โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 5, 6, 7, 11, 69, 73 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4, 5, 6, 8, 9, 14, 15, 26/4, 26/5, 31 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 4, 5, 6, 8, 16, 24, 27 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มาตรา 4, 5, 6, 16, 19, 47 พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ. 2545 มาตรา 3, 4, 7, 17 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 7, 72 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 57, 67, 91 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 83, 91 ให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 116,480 บาท แก่รัฐ บวกโทษจำคุกของจำเลยที่ 4 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2090/2561 ของศาลแขวงสมุทรปราการ เข้ากับโทษของจำเลยที่ 4 ในคดีนี้
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การรับสารภาพ และให้การรับในคดีส่วนแพ่งว่า ตนได้ทำลายหรือเป็นเหตุให้เกิดการทำลายหรือทำให้สูญหายหรือเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติในเขตป่าสงวนแห่งชาติ คิดเป็นค่าเสียหาย 116,480 บาท
จำเลยที่ 4 ให้การรับสารภาพข้อหาร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีน ส่วนข้อหาและคำขออื่นให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
จำเลยที่ 5 ให้การรับสารภาพข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีน และข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนข้อหาและคำขออื่นให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 6 ให้การรับสารภาพข้อหาร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีน และข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนข้อหาและคำขออื่นให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งหกมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง (2), 73 วรรคสอง (2) พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง (2) พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 16 (2) (3) (15) (16), 24, 27 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มาตรา 16, 19 วรรคหนึ่ง, 47 พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ. 2545 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 17 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 57 (เดิม), 91 จำเลยที่ 5 และที่ 6 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67 อีกกระทงหนึ่ง ขณะกระทำความผิด จำเลยที่ 6 อายุ 18 ปีเศษ แต่เห็นว่ารู้ผิดชอบเช่นผู้ใหญ่แล้ว จึงไม่ลดมาตราส่วนโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ให้การกระทำของจำเลยทั้งหกเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามมีปริมาตรไม้เกินสี่ลูกบาศก์เมตร ฐานร่วมกันทำไม้อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ (ที่ถูก ฐานร่วมกันทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ) และฐานร่วมกันทำให้เสื่อมสภาพซึ่งไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 9 ปี ฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปมีปริมาตรไม้เกินสี่ลูกบาศก์เมตร จำคุกคนละ 9 ปี ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันนำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์เข้าไปภายในเขตอุทยานแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับคนละ 500 บาท ฐานร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง ฐานทำด้วยประการใด ๆ ให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ภายในเขตอุทยานแห่งชาติ (ที่ถูก ฐานร่วมกันทำด้วยประการใด ๆ ให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ภายในเขตอุทยานแห่งชาติ) และฐานร่วมกันยิงปืนภายในเขตอุทยานแห่งชาติ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันทำด้วยประการใด ๆ ให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ภายในเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 4 เดือน ฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง จำคุกคนละ 4 เดือน ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 5 และที่ 6 มีกำหนดคนละ 1 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 คนละ 20 ปี 14 เดือน และปรับคนละ 500 บาท จำเลยที่ 5 และที่ 6 คนละ 21 ปี 14 เดือน และปรับคนละ 500 บาท จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษกระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จำคุกคนละ 8 ปี 31 เดือน และปรับคนละ 250 บาท