดการทำละเมิดต่อโจทก์หรือจนกว่าจะติดตั้งเครื่องปรับอากาศให้แก่โจทก์ ให้จำเลยรื้อถอนอาคารคอนโดมิเนียม หากไม่ดำเนินการ ให้โจทก์ดำเนินการแทนโดยค่าใช้จ่ายของจำเลย และให้จำเลยชำระเงิน 71,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัท อ. บริษัท ป. และบริษัท ต. เข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต โดยให้เรียกบริษัท อ. ว่า จำเลยร่วมที่ 1 บริษัท ป. ว่า จำเลยร่วมที่ 2 และบริษัท ต. ว่า จำเลยร่วมที่ 3
จำเลยร่วมที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยร่วมที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยร่วมที่ 3 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 2 เมษายน 2558) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ สำหรับค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 320,000 บาท
จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 28146 จังหวัดขอนแก่น เนื้อที่ 8 ไร่ 55.7 ตารางวา และเป็นเจ้าของโดยประกอบกิจการโรงเรียนชื่อโรงเรียน ฮ. มีอาคารคอนกรีต 5 ชั้น ชื่ออาคาร ค.ซึ่งเป็นอาคารเรียน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 จำเลยดำเนินการก่อสร้างโครงการ ด. เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง 37 ชั้น มีชั้นใต้ดิน 1 ชั้น มีห้องชุดพักอาศัย 414 ห้อง และที่จอดรถยนต์ 171 คัน โดยสร้างลงบนที่ดินที่อยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันตกหลังอาคาร ค.ห่างจากแนวเขตที่ดินประมาณ 6 เมตร และห่างจากอาคาร ค.ประมาณ 9 เมตร โดยว่าจ้างจำเลยร่วมที่ 3 ทำงานเสาเข็มทั้งหมด และว่าจ้างจำเลยร่วมที่ 1 ทำการก่อสร้างอาคาร ด. มีจำเลยร่วมที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยในการก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียมของจำเลยโดยคุ้มครองทรัพย์สินบุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหายจากการสั่นสะเทือน การเคลื่อนตัวของดิน การอ่อนแรงของสิ่งค้ำจุนเป็นผลทำให้โครงสร้างหลักได้รับความเสียหายวิบัติและเป็นอันตรายต่อผู้ใช้อาคารภายในวงเงินไม่เกิน 20,000,000 บาท ต่อครั้ง ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายในทางทรัพย์สินเป็นเงิน 3,000,000 บาท กับใช้ค่าเสียหายในทางเดือดร้อนรำคาญตลอดระยะเวลาที่ทำการก่อสร้างคอนโดมิเนียมจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 10 เดือน เป็นเงิน 1,000,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหาย 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง แต่สำหรับค่าติดตั้งเครื่องปรับอากาศพร้อมอุปกรณ์ที่โจทก์เรียกร้องเป็นเงิน 7,200,000 บาท และค่าสินไหมทดแทนรายเดือน เดือนละ 100,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่กำหนดให้ โจทก์ไม่ฎีกา ค่าเสียหายดังกล่าวจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามข้อแรกมีว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามอ้างว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยว่าจ้างจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 3 เป็นผู้ทำการก่อสร้างอาคารคอนโดมิเนียมพิพาท การที่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้จำเลยรับผิดตามมาตรา 428 คำฟ้องโจทก์จึงไม่ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า แม้ปัญหานี้จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามจะมิได้ยกขึ้นอ้างในคำให้การแต่กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามจึงยกขึ้นฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบมาตรา 252 คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยเป็นเจ้าของโครงการอาคารคอนโดมิเนียมพิพาทและผู้ดำเนินการก่อสร้างโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเดิมเพื่อก่อสร้างเสาเข็มทำฐานรากอาคารและก่อสร้างอาคารสูง 37 ชั้น ทำให้อาคารเรียนของโจทก์เสียหายและสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ครู นักเรียน และบุคลากรของโจทก์ ขอให้ชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย จึงเป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้วว่าประสงค์ให้จำเลยรับผิดในมูลละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 มิใช่ให้จำเลยรับผิดตามมาตรา 428 ซึ่งเป็นเรื่องผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง