โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคล เลขที่ ภงด73.1-09360060-25591129-002-00001 หนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เลขที่ ภพ73.1-09360060-25591129-005-00029 ถึง 00039 หนังสือแจ้งให้เสียค่าอากรและค่าเพิ่มอากร เลขที่ อส6-09360060-25591129-007-00001 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2559 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ภาษีเงินได้นิติบุคคล เลขที่ สภ.9/สท.ชย./12/2560 ภาษีมูลค่าเพิ่ม เลขที่ สภ.9/สท.ชย./13-23/2560 เงินอากรและเงินเพิ่มอากร เลขที่ สภ.9/สท.ชย./24/2560 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2560 กับให้จำเลยคืนเงินภาษีจำนวน 914,346.34 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลภาษีอากรกลางรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายกคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ให้ส่งสำนวนคืนศาลภาษีอากรกลางเพื่อพิพากษาใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้ศาลภาษีอากรกลางรวมสั่งเมื่อพิพากษาใหม่ และหากโจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาใหม่ของศาลภาษีอากรกลางก็ให้ยกเว้นค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์แก่โจทก์
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้และในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลภาษีอากรกลางรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนหนังสือแจ้งให้เสียค่าอากรและค่าเพิ่มอากร เลขที่ อส6-09360060-25591129-007-00001 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2559 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์อากรและอากรเพิ่ม เลขที่ สภ.ส/สท.ชย/24/2560 (ที่ถูก เลขที่ สภ.9/สท.ชย./24/2560) ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2560 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า โจทก์ประกอบกิจการตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพื่อการส่งออก รับจ้างผลิตสินค้าอื่นที่เกี่ยวกับผ้าและสินค้าอื่น ๆ ด้วย โจทก์ขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2557 เป็นเงิน 914,346.34 บาท วันที่ 16 กรกฎาคม 2558 จำเลยออกตรวจปฏิบัติการและตรวจสภาพกิจการที่บริษัทโจทก์ วันที่ 17 ธันวาคม 2558 จำเลยออกหมายเรียกเพื่อตรวจสอบการเสียภาษีของโจทก์ทุกประเภทในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว โดยให้โจทก์นำส่งเอกสารหลักฐานทางบัญชีภาษีอากรไปมอบให้เจ้าพนักงานประเมินเพื่อตรวจสอบ ซึ่งผู้รับมอบอำนาจโจทก์นำหลักฐานต่าง ๆ ไปมอบให้เจ้าพนักงานประเมินพร้อมให้ปากคำตามหมายเรียกดังกล่าว ต่อมาจำเลยมีหนังสือเชิญโจทก์ไปพบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม โดยผู้รับมอบอำนาจโจทก์ได้ไปพบและให้ปากคำต่อเจ้าพนักงานประเมินแล้ว เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2559 เจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลรอบระยะเวลาบัญชีปี 2557 จำนวน 1 ฉบับ ให้โจทก์ชำระภาษีเพิ่มเติมพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม 4,461 บาท หนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีมกราคมและเดือนภาษีมีนาคมถึงเดือนภาษีธันวาคม 2557 รวม 11 ฉบับ ให้โจทก์ชำระภาษีพร้อมเบี้ยปรับและ เงินเพิ่มเป็นเงิน 1,499,957 บาท และหนังสือแจ้งให้เสียค่าอากรและค่าเพิ่มอากร 1 ฉบับ ให้โจทก์ชำระเงินอากรและเงินเพิ่มอากร 196,210 บาท โจทก์อุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์ไม่เห็นด้วยจึงฟ้องเป็นคดีนี้ สำหรับในส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