จำเลยที่ 4 ให้การรับสารภาพฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำเลยที่ 5 ให้การรับสารภาพฐานเสพเมทแอมเฟตามีนและฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยที่ 6 ให้การรับสารภาพฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน และฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษในความผิดฐานดังกล่าวกระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 4 และที่ 6 คนละ 6 เดือน ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุกจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 คนละ 3 เดือน ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 5 และที่ 6 คนละ 6 เดือน รวมแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 19 ปี 17 เดือน และปรับ 500 บาท จำคุกจำเลยที่ 5 มีกำหนด 20 ปี 17 เดือน และปรับ 500 บาท จำคุกจำเลยที่ 6 มีกำหนด 19 ปี 23 เดือน และปรับ 500 บาท บวกโทษจำคุก 1 เดือน ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2090/2561 ของศาลแขวงสมุทรปราการ เข้ากับโทษจำคุกของจำเลยที่ 4 ในคดีนี้ เป็นจำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 19 ปี 18 เดือน และปรับ 500 บาท หากจำเลยทั้งหกไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการทำลายทรัพยากรธรรมชาติในเขตป่าสงวนแห่งชาติ 116,480 บาท แก่รัฐ
จำเลยทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 6 อายุ 19 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 กระทงละหนึ่งในสาม ฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 8 เดือน ฐานร่วมกันทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำคุก 4 ปี ฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปมีปริมาตรไม้เกินสี่ลูกบาศก์เมตร จำคุก 4 ปี ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 8 เดือน ฐานร่วมกันนำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์เข้าไปภายในเขตอุทยานแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ 333.33 บาท ฐานร่วมกันทำด้วยประการใด ๆ ให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ภายในเขตอุทยานแห่งชาติ จำคุก 2 เดือน 20 วัน ฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง จำคุก 2 เดือน 20 วัน ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 4 เดือน ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 8 เดือน เฉพาะความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน และฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งแล้ว ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คงจำคุก 4 เดือน ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน คงจำคุก 2 เดือน และฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต คงจำคุก 4 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 6 มีกำหนด 8 ปี 22 เดือน 40 วัน และปรับ 333.33 บาท จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ฐานร่วมกันทำไม้อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ จำคุกคนละ 6 ปี ฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปมีปริมาตรไม้เกินสี่ลูกบาศก์เมตร จำคุกคนละ 6 ปี จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละคนละกึ่งหนึ่งแล้ว ฐานร่วมกันทำไม้อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ คงจำคุกคนละ 3 ปี และฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปมีปริมาตรไม้เกินสี่ลูกบาศก์เมตร คงจำคุกคนละ 3 ปี เมื่อรวมกับโทษฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คนละ 6 ปี 19 เดือน และปรับคนละ 250 บาท คงจำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 13 ปี 17 เดือน และปรับ 500 บาท และคงจำคุกจำเลยที่ 5 มีกำหนด 14 ปี 17 เดือน และปรับ 500 บาท จำเลยที่ 4 เมื่อบวกโทษจำคุก 1 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2090/2561 ของศาลแขวงสมุทรปราการแล้ว เป็นจำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 13 ปี 18 เดือน และปรับ 500 บาท จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 6 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 วิธีการจัดการค่าปรับสำหรับจำเลยที่ 4 กับที่ 5 และนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังเป็นยุติได้ว่า ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยทั้งหกกับนายอำพล นายสุวรรณ นายอ่อน นายสมคิด นายเฉลิมศรี และนายศิวกร พร้อมยึดไม้ประดู่ ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. อันยังมิได้แปรรูปที่ถูกตัดทิ้งไว้ 1 ท่อน ปริมาตร 