เพราะตามคำฟ้องไม่ได้บรรยายว่าจำเลยว่าจ้างใครและมีส่วนผิดในการงานที่สั่งให้ทำอย่างไร แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าจำเลยได้ว่าจ้างบุคคลภายนอกรวมทั้งจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 3 เป็นผู้ทำการก่อสร้างอาคารคอนโดมิเนียมพิพาทก็ตาม ก็ไม่มีปัญหาให้ต้องวินิจฉัยความรับผิดของจำเลยตามมาตรา 428 ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาของจำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยร่วมที่ 2 ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องว่า อาคารโจทก์มีความเสียหายเพิ่มเติมเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพแห่งข้อหาและเพิ่มทุนทรัพย์ ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องภายหลังจากวันชี้สองสถาน แต่ก็ปรากฏว่ามีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้น โดยโจทก์อ้างว่า ก่อนถึงวันนัดสืบพยาน โจทก์มอบหมายให้วิศวกรทำการตรวจสอบความเสียหายของอาคารเรียนของโจทก์พบว่ามีความเสียหายเพิ่มมากขึ้น เช่นนี้ กรณีมีเหตุที่โจทก์จะขอเพิ่มเติมคำฟ้องเดิมโดยเพิ่มทุนทรัพย์ที่พิพาทในฟ้องเดิม ทั้งคำฟ้องเดิมและคำฟ้องภายหลังนี้ก็เกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179 (1) (2) และวรรคท้าย การยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179 และ 180 แล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามข้อต่อมาว่า จำเลย จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 3 ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามฎีกาว่า จำเลยร่วมที่ 1 รับผิดชอบงานจัดเตรียมพื้นที่ก่อสร้าง และทำแนวกั้นพื้นที่ก่อสร้างส่วนที่ติดกับอาคารเรียนของโจทก์ จำเลยร่วมที่ 1 ได้ติดตั้งแผ่นเมทัลชีทและผ้าใบสีฟ้ายาวตลอดแนวก่อสร้างป้องกันฝุ่นละอองและของตกหล่นขณะก่อสร้างตามข้อกำหนดมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมครบถ้วน ส่วนการป้องกันดินพังทลาย จำเลยร่วมที่ 1 ปรับความลาดชันจากแนวกำแพงดินเดิมและทำดาดคอนกรีตควบคู่กันซึ่งเป็นวิธีการที่เหมาะสมที่สุดกับสภาพพื้นที่ หลักฐานความเสียหายของโจทก์ไม่มีการสำรวจข้อมูลที่แท้จริงไม่ได้มาตรฐานทางวิศวกรรม การทรุดตัวอาคารเรียนของโจทก์เกิดจากไม่มีเสาเข็มรองรับประกอบกับพื้นปูนรอบอาคารต้องแบกรับน้ำหนักถังน้ำขนาดใหญ่ จำเลยร่วมที่ 3 รับผิดชอบงานขุดเจาะเสาเข็มไม่รวมงานเปิดหน้าดิน ขุดเจาะดินและทำฐานรากหลังงานทำเข็มเจาะแล้วเสร็จ จำเลยร่วมที่ 3 ใช้เสาเข็มชนิดเจาะซึ่งไม่เกิดแรงสั่นสะเทือน ไม่เกิดแรงกระจายหรือการเคลื่อนตัวของดินและไม่เกิดฝุ่นละออง จึงไม่จำเป็นต้องอาศัยชีทไพล์หรือเสาเข็มพืดสำหรับป้องกันดินในช่วงที่มีการทำเสาเข็มเจาะของจำเลยร่วมที่ 3 ส่วนจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินและอาคารคอนโดมิเนียมว่าจ้างบุคคลอื่นเป็นผู้ทำการก่อสร้างมิได้เป็นผู้กระทำละเมิด และโจทก์มิได้ฟ้องเรียกให้จำเลยรับผิดในฐานะผู้ว่าจ้างทำของ จำเลย จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า โจทก์มีนายสหชัย วิศวกรผู้ทำการตรวจสอบสภาพความเสียหายของอาคารโรงเรียนโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อประมาณกลางปี 2557 พยานได้รับการติดต่อจากผู้จัดการโรงเรียนโจทก์ให้ไปสำรวจความเสียหายของอาคารเรียน จากการสำรวจครั้งแรกซึ่งทำรายงานการตรวจสอบความเสียหายเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2557 พยานพบว่า ในชั้นดินแข็งแรกเป็นระดับที่อาคารส่วนใหญ่ในเมืองขอนแก่นตั้งอยู่ โดยอาคารในเมืองขอนแก่นหลายแห่งใช้เสาเข็มความลึกประมาณ 6 ถึง 10 เมตร แต่อาคารโครงการคอนโดมิเนียมของจำเลยใช้เสาเข็มไปในชั้นที่ลึกกว่ามาก ลักษณะการกระจายของแรงที่กระทำต่อดินบริเวณรอบด้านซึ่งจะมีแรงกระจายไปมีผลกระทบต่อดินใต้ฐานรากอาคารข้างเคียงที่วางฐานรากอยู่บนชั้นที่สูงกว่าโครงการจำเลยคืออาคารเรียนของโจทก์ ซึ่งอยู่บนโครงสร้างแบบฐานแผ่ อาคารเรียนของโจทก์เกิดความเสียหายผนังอาคารแตกร้าว พื้นด้านหลังอาคารทรุดแตกร้าว กำแพงแตกร้าว ต่อมาประมาณเดือนพฤศจิกายน 2558 พยานทำการสำรวจครั้งที่ 2 และทำรายงานการตรวจสอบความเสียหาย ลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2558 พบว่าอาคารเรียนมีแนวล้มไปทางทิศของอาคารที่จำเลยก่อสร้าง และมีการทรุดตัวของพื้นลานจอดรถใต้อาคารรวมถึงพื้นรอบอาคารด้านโครงการจำเลย