คดีมีประเด็นตามที่จำเลยฎีกาว่า หนังสือแจ้งให้เสียค่าอากรและค่าเพิ่มอากรและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ในส่วนนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ใบสั่งจ้างเป็นใบสั่งจ้างที่โจทก์นำส่งต่อเจ้าพนักงานของจำเลยในชั้นตรวจสอบ โดยเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารจ้างทำของซึ่งโจทก์ตกลงทำการผลิตสินค้าตามรายการที่กำหนด ตามประเภทของสินค้า จำนวนผลิตและราคาผลิตต่อหน่วย เอกสารดังกล่าวเป็นต้นฉบับเอกสาร และได้มีการลงลายมือชื่อในใบสั่งจ้างทั้งผู้สั่งจ้างและผู้รับจ้าง จึงเป็นตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ นั้น พิเคราะห์แล้วตามประมวลรัษฎากร มาตรา 103 บัญญัติว่า "ในหมวดนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น "ตราสาร" หมายความว่า เอกสารที่ต้องเสียอากรตามหมวดนี้..." และมาตรา 104 บัญญัติว่า "ตราสารที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายหมวดนี้ ต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามอัตราที่กำหนดไว้ในบัญชีนั้น" และตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์บัญญัติให้ ลักษณะแห่งตราสาร 4 จ้างทำของต้องเสียอากรแสตมป์ 1 บาท ทุกจำนวนเงิน 1,000 บาท หรือเศษของ 1,000 บาท แห่งสินจ้างที่กำหนดไว้ ซึ่งการจ้างทำของนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 บัญญัติว่า "อันว่าจ้างทำของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงรับจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น" ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า ใบสั่งจ้างมีข้อความในตอนต้นของกระดาษว่าคือใบสั่งจ้าง และเอกสารดังกล่าวก็มีข้อความสำคัญเพียงว่า บริษัท ว. ผู้สั่งจ้าง โจทก์ผู้รับจ้าง วันที่ เลขที่ใบสั่งจ้าง รหัสสินค้ารายการสินค้า จำนวน ราคาต่อหน่วย และจำนวนเงิน แม้จะมีการลงชื่อผู้ว่าจ้างและโจทก์ผู้รับจ้างด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อสัญญาจ้างทำของนั้นไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องทำสัญญากันเป็นหนังสือมิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆะ ประกอบกับลักษณะในการประกอบกิจการของโจทก์ที่จะรอคำสั่งจ้างจากผู้ว่าจ้างเป็นลักษณะรายครั้ง เมื่อผู้ว่าจ้างต้องการสั่งจ้างผลิตครั้งใดก็จะมีใบสั่งจ้างทีละครั้ง ทำให้ช่วงเวลาที่โจทก์ผลิตสินค้าเดือนมกราคม 2557 มีใบสั่งจ้าง 86 ฉบับ เดือนกุมภาพันธ์ 2557 มีใบสั่งจ้าง 18 ฉบับ เดือนมีนาคม 2557 มีใบสั่งจ้าง 70 ฉบับ เดือนเมษายน 2557 มีใบสั่งจ้าง 36 ฉบับ เดือนพฤษภาคม 2557 มีใบสั่งจ้าง 7 ฉบับ เดือนมิถุนายน 2557 มีใบสั่งจ้าง 9 ฉบับ เดือนกรกฎาคม 2557 มีใบสั่งจ้าง 8 ฉบับ เดือนสิงหาคม 2557 มีใบสั่งจ้าง 11 ฉบับ เดือนกันยายน 2557 มีใบสั่งจ้าง 9 ฉบับ เดือนตุลาคม 2557 มีใบสั่งจ้าง 10 ฉบับ และเดือนพฤศจิกายน 2557 มีใบสั่งจ้าง 6 ฉบับ อันแสดงให้เห็นว่าใบสั่งจ้างดังกล่าวเป็นเพียงหลักฐานแห่งการทำนิติกรรม ไม่ใช่หนังสือสัญญาจ้างทำของอันจะต้องเสียอากรตามลักษณะแห่งตราสาร 4 บัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 อากรแสตมป์แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด และสามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่าการประเมินอากรแสตมป์ของจำเลยไม่ชอบนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้นพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