โจทก์ฟ้องว่าขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงิน 152,337.51 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 142,538.05 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงิน 142,538.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันที่ 19 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชำระหนี้ ให้จำเลยที่ 3 ชำระแทน กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 7,000 บาท
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันที่ 19 ตุลาคม 2562 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวให้ปรับเปลี่ยนลดลงหรือเพิ่มขึ้นตามช่วงเวลาที่มีพระราชกฤษฎีกาประกาศให้มีผลบังคับ แต่ดอกเบี้ยทุกช่วงเวลาไม่ให้เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เบื้องต้นโดยคู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบธุรกิจจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด ประกอบธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้าง รับเหมาก่อสร้าง มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการมีอำนาจกระทำการแทน จำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ซึ่งมีนายสมบัติ บิดาจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ระหว่างวันที่ 18 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 และระหว่างวันที่ 5 ถึงวันที่ 10 มีนาคม 2562 จำเลยที่ 2 สั่งซื้อคอนกรีตผสมเสร็จไปจากโจทก์เพื่อใช้ในกิจการรับเหมาก่อสร้างโครงการก่อสร้างโรงเรียน น. ของจำเลยที่ 1 หลายครั้ง รวมเป็นเงินค้างชำระ 142,538.05 บาท และได้รับสินค้าแล้ว แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชำระหนี้ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2560 กองทัพอากาศทำสัญญาจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ก่อสร้างอาคารโครงการโรงเรียน น. มูลหนี้ตามคำฟ้องเกิดขึ้นภายหลังการทำหนังสือรับรองการชำระหนี้ หนังสือรับรองการชำระหนี้ดังกล่าวมีจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราสำคัญของห้างหุ้นส่วนจำกัด ส.
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า หนังสือรับรองการชำระหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 เป็นสัญญาค้ำประกันหรือสัญญาต่างตอบแทนประเภทหนึ่ง เห็นว่า ค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 วรรคหนึ่ง คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น โดยมีผู้ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในนิติสัมพันธ์ด้วยกันสามฝ่าย คือเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นบุคคลภายนอก คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องตั้งสิทธิเป็นประเด็นแห่งคดีว่า จำเลยที่ 2 สั่งซื้อคอนกรีตผสมเสร็จไปจากโจทก์เพื่อใช้ในกิจการรับเหมาก่อสร้างของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกัน หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 3 ยินยอมรับผิดชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การและนำสืบรับว่า จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อในหนังสือค้ำประกันแทนห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. แต่อ้างว่ากระทำโดยไม่มีอำนาจและแจ้งยกเลิกแล้ว ซึ่งหนังสือรับรองการชำระหนี้มีข้อความว่า "หนังสือฉบับนี้ออกโดยห้างหุ้นส่วนจำกัด ส....ให้การรับรองแก่บริษัท ธ....สำหรับการชำระหนี้ที่ถึงกำหนดชำระและหนี้ที่ค้างชำระอันเกิดจากการสั่งซื้อคอนกรีตที่ใช้ในการก่อสร้างโครงการโรงเรียน น....ของบริษัทนิติบุคคลดังต่อไปนี้...6 ห้างห้างหุ้นส่วนจำกัด จ." และตอนท้ายของหนังสือรับรองดังกล่าวระบุว่า หากบริษัทดังกล่าวผิดนัดในการชำระหนี้ค่าคอนกรีตที่ใช้ในการก่อสร้างโครงการโรงเรียน น. อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ทางห้างฯ จะรับผิดชอบชำระหนี้แทนบริษัทดังกล่าว โดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ ทั้งสิ้น และมีลายมือชื่อของจำเลยที่ 3 ลงนาม พร้อมประทับตราสำคัญของห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ดังนี้ เมื่อพิจารณาคำฟ้อง คำให้การ ทางนำสืบของโจทก์และจำเลยที่ 3 ประกอบข้อความในหนังสือรับรองการชำระหนี้ดังกล่าวแล้ว แสดงให้เห็นโดยแจ้งชัดว่า โจทก์และจำเลยที่ 3 ต่างมีเจตนาเข้าทำสัญญาโดยทราบและเข้าใจวัตถุประสงค์ของการทำสัญญาดีว่าเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ในกรณีจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าสั่งซื้อคอนกรีตผสมเสร็จ ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นการผูกพันตนของห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. โดยจำเลยที่ 3 ในอันที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ว่าหากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ตนตกลงที่จะชำระหนี้นั้นให้แทน ทั้งนี้ โดยไม่มีข้อสัญญาต่างตอบแทนอื่นใดเป็นพิเศษเพิ่มเติม หนังสือรับรองการชำระหนี้ดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาอุปกรณ์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการชำระหนี้ประธาน ที่โจทก์ต้องการถือประโยชน์จากการมีผู้เข้าผูกพันตนดังกล่าวเป็นสำคัญอันเป็นการค้ำประกันทั่ว ๆ ไป หาได้แตกต่างจากค้ำประกันตามความหมายของสัญญาค้ำประกันดังที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 วรรคหนึ่ง แต่ประการใดไม่ ทั้งนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังเป็นเรื่องการซื้อขายคอนกรีตผสมเสร็จที่จำเลยที่ 3 หรือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. มิได้รับผลประโยชน์ใดๆ โดยตรงจากนิติสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นการตอบแทน แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะนำคอนกรีตผสมเสร็จไปใช้ในโครงการก่อสร้างโรงเรียน น. ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. เป็นคู่สัญญา ก็ไม่อาจถือได้ว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. หรือ จำเลยที่ 3 ซึ่งลงนามผูกพันในหนังสือรับรองการชำระหนี้นั้นเป็นลูกหนี้ของโจทก์ และมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 หากแต่เป็นบุคคลภายนอกซึ่งสามารถเข้าทำสัญญาค้ำประกันในหนี้ของผู้อื่นตามความหมายของมาตรา 680 วรรคหนึ่งได้ ประกอบกับคำบรรยายฟ้องของโจทก์และหนังสือรับรองการชำระหนี้ดังกล่าวไม่มีข้อความตอนใดที่แสดงถึงข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ว่าต่างมีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาต่อกันเป็นส่วนตัวอย่างไร หรือมีข้อเท็จจริงที่ทำให้แตกต่างจากสัญญาค้ำประกันอย่างไร อันศาลจะยกข้อเท็จจริงตามคำบรรยายฟ้องนั้นขึ้นมาวินิจฉัยได้เองว่าจะต้องด้วยบทกฎหมายเรื่องใด การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 มีลักษณะผูกพันตนเองเข้าทำสัญญาไม่มีชื่ออย่างหนึ่ง แล้วนำพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 มาวินิจฉัยประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 134 จึงเป็นกรณีที่เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า หนังสือรับรองการชำระหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 เป็นสัญญาค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 วรรคหนึ่ง นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปว่า จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า เมื่อหนังสือรับรองการชำระหนี้เป็นสัญญาค้ำประกันดังวินิจฉัยและทำขึ้นภายหลังพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) มีผลใช้บังคับ จึงต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยค้ำประกันมาตรา 681 และ 685/1 ที่แก้ไข มาใช้บังคับ คดีนี้มูลหนี้ตามคำฟ้องเกิดขึ้นภายหลังการทำสัญญาค้ำประกัน กรณีจึงเป็นการประกันมูลหนี้ที่อาจสมบูรณ์ได้ในอนาคต ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681 วรรคสอง บัญญัติว่า "หนี้ในอนาคต หรือหนี้มีเงื่อนไขจะประกันไว้เพื่อเหตุการณ์ซึ่งหนี้นั้นอาจเป็นผลได้จริงก็ประกันได้ แต่ต้องระบุวัตถุประสงค์ในการก่อหนี้รายที่ค้ำประกัน ลักษณะของมูลหนี้ จำนวนเงินสูงสุดที่ค้ำประกัน และระยะเวลาในการก่อหนี้ที่จะค้ำประกัน..." แต่เมื่อพิจารณาข้อความในสัญญาค้ำประกันกลับปรากฏว่า เป็นการค้ำประกันลูกหนี้หลายรายรวมกัน โดยไม่มีรายละเอียดระบุจำนวนเงินสูงสุดที่ค้ำประกันในลูกหนี้ในแต่ละราย และระยะเวลาในการก่อหนี้ที่จะค้ำประกันไว้ ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่าสัญญาจ้างทำการก่อสร้างเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาค้ำประกันนั้น ไม่ปรากฏข้อความตอนใดในสัญญาค้ำประกันดังกล่าวที่แสดงให้เห็นว่าสัญญาจ้างทำการก่อสร้างเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาค้ำประกันด้วย ส่วนที่นางศรีสุดา กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ เบิกความว่าสัญญาจ้างทำการก่อสร้างเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 3 แจ้งว่าจำนวนวงเงินค้ำประกันและระยะเวลาในการค้ำประกันให้เป็นไปตามสัญญาจ้างทำการก่อสร้างนั้น เป็นการนำสืบนอกเหนือจากข้อความที่ปรากฏในเอกสาร โดยจำเลยที่ 3 มิได้ยอมรับ เมื่อสัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาที่ผู้ค้ำประกันมีความรับผิดแต่เพียงฝ่ายเดียว การตีความจึงต้องเป็นไปโดยเคร่งครัด จะตีความไปในทางขยายความรับผิดของผู้ค้ำประกันให้เกินเลยไปกว่าข้อความที่ปรากฏชัดแจ้งในสัญญาค้ำประกันไม่ได้ จึงต้องตีความให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้นตามมาตรา 11 ว่าสัญญาจ้างทำการก่อสร้างมิใช่ส่วนหนึ่งของสัญญาค้ำประกัน ดังนี้ เมื่อสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 มิได้ระบุจำนวนเงินสูงสุดที่ค้ำประกัน และระยะเวลาในการก่อหนี้ที่จะค้ำประกัน สัญญาค้ำประกันดังกล่าวจึงเป็นบรรดาข้อตกลงเกี่ยวกับการค้ำประกันที่แตกต่างไปจากมาตรา 681 วรรคสอง ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 685/1 แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 ไม่มีอำนาจกระทำการแทนห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. แต่สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน ซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จำกัดจำนวนตามมาตรา 1088 วรรคหนึ่ง หรือไม่ก็ตาม จำเลยที่ 3 ก็ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์ต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีการะหว่างโจทก์และจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