รอยร้าวนอกอาคารมีการขยายมากขึ้น จากนั้นวันที่ 16 กรกฎาคม 2559 พยานได้รับมอบหมายให้ทำการสำรวจครั้งที่ 3 และทำรายงานการตรวจสอบความเสียหายไว้ พบว่าอาคารเรียนทรุดตัวเพิ่มขึ้นและมีรอยร้าวขยายมากขึ้น และเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2559 พยานได้รับมอบหมายให้เข้าทำการสำรวจครั้งที่ 4 พบว่า แม้อาคารเรียนปรากฏการทรุดเอียงดีดกลับมาแต่ยังมีความทรุดเอียงอยู่ และพื้นรอบอาคารมีการทรุดตัวแยกเพิ่มขึ้น รอยแตกร้าวของรั้วมีเท่าเดิม เหตุที่เกิดการทรุดเอียงดีดกลับซึ่งเกิดจากการเคลื่อนตัวของชั้นดินใต้อาคารเพราะในปี 2559 การก่อสร้างอาคารคอนโดมิเนียมของจำเลยเสร็จสิ้นแล้วคาดว่าแรงกดของความลึกของฐานรากใต้อาคารจำเลยส่งแรงกระทบมายังอาคารเรียนของโจทก์จึงส่งผลต่อความเอียงของอาคารจากแรงที่มากระทบ ส่วนจำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามมีนายเจนวุฒิ พนักงานจำเลยซึ่งเป็นวิศวกรควบคุมการก่อสร้างเป็นพยานเบิกความว่า อาคารคอนโดมิเนียมของจำเลยอยู่บนชั้นหินในระดับความลึก 20 เมตร การถ่ายเทน้ำหนักจากอาคารทั้งหมดจะลงในแนวดิ่งไปกดอยู่ที่ปลายเสาเข็มแต่ละต้น การแบกรับน้ำหนักของอาคารจะไม่เกิดการกระจายแรงในลักษณะรูปกรวย น้ำหนักของเสาเข็มที่ออกแบบรับน้ำหนักของอาคารได้ประมาณ 2.5 ถึง 3 เท่าของน้ำหนักอาคารจริง ไม่ส่งผลกระทบต่ออาคารเรียนของโจทก์ และคอนโดมิเนียมของจำเลยสร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 คำเบิกความนายเจนวุฒิเจือสมกับทางนำสืบโจทก์ว่า อาคารคอนโดมิเนียมของจำเลยใช้เสาเข็มไปในชั้นที่ลึกกว่าอาคารโดยทั่วไปในเมืองขอนแก่นซึ่งรวมถึงอาคารเรียนของโจทก์ และการทรุดเอียงของอาคารเรียนของโจทก์ที่เกิดการดีดกลับซึ่งนายสหชัยพยานโจทก์พบจากการสำรวจครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2559 เกิดขึ้นภายหลังจากคอนโดมิเนียมของจำเลยสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว ทำให้ความเห็นของนายสหชัยที่ว่า โครงการคอนโดมิเนียมของจำเลยมีการกระจายของแรงที่กระทำต่อดินบริเวณรอบด้านซึ่งจะมีแรงกระจายไปมีผลกระทบต่อดินใต้ฐานรากอาคารข้างเคียงที่วางฐานรากอยู่บนชั้นที่สูงกว่าโครงการจำเลยคืออาคารเรียนของโจทก์ ซึ่งอยู่บนโครงสร้างแบบฐานแผ่นั้น มีน้ำหนักให้รับฟังยิ่งขึ้น แม้จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามอ้างว่า การทรุดเอียงแตกร้าวของอาคาร พื้นรอบอาคารและรั้วกำแพงคอนกรีตเกิดจากการปัญหาการก่อสร้างอาคารเรียนของโจทก์เอง พื้นปูนรอบอาคารต้องแบกรับน้ำหนักถังน้ำขนาดใหญ่ และเป็นการทรุดตัวตามธรรมชาติก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าการทรุดเอียงแตกร้าวเกิดขึ้นทางทิศเดียวกันกับที่ก่อสร้างคอนโดมิเนียมของจำเลย และการทรุดของอาคารยังเกิดการดีดกลับในช่วงเวลาภายหลังจากคอนโดมิเนียมของจำเลยสร้างเสร็จแล้ว ซึ่งจำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามมิได้นำสืบหักล้างว่าการดีดกลับของอาคารจะเกิดขึ้นในกรณีการทรุดตัวตามธรรมชาติ น่าเชื่อว่าการทรุดเอียงแตกร้าวของอาคารเรียน พื้นรอบอาคารและรั้วกำแพงคอนกรีตเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างคอนโดมิเนียมของจำเลย ส่วนที่จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามโต้แย้งว่า การตรวจสอบความเสียหายของโจทก์เป็นการตรวจสอบที่ไม่ได้มาตรฐานทางวิศวกรรมนั้น ได้ความว่านายสหชัยผู้ทำการตรวจสอบจบการศึกษาปริญญาโทด้านวิศวกรรมศาสตร์ ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธา ระดับสามัญวิศวกร มีประสบการณ์ทำงานรับราชการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และประกอบกิจการบริษัทเค อี ดี จำกัด รับออกแบบและเป็นที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างอาคารรวมถึงอาคารคอนโดมิเนียมขนาด 30 ชั้น มากกว่า 21 ปี จึงนับเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีประสบการณ์ทางวิชาชีพเฉพาะทั้งเบิกความไปตามความเห็นทางวิชาการ รายงานการตรวจสอบความเสียหายที่นายสหชัยจัดทำขึ้นตามความรู้และประสบการณ์ทางวิชาชีพเป็นการตรวจสอบไปตามมาตรฐานทางวิศวกรรมย่อมมีน้ำหนักให้รับฟัง นอกจากนี้ จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามนำสืบรับว่า การก่อสร้างคอนโดมิเนียมของจำเลยมิได้ติดตั้งผนังกันดิน (Sheet Pile) ล้อมรอบพื้นที่ในส่วนที่ต้องขุดดินลึกเพื่อป้องกันการพังทลายของดินจากที่ดินข้างเคียงตามที่กำหนดไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม แม้นายวิบูลย์ ผู้อำนวยการโครงการซึ่งเป็นพนักงานจำเลยร่วมที่ 1 เบิกความว่า เหตุที่มิได้ติดตั้งผนังกันดินเพราะสภาพพื้นที่ก่อสร้างส่วนที่ติดกับอาคารเรียนของโจทก์สภาพชั้นดินมีความหนาแน่นสูงมาก ทีมวิศวกรปรึกษาร่วมกันแล้วจึงได้ข้อสรุปให้ปรับความลาดชันจากแนวกำแพงดินเดิมและทำดาดคอนกรีตเพื่อปิดหน้าดินไม่ให้เศษดินร่วงลงมาก็ตาม แต่การปรับเปลี่ยนดังกล่าวขัดแย้งกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งหน่วยงานของรัฐได้ตรวจสอบและรับรองแล้ว แสดงว่าการทำดาดคอนกรีตแทนผนังกันดินตามที่ระบุไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นการตัดสินใจของจำเลย จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 3 โดยไม่ปรากฏว่าได้มีการแจ้งเปลี่ยนแปลงแก้ไขการดำเนินการดังกล่าวไปยังหน่วยงานของรัฐแต่อย่างใด การปรับเปลี่ยนรูปแบบการป้องกันความเสียหายจากการก่อสร้างคอนโดมิเนียมจำเลยดังกล่าวจึงปราศจากการตรวจสอบควบคุมดูแลและรับรองจากหน่วยงานของรัฐตามกฎหมาย ข้ออ้างของจำเลย จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 3 ที่ว่า วิธีดำเนินการก่อสร้างซึ่งจำเลยร่วมที่ 1 ปรับความลาดชันจากแนวกำแพงดินเดิมและทำดาดคอนกรีตควบคู่กันเป็นวิธีการที่เหมาะสมที่สุดกับสภาพพื้นที่ ส่วนจำเลยร่วมที่ 3 ใช้เสาเข็มชนิดเจาะซึ่งไม่เกิดแรงสั่นสะเทือน ไม่เกิดแรงกระจายหรือการเคลื่อนตัวของดิน ไม่จำเป็นต้องอาศัยชีทไพล์หรือเสาเข็มพืดสำหรับป้องกันดินนั้นเป็นความเห็นของจำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 3 เพียงลำพัง ทั้งยังฝ่าฝืนวิธีดำเนินการก่อสร้างที่หน่วยงานของรัฐได้เคยรับรองแล้วว่าเป็นไปตามมาตรฐานการก่อสร้างตามรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง และเมื่อพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในเรื่องความสั่นสะเทือน ยังระบุมาตรการป้องกันไว้ในข้อ 9 ด้วยการกำหนดให้จำเลยจัดให้มีการตรวจสอบและถ่ายภาพอาคารที่อยู่ใกล้เคียงก่อนการก่อสร้างโครงการเพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากความสั่นสะเทือนต่อสิ่งปลูกสร้างโดยรอบด้วย แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลย จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 3 ได้ดำเนินการตามมาตรฐานดังกล่าว เมื่อกระบวนการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการปฏิบัติตามขั้นตอนดำเนินการก่อสร้างตามที่ระบุไว้ในรายงานต้องดำเนินการภายใต้การตรวจสอบควบคุมจากเจ้าหน้าที่ของรัฐภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 อันเป็นกฎหมายซึ่งมีที่ประสงค์เพื่อจะปกป้องชุมชนหรือบุคคลอื่น ๆ การที่จำเลย จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 3 ฝ่าฝืนไม่กระทำการตามที่ระบุไว้ในรายงานดังกล่าว และเกิดความเสียหายขึ้นแก่อาคารเรียนของโจทก์ พื้นรอบอาคารรวมถึงรั้วกำแพงคอนกรีต โจทก์จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 422 ว่า ถ้าความเสียหายเกิดแต่การฝ่าฝืนบทบังคับแห่งกฎหมายใดอันมีที่ประสงค์เพื่อจะปกป้องบุคคลอื่น ๆ ผู้ใดทำการฝ่าฝืนเช่นนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นเป็นผู้ผิด พยานโจทก์ที่นำสืบมาประกอบด้วยความเห็นพยานผู้เชี่ยวชาญ รายงานการตรวจสอบความเสียหายและภาพถ่ายแสดงความเสียหายที่มีการตรวจสอบต่อเนื่องกันตั้งแต่คอนโดมิเนียมของจำเลยเริ่มทำการก่อสร้างจนการก่อสร้างแล้วเสร็จเชื่อมโยงกับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่อาคารเรียน พื้นรอบอาคารและรั้วกำแพงคอนกรีตของโจทก์ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างและภายหลังการก่อสร้างคอนโดมิเนียมของจำเลยมีน้ำหนักมากกว่าพยานจำเลยและจำเลยร่วมทั้งสาม ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ความเสียหายที่เกิดแก่อาคารเรียน พื้นรอบอาคารและรั้วกำแพงคอนกรีตของโจทก์ ซึ่งรวมถึงการทรุดเอียงของอาคาร เกิดจากการก่อสร้างคอนโดมิเนียมของจำเลย ส่วนความเสียหายต่อกิจการโรงเรียนของโจทก์ที่เกิดแรงสั่นสะเทือน ฝุ่นละออง ควันและกลิ่นเหม็นจากการก่อสร้างอันส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนของโรงเรียนโจทก์หรือความเสียหายในทางเดือดร้อนรำคาญตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 นั้น โจทก์มีนายณภ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งจำเลยเริ่มดำเนินโครงการก่อสร้างเกิดเสียงดัง