ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความรับผิดทางละเมิดของทันตแพทย์: การจัดฟันที่ส่งผลให้เกิดการสูญเสียกระดูกและต้องผ่าตัดแก้ไข
คงมีปัญหาตามว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ตามพยานหลักฐานของโจทก์ปรากฏว่า โจทก์เข้ารับการรักษากับจำเลยด้วยวิธีการจัดฟัน ต่อมาประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2559 โจทก์มีอาการเหงือกอักเสบบริเวณฟันหน้าด้านบนขวา แต่จำเลยยังดำเนินการจัดฟันต่อไป โจทก์เห็นว่าการรักษาของจำเลยไม่เกิดผลดี จึงไปพบทันตแพทย์ ห. ที่คลินิกทันตกรรม อ. ซึ่งมีการเอกซเรย์ฟันโจทก์และแนะนำให้ถอนฟันออก โดยให้โจทก์กลับไปปรึกษากับจำเลยที่ตรวจดูแลโจทก์มาตั้งแต่ต้น วันที่ 27 มิถุนายน 2559 โจทก์ไปพบจำเลยพร้อมกับใบส่งตัวและฟิลม์เอกซเรย์ จำเลยแจ้งว่าให้ถอนฟันออก 2 ซี่ ยุติการจัดฟันและถอดเครื่องมือจัดฟันออก บ่งชี้ว่าในขณะนั้น ทันตแพทย์ ห. และโจทก์ยังไม่ทราบว่าอาการเหงือกอักเสบของโจทก์เกิดจากการรักษาของจำเลยหรือไม่ มิเช่นนั้นแล้ว ทันตแพทย์ ห. คงจะไม่ส่งตัวให้โจทก์กลับไปรักษากับจำเลยอีก ต่อมาวันที่ 29 มิถุนายน 2559 เมื่อฟันหน้าบนขวาซี่ที่ 12 ของโจทก์ล้ม โจทก์ไปพบทันตแพทย์ที่คลินิกทันตกรรม อ. อีกครั้ง ทันตแพทย์ผู้ให้การรักษาเห็นว่าอาการรุนแรงจึงส่งตัวโจทก์ไปที่โรงพยาบาล ท. และวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 ทันตแพทย์ของโรงพยาบาล ท. พิจารณาฟิลม์เอกซเรย์แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์เป็นโรคปริทันต์อักเสบอย่างรุนแรงเฉพาะตำแหน่ง และวันที่ 21 กรกฎาคม 2559 ได้ถอนฟันซี่ที่ 12 ออก หลังจากนั้นโจทก์ไปพบทันตแพทย์ที่โรงพยาบาล ท. เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2559 วันที่ 9 กันยายน 2559 และวันที่ 23 กันยายน 2559 รวม 3 ครั้ง เป็นการรักษาโดยการขูดหินปูน เกลารากฟันซ้ำ กรอแต่งเฝือก และถ่ายภาพเอกซเรย์เท่านั้น ต่อมาวันที่ 29 ตุลาคม 2559 จึงมีการวางแผนผ่าตัดเปิดแผ่นเหงือก และสรุปแนวทางการรักษาเบื้องต้น และค่าใช้จ่ายโดยประมาณจำนวน 800,700 บาท คำเบิกความของโจทก์ที่ว่า โจทก์ทราบถึงการกระทำละเมิดและผู้ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนระหว่างวันที่ 9 กันยายน 2559 ถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2559 ระหว่างการรักษาโรคเหงือกนั้นจึงมีน้ำหนักรับฟัง และไม่เชื่อว่าโจทก์ทราบถึงการกระทำละเมิด และผู้ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2559 ดังที่จำเลยอ้างในฎีกา ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 14 กรกฎาคม 2560 จึงยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่โจทก์รู้ถึงการกระทำละเมิดและผู้ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ปัญหาว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด และศาลอุทธรณ์ภาค 7 มิได้กำหนดค่าเสียหายในส่วนการผ่าตัดขากรรไกรบนและล่างจำนวน 250,000 บาท ชอบหรือไม่ ภาระการพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าวตกอยู่แก่จำเลยตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 29 ตามคำเบิกความของ ก. พยานจำเลยอ้างทำนองว่าสาเหตุที่โจทก์เป็นเหงือกอักเสบหรือโรคปริทันต์เกิดจากการทำความสะอาดในช่องปากของโจทก์ไม่ดีเพียงพอ ไม่ได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลย แต่ตามคำเบิกความของจำเลยและ ก. ได้ความว่า ขณะเริ่มจัดฟันจำเลยไม่ได้ถ่ายภาพเอกซเรย์ฟันของโจทก์ โดยจำเลยเบิกความว่าเหตุที่ไม่ทำการถ่ายภาพเอกซเรย์ฟันของโจทก์เนื่องจากเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย และคลินิกของจำเลยไม่มีเครื่องเอกซเรย์ ซึ่งตามคำเบิกความของรองศาสตราจารย์ น. ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาทันตกรรมจัดฟัน คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย ม. ว่า โดยปกติคนไข้ที่ประสงค์จะจัดฟันต้องมีการถ่ายภาพเอกซ์เรย์ก่อนจัดฟัน หากทันตแพทย์ไม่เอกซ์เรย์ก่อนทันตแพทย์ต้องรับความเสี่ยงและคนไข้ก็ต้องรับความเสี่ยงด้วย แสดงให้เห็นว่า การที่จำเลยจัดฟันให้แก่โจทก์โดยไม่มีการถ่ายภาพเอกซ์เรย์เพื่อเก็บประวัติก่อนการรักษา จะมีความเสี่ยงในการรักษา อีกทั้งจำเลยให้การว่าโจทก์ทราบอยู่แล้วว่า โจทก์เป็นโรคเหงือกแต่ก็มาจัดฟันกับจำเลย หากเป็นจริงดังที่จำเลยให้การ จำเลยก็ย่อมต้องทราบว่าโจทก์เป็นโรคเหงือกด้วยเช่นกัน และการถ่ายภาพเอกซ์เรย์ก่อนเพื่อให้ทราบว่าโจทก์เป็นโรคเหงือกยิ่งมีความสำคัญก่อนการจัดฟัน แต่คำเบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ของจำเลยอ้างว่าจำเลยถ่ายภาพเอกซ์เรย์เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของโจทก์ อันเป็นการผิดวิสัยของผู้เป็นแพทย์พึงกระทำ นอกจากนี้ตามคำเบิกความของพยานจำเลยยังได้ความด้วยว่า หลังจากการจัดฟัน โจทก์มาพบที่คลินิกตามนัด และ ก. ทำความสะอาดและขูดหินปูนให้โจทก์ แต่ตามสำเนาเวชระเบียนและบันทึกการรักษา กลับไม่ปรากฏว่ามีการขูดหินปูนให้โจทก์แต่อย่างใด แม้ ก. จะอ้างว่า ในบางครั้งจะไม่ระบุว่ามีการขูดหินปูนในเวชระเบียนและบันทึกการรักษาเนื่องจากไม่ได้คิดค่ารักษาเนื่องจากเป็นการคิดค่ารักษาแบบเหมาจ่ายจึงไม่ได้คิดค่ารักษา ก็เป็นเรื่องผิดปกติวิสัยของแพทย์ที่ทำการตรวจรักษาและไม่บันทึกประวัติการรักษาในเวชระเบียนและบันทึกการรักษา และตามคำเบิกความของรองศาสตราจารย์ น. ได้ความว่า เมื่อมีการเปลี่ยนยาง ทันตแพทย์สามารถมองเห็นความผิดปกติของเหงือกและเห็นหินปูนที่สะสมอยู่ ดังนั้น หากจำเลยตรวจช่องปากโจทก์ทุกครั้งที่โจทก์มาพบตามนัด จำเลยย่อมสังเกตเห็นได้ถึงความผิดปกติของเหงือกและหินปูน หากสงสัยว่าอาการผิดปกติดังกล่าวมีความรุนแรงจำเลยก็จำเป็นต้องส่งตัวโจทก์ไปถ่ายภาพเอกซ์เรย์เพื่อหาสาเหตุ และรักษาได้ทันท่วงที ตามคำเบิกความของจำเลยอ้างว่า วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2559 จำเลยเพิ่งตรวจพบว่า โจทก์มีอาการเหงือกอักเสบและมีหนอง จำเลยเพียงแต่แนะนำให้โจทก์อมน้ำอุ่นผสมเกลือบ้วนปากเพื่อลดการบวมของเหงือก และจำเลยได้ตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า จำเลยขูดรากฟัน เกลารากฟันให้โจทก์ และแนะนำให้ดูแลรักษาความสะอาด ไม่ได้ให้ยาแก้อักเสบและไม่ได้ทำการถ่ายภาพเอกซ์เรย์ แต่ตามเอกสาร ระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2559 ถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2559 ไม่ปรากฎว่ามีการรักษาโรคปริทันต์แต่อย่างใด คงมีเพียงการเปลี่ยนยางจัดฟัน แสดงให้เห็นว่า