14.56 ลูกบาศก์เมตร เลื่อยโซ่ยนต์ 2 เครื่อง บาร์เลื่อย 1 แผ่น โซ่เลื่อยยนต์ 3 เส้น อาวุธปืนแก๊ป 3 กระบอก ซากขนกระจงเล็ก 1 ถุง ซากหางกระรอกสามสี 2 ซาก ซางหางพญากระรอกบินสีดำ 1 ซาก ซากขนนกปรอดหน้านวล 1 ถุง ซึ่งเป็นซากสัตว์ป่าคุ้มครอง เมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 15 เม็ด และสิ่งของอื่นอีกหลายรายการเป็นของกลาง ที่เกิดเหตุอยู่ในบริเวณป่ายอดลำห้วยทราย ซึ่งเป็นเขตอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย และเป็นพื้นที่ทับซ้อนเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าบุณฑริก ตำบลห้วยข่า อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี หลังจากนั้นนำตัวจำเลยทั้งหกกับพวกส่งพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาเป็นคดีนี้ ต่อมาพนักงานอัยการยื่นฟ้องจำเลยทั้งหกกับพวกต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีเดียวกัน นายอำพล นายสุวรรณ นายอ่อน นายสมคิด นายเฉลิมศรี และนายศิวกรให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาลงโทษและริบของกลางไปแล้วตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 293/2562 ของศาลชั้นต้น ส่วนจำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ โจทก์จึงแยกฟ้องเป็นคดีนี้ สำหรับคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งให้การรับสารภาพ คู่ความไม่ฎีกา จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ส่วนจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ไม่ฎีกาในความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานเสพเมทแอมเฟตามีน นอกจากนี้จำเลยที่ 5 และที่ 6 ไม่ฎีกาในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ความผิดฐานดังกล่าวของจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ส่วนความผิดฐานร่วมกันนำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์เข้าไปภายในเขตอุทยานแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เนื่องจากต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ความผิดฐานนี้ของจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 จึงยุติไปแล้วเช่นกัน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ว่า จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 กระทำความผิดฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามมีปริมาตรไม้เกินสี่ลูกบาศก์เมตรโดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานร่วมกันทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ฐานร่วมกันทำให้เสื่อมสภาพซึ่งไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติ ฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปมีปริมาตรไม้เกินสี่ลูกบาศก์เมตร ฐานร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง ฐานร่วมกันทำด้วยประการใด ๆ ให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ภายในเขตอุทยานแห่งชาติ ฐานร่วมกันยิงปืนภายในเขตอุทยานแห่งชาติ และฐานร่วมกันมีไว้ครอบครองซึ่งซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสามปากเบิกความถึงพฤติการณ์ในการจับกุมจำเลยทั้งหกกับพวก และยึดของกลางที่เกี่ยวข้องได้สอดคล้องต้องกันทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ร่วมกันออกตรวจป่าที่เกิดเหตุ ขณะหยุดพักที่บริเวณลำห้วยทรายได้ยินเสียงเครื่องเลื่อยโซ่ยนต์ดังมาจากบริเวณป่ายอดลำห้วยทราย จึงเดินตามเสียงนั้นไปเพื่อตรวจสอบเป็นระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร จากนั้นได้ยินเสียงต้นไม้ขนาดใหญ่หักล้ม จนกระทั่งเดินไปพบจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อยู่ที่บริเวณปางพัก หลังจากนั้นพบพวกของจำเลยดังกล่าวอีก 6 คน เดินแบกเครื่องเลื่อยโซ่ยนต์ อาวุธปืน และของกลางอื่นหลายรายการกลับมาที่ปางพัก และในเวลาไล่เลี่ยกันนั้นเอง จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ก็สะพายปืนและถุงข้าวสารเดินจากทิศทางเดียวกันตามมาสมทบที่บริเวณปางพัก จึงจับกุมไว้ด้วย หลังจากนั้นจำเลยทั้งหกกับพวกพาพยานโจทก์ไปดูจุดที่ตัดโค่นไม้ประดู่ทิ้งไว้ เป็นลำดับ อีกทั้งคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสามปากมีสาระสำคัญตรงกับพฤติการณ์แห่งคดีที่ระบุไว้ในบันทึกการตรวจยึดจับกุมและภาพถ่ายที่เกี่ยวข้อง พยานโจทก์ดังกล่าวเป็นเจ้าพนักงานต่างไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 กับพวกมาก่อน วันเกิดเหตุออกตรวจป่าตามอำนาจหน้าที่ และไปพบเห็นการกระทำความผิดของจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 กับพวกโดยบังเอิญ ตามรูปคดีไม่มีข้อให้น่าระแวงสงสัยว่าเป็นการกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 