แรงสั่นสะเทือน และฝุ่นละอองปลิวเข้ามาในห้องเรียน ประมาณเดือนมิถุนายน 2557 ตัวแทนนักเรียนของโจทก์เขียนบันทึกความคิดเห็นต่อการก่อสร้าง จากนั้นวันที่ 21 สิงหาคม 2557 พยานยื่นคำร้องต่อสำนักการช่าง เทศบาลนครขอนแก่น ร้องเรียนการก่อสร้างของจำเลย ในวันเดียวกัน พยานยังนำเรื่องดังกล่าวไปลงรายงานประจำวันเป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น และตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า ภายหลังการร้องเรียน เทศบาลนครขอนแก่นจัดให้มีการประชุม 3 ฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหา จากนั้นจำเลยได้ปรับเปลี่ยนเวลาการทำงานขุดเจาะเสาเข็มเป็นช่วงเวลา 16 นาฬิกา ซึ่งจำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามมิได้นำสืบหักล้างในข้อนี้ เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์ที่ตัวแทนโจทก์ตลอดจนตัวแทนนักเรียนร้องเรียนปัญหาความเดือดร้อนรำคาญจนนำไปสู่การประชุมพูดคุยระหว่างโจทก์ จำเลยกับหน่วยงานของรัฐรวมถึงการแก้ไขปัญหาของจำเลยแล้ว น่าเชื่อว่า การก่อสร้างคอนโดมิเนียมของจำเลยก่อให้เกิดเสียงดัง แรงสั่นสะเทือน และฝุ่นละอองปลิวเข้ามาในห้องเรียนตามฟ้อง โจทก์ผู้เป็นเจ้าของกิจการโรงเรียนย่อมได้รับความเสียหายและมีสิทธิฟ้องเรียกให้ฝ่ายจำเลยรับผิดในผลแห่งละเมิดที่เกิดขึ้นได้ ข้อที่จำเลยร่วมที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยร่วมที่ 1 ได้ติดตั้งผ้าใบสีฟ้ายาวตลอดแนวก่อสร้างป้องกันฝุ่นละอองและของตกหล่นขณะก่อสร้างตามข้อกำหนดมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมครบถ้วนแล้วนั้น เมื่อปรากฏว่าการก่อสร้างอาคารคอนโดมิเนียมของจำเลยก่อให้เกิดความเสียหายแก่ครู นักเรียนและกิจการโรงเรียนของโจทก์ การปฏิบัติตามข้อกำหนดมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมแม้ดำเนินการครบถ้วนก็มิใช่เหตุที่จะยกขึ้นปฏิเสธความรับผิดได้ คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลย จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 3 ร่วมรับผิดในความเสียหายอันเกิดจากการขุดเจาะเสาเข็มและการก่อสร้างอาคารคอนโดมิเนียมของจำเลยซึ่งเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างอาคารคอนโดมิเนียมของจำเลยทั้งกระบวนการนับตั้งแต่การเริ่มรื้อถอนอาคารหลังเดิมไปจนก่อสร้างแล้วเสร็จรวมทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากการก่อสร้างดังกล่าว อันเป็นกรณีที่ผู้ดำเนินการก่อสร้างทุกขั้นตอนต่างทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายเดียวกันแก่โจทก์ ไม่อาจแบ่งแยกความเสียหายว่าเกิดจากการกระทำละเมิดในขั้นตอนการก่อสร้างตอนใดตอนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงได้ จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 3 จึงไม่อาจยกเหตุที่ว่า จำเลยร่วมที่ 1 ทำการก่อสร้างเฉพาะงานจัดเตรียมพื้นที่ก่อสร้าง ทำแนวกั้นพื้นที่ก่อสร้างส่วนที่ติดกับอาคารโรงเรียนของโจทก์และกำแพงกั้นดิน ส่วนจำเลยร่วมที่ 3 ทำการก่อสร้างเฉพาะงานขุดเจาะเสาเข็ม ขึ้นต่อสู้เพื่อปฏิเสธความรับผิดได้ จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 3 ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยผู้เป็นเจ้าของโครงการคอนโดมิเนียมที่ก่อสร้าง แม้มิใช่ผู้ทำการก่อสร้าง แต่ในฐานะเจ้าของโครงการย่อมมีหน้าที่รับผิดชอบมิให้การทำงานก่อสร้างก่อความเสียหายแก่บุคคลอื่น แม้จำเลยจะว่าจ้างบุคคลใดทำการก่อสร้าง แต่จำเลยยังต้องควบคุมดูแลบุคคลผู้ทำการก่อสร้างผ่านข้อตกลงในสัญญาระหว่างจำเลยกับผู้ทำการก่อสร้าง ปัญหาระหว่างการก่อสร้างโครงการของจำเลยย่อมถือว่าอยู่ในความรับรู้และรู้เห็นของจำเลยทั้งสิ้น จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องดูแลตรวจสอบควบคุมมิให้การก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียมของจำเลยก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น เมื่อการก่อสร้างคอนโดมิเนียมของจำเลยก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ และพฤติการณ์แห่งคดีนี้ต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามมาตรา 422 จำเลยจึงต้องร่วมกับจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 3 รับผิดต่อโจทก์ตามมาตรา 420 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลย จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 3 เป็นการทำละเมิด จำเลย จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 3 ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยร่วมที่ 2 ข้อต่อมาว่า จำเลยร่วมที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันภัยต้องร่วมรับผิดกับจำเลย จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 3 หรือไม่ โดยจำเลยร่วมที่ 2 ฎีกาว่า การประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอกของจำเลยร่วมที่ 2 คุ้มครองเฉพาะกรณีความเสียหายที่เกิดจากแรงสั่นสะเทือนจนเป็นผลให้อาคารบ้านเรือนของบุคคลภายนอกวิบัติพังทลายลงมาทั้งหมดหรือบางส่วน อาคารเรียนของโจทก์ปรากฏแต่รอยแตกร้าวไม่เข้าเงื่อนไขความคุ้มครอง และกรมธรรม์ประกันภัยของจำเลยร่วมที่ 2 ไม่คุ้มครองความเสียหายที่เกิดแก่กำแพงรั้ว ทางเดิน มลภาวะ ฝุ่นหรือเสียง ตลอดจนความเดือดร้อนรำคาญนั้น เห็นว่า กรมธรรม์ประกันภัยและคำแปล ระบุคุ้มครองความเสียหายที่เกิดแก่บุคคลภายนอกเนื่องจากการสั่นสะเทือน การเคลื่อนตัวของดินและการอ่อนแรงของสิ่งค้ำจุนในข้อ 28 ว่า การประกันภัยนี้ได้ขยายให้ความคุ้มครองเพื่อชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยเพื่อความรับผิดสำหรับความเสียหายต่อทรัพย์สิน (อันนอกเหนือจากอาคารและโครงสร้าง) หรือการพังทลายลงทั้งหมดหรือแต่บางส่วนของอาคารหรือโครงสร้างใด และ/หรือความเสียหายใดที่เป็นผลให้ความมั่นคงแข็งแรงของอาคารหรือโครงสร้างอาคารหรือก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ซึ่งเกิดขึ้นโดยหรือเป็นผลมาจากการสั่นสะเทือนหรือการเคลื่อนตัวของดินหรือการอ่อนแรงของสิ่งค้ำจุน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การก่อสร้างคอนโดมิเนียมของจำเลยเป็นเหตุให้อาคารเรียนของโจทก์เกิดการทรุดเอียง ความเสียหายดังกล่าวจึงเป็นความเสียหายที่เป็นผลให้ความมั่นคงแข็งแรงของอาคารหรือโครงสร้างอาคารซึ่งเกิดขึ้นโดยหรือเป็นผลมาจากแรงสั่นสะเทือนหรือการเคลื่อนตัวของดิน อันเป็นความเสียหายภายใต้ความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัย ส่วนที่จำเลยร่วมที่ 2 โต้แย้งว่า กรมธรรม์ประกันภัยของจำเลยร่วมที่ 2 ไม่คุ้มครองความเสียหายที่เกิดแก่กำแพงรั้วและพื้นทางเดินรอบอาคารที่ได้รับความเสียหายนั้น ทางนำสืบจำเลยร่วมที่ 2 ไม่ปรากฏข้อความตอนใดในกรมธรรม์ประกันภัยที่ระบุยกเว้นความรับผิดในความเสียหายที่เกิดแก่ทรัพย์สินดังกล่าวไว้ เมื่อกำแพงรั้วและพื้นทางเดินรอบอาคารของโจทก์ได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างคอนโดมิเนียมของจำเลยซึ่งเป็นความเสียหายต่อทรัพย์สิน (อันนอกเหนือจากอาคารและโครงสร้าง) ซึ่งเกิดขึ้นโดยหรือเป็นผลมาจากการสั่นสะเทือนหรือการเคลื่อนตัวของดิน อันอยู่ภายใต้ความคุ้มครองตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย เช่นเดียวกัน จำเลยร่วมที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันภัยจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลย จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 3 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่โจทก์สำหรับความเสียหายที่เกิดแก่ทรัพย์สินดังกล่าวภายใต้เงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย คือ ผู้เอาประกันภัยรับผิดชอบความรับผิดส่วนแรก 100,000 บาท หรือร้อยละ 10 ของจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้องแล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่า แต่สำหรับความเสียหายต่อกิจการโรงเรียนของโจทก์ที่เกิดแรงสั่นสะเทือน ฝุ่นละออง ควันและกลิ่นเหม็นจากการก่อสร้างอันส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนของโรงเรียนโจทก์หรือความเสียหายในทางเดือดร้อนรำคาญนั้น ไม่ปรากฏว่ากรมธรรม์ประกันภัยระบุให้ความคุ้มครองความเสียหายดังกล่าวไว้ โจทก์จึงไม่อาจเรียกให้จำเลยร่วมที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายส่วนนี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้จำเลยร่วมที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลย จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 3 สำหรับค่าเสียหายทั้งหมดที่กำหนดให้แก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยร่วมที่ 2 ฟังขึ้นบางส่วน