ขณะนั้นโจทก์มีอาการปริทันต์หรือเหงือกอักเสบอยู่ในขั้นรุนแรงแล้ว จำเลยควรจะตรวจพบแล้วแต่ไม่ได้รักษาหรือส่งตัวไปให้แพทย์เฉพาะทางเพื่อรักษา และยังคงทำการจัดฟันต่อไป จนต่อมาโจทก์ต้องไปพบทันตแพทย์ ห. ที่คลินิกทันตกรรม อ. และทันตแพทย์ ห. ถ่ายเอกซ์เรย์และแนะนำให้ถอนฟันออก และแนะนำให้กลับไปปรึกษากับจำเลยซึ่งเป็นผู้ตรวจดูแล และวันที่ 27 มิถุนายน 2559 โจทก์ไปพบกับจำเลยอีกครั้งพร้อมกับใบส่งตัวและภาพถ่ายเอกซ์เรย์ จำเลยแจ้งว่าให้ถอนฟันออก 2 ซี่ ยุติการจัดฟันและถอดเครื่องจัดฟัน แสดงให้เห็นว่า ในระหว่างระยะเวลาที่พบอาการเหงือกอักเสบในช่องปากของโจทก์ จำเลยซึ่งเป็นทันตแพทย์ผู้ดูแลรักษาไม่ได้ใส่ใจหรือใช้ความระมัดระวังตามสมควรของวิชาชีพทันตแพทย์ จนเป็นเหตุให้อาการของโจทก์ลุกลาม การที่โจทก์ต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาลทันตกรรม กับต้องผ่าตัดในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2559 และรักษาตัวต่อเนื่องหลังจากนั้น เกิดจากการรักษาของจำเลยที่ต่ำกว่ามาตรฐานของวิชาชีพทันตกรรม อันเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลย
จำเลยฎีกาทำนองว่า ค่าปลูกกระดูกบริเวณฟันหน้าบนและค่าเสริมกระดูกเทียม ไม่ใช่ค่าเสียหายอันเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลย การสูญเสียกระดูกบริเวณรอบรากฟันอยู่ในความรู้เห็นเฉพาะของจำเลย และจำเลยมีภาระการพิสูน์ถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งตามคำเบิกความของจำเลยและ ก. พยานจำเลยอ้างเป็นทำนองว่าสาเหตุดังกล่าวเกิดจากโจทก์ไม่ดูแลรักษาความสะอาด ไม่ได้เกิดจากการจัดฟัน แต่ตามคำเบิกความของจำเลยและพยานจำเลยดังกล่าว ไม่มีพยานสนับสนุนว่าสาเหตุดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการจัดฟันด้วย แม้ตามคำเบิกความของทันตแพทย์ ผ. พยานโจทก์รับว่าการสูญเสียกระดูกดังกล่าวไม่สามารถบอกได้ว่าเกิดจากการจัดฟันอย่างเดียว อาจเกิดจากปัจจัยอื่นก็ได้แต่ก็ตอบคำถามค้านทนายจำเลยด้วยว่า หากคนไข้ใส่เครื่องมือจัดฟันแล้วทำความสะอาดไม่เพียงพอก็เป็นเหตุปัจจัยเสริมที่ก่อให้เกิดโรคได้เท่านั้น ลำพังโจทก์ไม่ดูแลรักษาความสะอาดจึงไม่น่าก่อให้เกิดโรคได้ พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักรับฟังว่า ค่าปลูกกระดูกบริเวณฟันหน้าบนและค่าเสริมกระดูกเทียมไม่ใช่ค่าเสียหายอันเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระค่าปลูกกระดูกบริเวณฟันหน้าบนเป็นเงิน 35,000 บาท และค่าเสริมกระดูกเทียมเป็นเงิน 51,000 บาท ด้วยนั้นจึงชอบแล้ว ส่วนค่าผ่าตัดขากรรไกรบนและล่าง ตามคำเบิกความของโจทก์ก็รับว่า สภาพฟันของโจทก์มีการจัดฟันผิดปกติมีลักษณะฟันล่างครอบฟันบน ช่องการตรวจข้อ 2 ระบุว่า โครงสร้างกระดูกขากรรไกรล่างยื่นมากกว่าปกติ ทำให้ไม่สามารถใส่ฟันเทียมที่บริเวณฟันหน้าบนในตำแหน่งที่เหมาะสมได้ และในช่องลำดับการรักษาข้อ 4 ผ่าตัดขากรรไกรบนและล่างเพื่อให้มีความสัมพันธ์ของขากรรไกรเป็นปกติ จึงฟังได้ว่า โจทก์มีปัญหาขากรรไกรบนและล่างมาก่อนการจัดฟันกับจำเลย แม้ในการใส่ฟันเทียมหน้าบน แพทย์จะต้องผ่าตัดขากรรไกรบนและล่างให้มีความสัมพันธ์กัน แต่เหตุดังกล่าวไม่ได้เป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิดของโจทก์ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้