กับพวก ประกอบกับในชั้นจับกุมจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 กับพวกต่างให้ถ้อยคำตรงกันว่า ร่วมกันลักลอบเข้าไปในป่าที่เกิดเหตุตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 ตามเส้นทางในป่าด้านทิศใต้บ้านห้วยซันเหนือ ตำบลนาจะหลวย เพื่อทำไม้ประดู่ที่บริเวณป่ายอดห้วยทรายไปจำหน่ายให้พ่อค้าชาวลาวที่มารับซื้อบริเวณช่องบ้านก๊อก (ตรงกับหมู่บ้านหนองงา) เมื่อเดินเท้ามาถึงที่เกิดเหตุจึงได้สร้างปางพักเป็นที่หลับนอนและประกอบอาหาร ตอนเช้าวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ ได้แบ่งหน้าที่กันให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ทำหน้าที่หุงหาอาหารอยู่ที่ปางพัก ส่วนพวกที่เหลือมีหน้าที่ไปทำไม้โดยใช้เลื่อยโซ่ยนต์ของกลางตัดไม้ประดู่ จนกระทั่งถูกพยานโจทก์กับพวกจับกุมได้ในเวลาต่อมา ซึ่งถ้อยคำดังกล่าวมีรายละเอียดในการกระทำความผิดอย่างชัดเจน ยากที่เจ้าพนักงานจะปั้นแต่งขึ้นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รวมทั้งพวกอีก 6 คน คือ นายอำพล นายสุวรรณ นายอ่อน นายสมคิด นายเฉลิมศรี และนายศิวกร ต่างให้การรับสารภาพตามฟ้อง จนศาลมีคำพิพากษาลงโทษไปแล้ว เป็นข้อสนับสนุนให้เชื่อได้ว่า พยานโจทก์ผู้ร่วมจับกุมทั้งสามปากเบิกความไปตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง อีกทั้งจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ต่างก็นำสืบยอมรับว่า ถูกจับกุมได้ในบริเวณที่เกิดเหตุจริง โดยจำเลยที่ 4 และที่ 6 มีอาวุธปืนแก๊ปติดตัวมาคนละ 1 กระบอก ส่วนจำเลยที่ 5 มีถุงข้าวสารติดตัวมาด้วยจริง เป็นการเจือสมกับทางนำสืบของโจทก์ ทำให้พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคท้าย บัญญัติห้ามมิให้ศาลรับฟังคำรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นพยานหลักฐานในการลงโทษจำเลย แต่เป็นการห้ามมิให้รับฟังเฉพาะคำรับสารภาพของจำเลยเป็นพยานหลักฐานเพื่อลงโทษจำเลยนั้นเอง มิได้ห้ามรับฟังถ้อยคำในชั้นจับกุมของจำเลยอื่นด้วยแต่อย่างใด ดังนั้น ศาลย่อมนำถ้อยคำในชั้นจับกุมของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับพวกที่พาดพิงว่า จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ร่วมกระทำความผิดด้วย มารับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ นอกจากนี้โจทก์ยังมีร้อยตำรวจเอกประพาษ พนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความสนับสนุนอีกปากหนึ่งว่า ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับพวกอีก 6 คน ให้การว่า จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดด้วย ซึ่งพยานโจทก์ปากนี้ก็ปฏิบัติราชการไปตามหน้าที่ ไม่รู้จักกับจำเลยทั้งหกและพวกมาก่อน จำเลยคนใดให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธ พยานก็บันทึกถ้อยคำไปตามความสมัครใจของแต่ละคน ดังจะเห็นได้จากเมื่อจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ให้การปฏิเสธ พยานก็บันทึกคำให้การไว้ จึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่า ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับพวกอีก 6 คน ให้การว่าจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ร่วมกระทำความผิดด้วยจริง แม้คำให้การในชั้นสอบสวนดังกล่าวถือเป็นพยานบอกเล่าและพยานซัดทอด แต่กฎหมายมิได้ห้ามรับฟังเสียทีเดียว หากมีเหตุอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี หรือมีพยานประกอบอื่นมาสนับสนุน ก็สามารถรับฟังลงโทษจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 วรรคสอง (1) ประกอบมาตรา 227/1 ข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะเกิดเหตุเจ้าพนักงานจับกุมจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ได้ใกล้บริเวณปางพัก โดยจำเลยที่ 4 และที่ 6 สะพายอาวุธปืนแก๊ปมาคนละ 1 กระบอก ส่วนจำเลยที่ 5 มีถุงข้าวสารติดตัวมาด้วย และยังได้ความว่า จำเลยที่ 4 เป็นพี่จำเลยที่ 2 พักอาศัยอยู่บ้านเดียวกัน บ้านพักของจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 อยู่ห่างจากบริเวณที่เกิดเหตุถึงประมาณ 20 กิโลเมตร ตามรูปคดีไม่มีเหตุผลให้น่าเชื่อว่า จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เดินเท้าออกจากบ้านมาพบจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และพวกอีก 6 คน ในป่าลึกโดยบังเอิญ แต่เชื่อว่าต้องมีการนัดแนะตกลงกันไว้ก่อนแล้ว ข้อที่จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ฎีกาว่า เข้าไปในป่าที่เกิดเหตุเพื่อหาของป่าและล่าสัตว์ขายนั้น จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 อ้างว่าเดินทางออกจากบ้านตั้งแต่เวลาประมาณ 19 นาฬิกา ของวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 จนกระทั่งถูกจับกุมในบริเวณที่เกิดเหตุเมื่อตอนเช้าของวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2562 แต่ขณะถูกจับกุมไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 มีสัตว์หรือของป่าติดตัวแต่อย่างใด ทั้งที่อ้างว่าป่าที่เกิดเหตุมีสัตว์ชุกชุม และออกจากบ้านมาเป็นเวลานานประมาณ 10 ชั่วโมง แล้ว จึงเป็นพิรุธและขัดต่อเหตุผล ส่วนที่อ้างว่าเหตุที่ถูกจับกุมเพราะเข้าไปกรอกน้ำดื่มที่แอ่งน้ำใกล้ปางพักที่เกิดเหตุนั้น ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าขณะถูกจับกุมจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 มีภาชนะใส่น้ำใด ๆ ติดตัวมา จึงขัดต่อเหตุผลเช่นกัน แม้ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 5 มีถุงข้าวสารติดตัวมาด้วย แต่ไม่มีหม้อหรือภาชนะในการหุงข้าว รวมทั้งไม่มีอุปกรณ์สำหรับทำอาหารและใช้ในการรับประทานอาหารใด ๆ กลับได้ความว่ามีการทำอาหารกันในบริเวณปางพัก จึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่า จำเลยที่ 5 นำข้าวสารมาสมทบกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และพวก เพื่อประกอบอาหารรับประทานด้วยกัน หาใช่เป็นคนละพวกที่มาพบกันโดยบังเอิญดังที่กล่าวอ้างไม่ ข้อที่จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ฎีกาว่า ถูกจับกุมที่แอ่งน้ำห่างจากปางพักประมาณ 200 ถึง 300 เมตร ไม่ใช่ถูกจับกุมที่บริเวณปางพัก อันเป็นการกล่าวอ้างทำนองว่าเป็นคนละพวกกับจำเลยอื่นนั้น เห็นว่า ปางพักที่เกิดเหตุมีบริเวณกว้างเนื้อที่ประมาณ 1 งาน แม้จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 อ้างว่าถูกจับกุมห่างออกไปประมาณ 200 ถึง 300 เมตร ก็ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้พยานหลักฐานของโจทก์มีข้อพิรุธน่าสงสัยเพราะเป็นการจับกุมบริเวณใกล้เคียงปางพักนั่นเอง ส่วนที่พยานโจทก์ผู้จับกุมเบิกความว่า พบเปลนอนในบริเวณปางพัก 18 เปล แต่ไม่ได้ระบุไว้ในบันทึกการตรวจยึดจับกุม ก็ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้พยานหลักฐานของโจทก์มีข้อน่าระแวงสงสัย เนื่องจากพยานจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เองก็เบิกความยอมรับว่า มีเปลนอนอยู่ในที่เกิดเหตุรวม 12 เปล แสดงว่ามีคนผูกเปลนอนพักในบริเวณที่เกิดเหตุอย่างน้อย 12 คน จริง แม้พยานโจทก์ผู้จับกุมไม่พบซากสัตว์ป่าคุ้มครองที่ตัวจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 และไม่เห็นจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ร่วมตัดไม้ประดู่ของกลางโดยตรง แต่ตามพฤติการณ์แห่งคดีเห็นได้ชัดว่า จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เป็นตัวการร่วมในการทำไม้และล่าสัตว์ป่าคุ้มครองกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และพวกอีก 6 คนข้างต้น สำหรับฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ที่โต้เถียงการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์เป็นเพียงข้อปลีกย่อยไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง เมื่อประมวลพยานหลักฐานของโจทก์และพฤติการณ์แห่งคดีประกอบกันแล้วมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 กระทำความผิดฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามมีปริมาตรไม้เกินสี่ลูกบาศก์เมตรโดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานร่วมกันทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ฐานร่วมกันทำให้เสื่อมสภาพซึ่งไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติ ฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปมีปริมาตรไม้เกินสี่ลูกบาศก์เมตร ฐานร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง ฐานร่วมกันทำด้วยประการใด ๆ ให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ภายในเขตอุทยานแห่งชาติ ฐานร่วมกันยิงปืนภายในเขตอุทยานแห่งชาติ และฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จริง จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 นำสืบปฏิเสธเพียงลอย ๆ และขัดต่อเหตุผล แม้อ้างจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รวมทั้งนายอำพล นายสุวรรณ นายอ่อน นายสมคิด นายเฉลิมศรี และนายศิวกร เป็นพยานเบิกความว่า จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ไม่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วย แต่พยานดังกล่าวเบิกความขัดกับคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน รวมทั้งขัดกับข้อเท็จจริงที่พยานทุกคนต่างให้การรับสารภาพว่าร่วมกันกระทำความผิดตามที่ถูกฟ้องจริง เชื่อว่าเป็นการเบิกความเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ซึ่งเป็นพวกของตนให้พ้นผิดเสียมากกว่า จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 และที่ 6 ต่อไปว่า สมควรลงโทษจำเลยที่ 4 และที่ 6 สถานเบาและรอการลงโทษจำคุกหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ศาลอุทธรณ์วางโทษจำคุกขั้นต่ำสุดของกฎหมายแล้ว ส่วนความผิดกระทงอื่นก็ใช้ดุลพินิจวางโทษจำคุกเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว และยังลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยที่ 6 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ด้วย นับว่าเป็นคุณแก่จำเลยที่ 4 และที่ 6 แล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขและเนื่องจากโทษของจำเลยที่ 4 ฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามมีปริมาตรไม้เกินสี่ลูกบาศก์เมตร และฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปมีปริมาตรไม้เกินสี่ลูกบาศก์เมตร จำคุกกระทงละ 6 ปี จึงไม่อาจรอการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ได้ ดังนั้น แม้โทษจำคุกในความผิดฐานอื่นของจำเลยที่ 4 ไม่เกินกระทงละ 5 ปี ก็ไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษให้ เพราะจะทำให้เกิดความลักลั่นไม่เหมาะสม ส่วนจำเลยที่ 6 แม้โทษจำคุกแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี อยู่ในเงื่อนไขที่จะรอการลงโทษได้ แต่ตามพฤติการณ์แห่งคดีจำเลยที่ 6 ร่วมกับพวกกว่าสิบคนลักลอบเข้าไปในเขตป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติ แล้วใช้เลื่อยโซ่ยนต์ตัดโค่นไม้ประดู่ขนาดใหญ่ 1 ต้น ปริมาตรถึง 14.56 ลูกบาศก์เมตร เพื่อจำหน่ายแก่นายทุนชาวลาว อันมีลักษณะกระทำความผิดกันเป็นขบวนการ เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของประเทศโดยเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัว ไม่คำนึงถึงความเสียหายต่อระบบนิเวศของป่าและผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่สัตว์ป่าและพันธุ์พืชต่าง ๆ นอกจากนี้ยังร่วมกันกระทำความผิดอื่นอีกหลายกระทง ถือเป็นเรื่องร้ายแรง จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 6 เช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 4 และที่ 6 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 4 และที่ 6 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ป่าที่เกิดเหตุเป็นเขตอุทยานแห่งชาติและเป็นป่าสงวนแห่งชาติ การล่าสัตว์ป่าคุ้มครองจึงเป็นความผิดฐานกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง อีกกระทงหนึ่งด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้ลงโทษจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ในความผิดฐานนี้เป็นการไม่ชอบ และความผิดฐานร่วมกันนำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติกับความผิดฐานร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง ฐานร่วมกันกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ฐานร่วมกันกระทำให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ภายในเขตอุทยานแห่งชาติด้วยประการใด ๆ และฐานร่วมกันยิงปืนในเขตอุทยานแห่งชาติ ถือว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ในความผิดฐานร่วมกันนำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติต่างกรรมกับความผิดฐานอื่นจึงไม่ถูกต้องเช่นกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขปรับบทให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 โดยไม่เพิ่มโทษจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 และเมื่อโจทก์ฟ้องและนำสืบว่าจำเลยทั้งหกร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง จึงเป็นเหตุที่อยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งมิได้ฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225 และศาลล่างทั้งสองยังมิได้มีคำสั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่ง ศาลฎีกาเห็นสมควรสั่งเสียให้ครบถ้วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งหกมีความผิดฐานร่วมกันกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง ด้วย การกระทำความผิดฐานร่วมกันกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ฐานร่วมกันนำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ ฐานร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง ฐานร่วมกันกระทำให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ภายในเขตอุทยานแห่งชาติด้วยประการใด ๆ และฐานร่วมกันยิงปืนในเขตอุทยานแห่งชาติ เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ส่วนโทษจำคุก และนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งทั้งสามศาลให้เป็นพับ