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามข้อต่อมาว่า จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์เพียงใด จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดค่าเสียหายจากการแตกร้าว ทรุดตัวของอาคาร พื้นรอบอาคารและรั้วกำแพงคอนกรีต 3,000,000 บาท เกินกว่าที่โจทก์ฟ้องและผู้รับมอบอำนาจโจทก์นำสืบมาว่า ค่าเสียหายส่วนนี้มีเพียง 2,000,000 บาท ส่วนความเสียหายในทางเดือดร้อนรำคาญที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดให้สูงเกินส่วนและไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงเพราะโจทก์ยังเปิดการเรียนการสอนได้ตามปกติกับมีช่วงระยะเวลาที่โรงเรียนโจทก์ปิดเทอม นั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดค่าเสียหายในทางทรัพย์สินให้แก่โจทก์ 3,000,000 บาท โดยพิจารณาความเสียหายตามภาพถ่าย รายงานการตรวจสอบความเสียหายและผลกระทบของอาคารเรียน อันเป็นหลักฐานค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมอาคาร พื้นทางเดินรอบอาคารและรั้วกำแพง ค่าสูญเสียโอกาสในการประกอบธุรกิจในระหว่างการซ่อมแซม ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต กับทั้งพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ค่าเสียหายส่วนนี้จึงเป็นค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายทางทรัพย์สินที่โจทก์ฟ้องเรียกมา ทั้งค่าซ่อมแซมอาคาร ค่าเสียหายจากการที่อาคารโจทก์ทรุดเอียงจากการกระจายแรงน้ำหนักของอาคารคอนโดมิเนียมสู่ชั้นดินใต้อาคารโจทก์ และค่าก่อสร้างแนวคอนกรีตกันดินซึ่งรวมกันเป็นเงิน 73,500,000 บาท หาใช่เฉพาะค่าเสียหายจากการแตกร้าว ทรุดตัวของอาคาร พื้นรอบอาคารและรั้วกำแพงคอนกรีตดังที่จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามฎีกาไม่ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์สำหรับความเสียหายทางทรัพย์สินรวมจำนวน 3,000,000 บาท ซึ่งอาจแบ่งเป็นค่าซ่อมแซมอาคาร 2,000,000 บาท และค่าเสียหายจากการที่อาคารเรียนของโจทก์ทรุดเอียงรวมกับค่าก่อสร้างแนวคอนกรีตคันดิน 1,000,000 บาท จึงไม่เป็นการเกินคำขอหรือนอกเหนือจากที่โจทก์นำสืบ แต่ในส่วนค่าซ่อมแซมอาคารเป็นเงิน 2,000,000 บาท นั้น เมื่อพิจารณาจากทางนำสืบของโจทก์แล้ว โจทก์คงอ้างเพียงรายงานการตรวจสอบความเสียหายและผลกระทบของอาคารเรียน ซึ่งประเมินความเสียหายทางอาคาร ได้แก่ พื้นทางเดินอาคารและกำแพงก่ออิฐบล็อก รวมมูลค่าเพียง 447,300 บาท แม้พยานโจทก์ปากนายสหชัยจะเบิกความยืนยันว่า หากทำการซ่อมจริง พื้นและกำแพงของโจทก์ที่แตกร้าวดังกล่าวนั้นจะต้องมีการวางเสาเข็มเพื่อป้องกันไม่ให้อาคารเรียนของโจทก์เสียหายมากขึ้น ดังนั้น การก่อสร้างหรือซ่อมแซมให้มั่นคงโดยมีเสาเข็มดังกล่าวนี้จะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 2,000,000 บาท แต่นายสหชัยคงเบิกความลอย ๆ โดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าโจทก์คิดคำนวณค่าซ่อมแซมอาคารในส่วนนี้อย่างไร ศาลฎีกาเห็นว่าการกำหนดค่าซ่อมแซมอาคารตามที่โจทก์ขอมายังสูงเกินไป สมควรแก้ไขโดยกำหนดค่าซ่อมแซมอาคารเป็นเงิน 1,000,000 บาท เมื่อรวมกับค่าเสียหายที่อาคารทรุดเอียงอีก 1,000,000 บาท แล้ว จำเลย จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 3 ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายทางทรัพย์สินแก่โจทก์เป็นเงิน 2,000,000 บาท ส่วนค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดให้สำหรับความเดือดร้อนรำคาญ 1,000,000 บาท นั้น เมื่อการก่อสร้างคอนโดมิเนียมของจำเลยก่อให้เกิดมลภาวะ ฝุ่นละออง แรงสั่นสะเทือนและกลิ่นเหม็นส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อการประกอบกิจการโรงเรียนอันเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเรื่อยไปในระหว่างการก่อสร้าง จำเลย จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 3 จึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายสำหรับความเดือดร้อนรำคาญให้แก่โจทก์ อย่างไรก็ตาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดค่าเสียหายสำหรับความเดือดร้อนรำคาญให้แก่โจทก์เป็นเวลา 10 เดือน นับแต่เดือนมิถุนายน 2557 ถึงเดือนเมษายน 2558 นั้น แม้ผู้รับมอบอำนาจโจทก์จะเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ในช่วงเดือนมิถุนายนจนถึงวันฟ้อง โจทก์เปิดการเรียนการสอนนักเรียนตามปกติไม่มีการสั่งให้หยุดเรียน