โจทก์ฟ้องขอให้ถอนการให้ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 94229 และสิ่งปลูกสร้างบ้านพักอาศัยเลขที่ 402 ให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวครึ่งหนึ่งคืนโจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า โจทก์จดทะเบียนสมรสกับนางกาญจนา มีบุตร 4 คน รวมนางสาวสุวิมล และจำเลย ระหว่างสมรสนางกาญจนาซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 94229 94230 และ 102570 โดยระบุชื่อนางกาญจนาเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียว และนางกาญจนายื่นคำขออนุญาตสร้างบ้านพักอาศัยเลขที่ 56/413 ต่อมาเปลี่ยนเป็นเลขที่ 402 ในที่ดินโฉนดเลขที่ 94229 และ 102570 วันที่ 22 เมษายน 2542 นางกาญจนายกที่ดินโฉนดเลขที่ 94230 ให้แก่นางสาวสุวิมล วันที่ 9 มิถุนายน 2560 นางกาญจนายกที่ดินโฉนดเลขที่ 94229 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยโดยเสน่หาตามหนังสือสัญญาให้ และวันที่ 8 มีนาคม 2561 นางกาญจนายกที่ดินโฉนดเลขที่ 102570 ให้แก่นางสาวสุวิมล นางกาญจนาถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2561 วันที่ 2 กรกฎาคม 2562 นางสาวสุวิมลเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้น ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในส่วนที่ปลูกสร้างรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของนางสาวสุวิมลทั้งสองแปลงดังกล่าวตามสำเนาคำฟ้องคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1376/2562 ระหว่างพิจารณาคดีดังกล่าวในวันที่ 9 ตุลาคม 2562 และวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 ผู้ประนีประนอมไกล่เกลี่ยโดยมีโจทก์ จำเลย นางสาวสุวิมล และทนายความของทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมในการไกล่เกลี่ย แต่ไม่สามารถตกลงกันได้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ถ้อยคำของจำเลยที่แถลงในระหว่างการไกล่เกลี่ยคดีอื่นในศาลชั้นต้น มีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ผู้ให้อย่างร้ายแรงหรือไม่ และโจทก์จะอ้างอิงถ้อยคำดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ในคดีนี้ว่า จำเลยประพฤติเนรคุณเป็นเหตุให้โจทก์เรียกถอนคืนการให้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531 (2) ได้หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการไกล่เกลี่ยประนีประนอมยอมความจะนำมาพิจารณาในชั้นพิจารณาของศาลได้หรือไม่นั้น ย่อมขึ้นกับสภาพของข้อเท็จจริงแต่ละราย หากข้อเท็จจริงใดเป็นเรื่องที่คู่ความประสงค์จะให้เป็นข้อพิจารณาโดยแท้ในชั้นไกล่เกลี่ยซึ่งเป็นกระบวนการที่อาศัยความจริงใจของคู่กรณีที่แลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจที่จะหาทางระงับข้อพิพาทด้วยการตกลงกัน ข้อมูลบางอย่างอาจเป็นคุณเป็นโทษต่อเจ้าของข้อมูล ข้อมูลเช่นนี้ก็ไม่อาจนำมาใช้อ้างอิงในภายหลังได้ มิฉะนั้นจะเป็นการทำลายความเชื่อมั่นของคู่กรณีต่อระบบการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทที่ต่อไปคู่กรณีอาจไม่เปิดเผยข้อมูลแก่กันเพื่อหาทางระงับคดี แต่ถ้อยคำที่จำเลยด่าว่าโจทก์ในขณะที่มีข้อโต้เถียงกันในระหว่างการไกล่เกลี่ยคดีฟ้องขับไล่คดีอื่นว่า "ทรัพย์สินทั้งหมดแม่เป็นคนหามาคนเดียว พ่อไม่ได้ทำอะไรเลย เอาแต่เที่ยวกลางคืนใช้เงินที่แม่หาไปวัน ๆ พ่อเป็นแค่คนขับรถเท่านั้น ไม่เคยช่วยทำมาหากิน" หาใช่ข้อเท็จจริงที่คู่ความในคดีดังกล่าว คือ นางสุวิมลและจำเลยนำมาเป็นข้อพิจารณาว่าจำเลยต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของนางสุวิมลหรือไม่ ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่เข้าร่วมในการไกล่เกลี่ยของผู้ประนีประนอมในศาลชั้นต้นคดีดังกล่าวจึงนำถ้อยคำที่จำเลยแถลงในระหว่างการไกล่เกลี่ยมาอ้างอิงหรือนำสืบเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ต่อศาลในคดีนี้ได้ ไม่ถือว่าเป็นความลับอันต้องห้ามตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการไกล่เกลี่ย พ.ศ. 2554 ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงนำมารับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ภายใต้บังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 85 อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาลักษณะของคำกล่าวของจำเลยประกอบกับพฤติการณ์แห่งคดี ข้อความดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงความเห็นจากประสบการณ์ของจำเลยโดยไม่มีสัมมาคารวะและไม่เคารพยำเกรงโจทก์ผู้เป็นบิดา หาใช่เจตนาทำให้โจทก์ต้องเสียชื่อเสียงหรือเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงไม่ จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยประพฤติเนรคุณต่อโจทก์อันจะเป็นเหตุให้โจทก์เรียกถอนคืนการให้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531 (2) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