แต่โดยปกติโรงเรียนจะมีช่วงระยะเวลาปิดภาคการศึกษาในระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนเมษายนด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดค่าเสียหายสำหรับความเดือดร้อนรำคาญเป็นเงิน 1,000,000 บาท นั้น สูงเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดให้เป็นเงิน 800,000 บาท ฎีกาของจำเลย และจำเลยร่วมทั้งสามข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน จำเลย จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 3 ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย 2,800,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันกระทำละเมิด แต่โจทก์ขอเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จึงกำหนดให้ตามคำขอโจทก์ ส่วนจำเลยร่วมที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลย จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 3 สำหรับความเสียหายในทางทรัพย์สินโดยหักความรับผิดส่วนแรกร้อยละ 10 ของความเสียหายที่กำหนดให้ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย เป็นเงิน 200,000 บาท แล้ว คงเหลือค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยร่วมที่ 2 ต้องร่วมรับผิด 1,800,000 บาท สำหรับความรับผิดในส่วนดอกเบี้ยที่จำเลยร่วมที่ 2 ต้องชำระนั้น เมื่อจำเลยร่วมที่ 2 มิได้เป็นผู้ทำละเมิดหรือต้องร่วมรับผิดกับผู้ทำละเมิด หากแต่เป็นเพียงผู้รับประกันภัยที่ต้องรับผิดในนามของผู้เอาประกันภัยต่อโจทก์ จำเลยร่วมที่ 2 จึงยังมิได้เป็นผู้ผิดนัด แต่เมื่อมีการขอให้หมายเรียกจำเลยร่วมที่ 2 เข้ามาเป็นคู่ความ ย่อมเป็นเหตุให้จำเลยร่วมที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ จึงให้ความรับผิดในส่วนดอกเบี้ยของจำเลยร่วมที่ 2 เริ่มแต่วันที่ 26 มกราคม 2559 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยขอให้หมายเรียกจำเลยร่วมที่ 2 เข้ามาในคดี ซึ่งปัญหาเรื่องการกำหนดความรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกฎหมายเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามข้อสุดท้ายว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดให้จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามใช้ค่าทนายความแทนโจทก์เกินกว่าที่กำหนดไว้ในตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือไม่ เห็นว่า บทบัญญัติตามตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง อัตราค่าทนายความกำหนดตามทุนทรัพย์แห่งคดีหาใช่กำหนดตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายตามคำฟ้องฉบับแรกเป็นเงิน 10,325,000 บาท และตามคำฟ้องแก้ไขเพิ่มเติมอีก 71,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คิดเป็นทุนทรัพย์แห่งคดีนี้ 81,825,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดให้จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามร่วมกันใช้ค่าทนายความในศาลล่างทั้งสองแทนโจทก์รวมกัน 320,000 บาท ซึ่งเป็นอัตราร้อยละ 0.39 โดยประมาณ จากทุนทรัพย์ 81,825,000 บาท จึงไม่เกินกว่าอัตราขั้นสูงสำหรับคดีมีทุนทรัพย์ที่กำหนดไว้ร้อยละ 5 ในศาลชั้นต้น และร้อยละ 3 ในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ตามตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ฎีกาของจำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยพระราชกำหนดดังกล่าวได้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ซึ่งปัญหาการกำหนดดอกเบี้ยตามกฎหมายเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขความรับผิดในส่วนดอกเบี้ยรวมถึงกำหนดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามพระราชกำหนดได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลย จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 2,800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 2 เมษายน 2558) เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยร่วมที่ 2 ร่วมรับผิดเป็นเงิน 1,800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 26 มกราคม 2559 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ สำหรับอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 ที่จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามต้องร่วมรับผิดนั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามขอ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4