โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 4, 19, 43, 45 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4, 5, 14, 31, 35 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 3, 7, 12, 17, 89, 92, 112 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91, 371 ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 12, 17 วรรคหนึ่ง (ที่ถูก 17), 89 (ที่ถูก 89 วรรคหนึ่ง), 92 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 19 (7), 45 (ที่ถูก 17) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี และปรับ 4,000 บาท ฐานพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน และปรับ 4,000 บาท ฐานพาอาวุธมีดไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ 1,000 บาท ฐานมีสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครอง จำคุก 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท ฐานล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง จำคุก 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท ฐานนำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์หรืออาวุธใด ๆ เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ ปรับ 5,000 บาท รวมจำคุก 1 ปี 18 เดือน และปรับ 34,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 15 เดือน และปรับ 17,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง
โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูงภาค 8 ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมาย รับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงสำหรับข้อหาพาอาวุธมีด และข้อหานำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์ป่าหรืออาวุธใด ๆ เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาแก้เป็นว่า ให้คุมความประพฤติจำเลยไว้ 1 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร กับให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรเป็นเวลา 12 ชั่วโมง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า คดีมีเหตุอันสมควรที่ต้องลงโทษจำคุกโดยไม่รอการลงโทษและคุมความประพฤติจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ตามฟ้องโจทก์บรรยายแต่เพียงว่า จำเลยมีและพาอาวุธปืนยาวอัดลม 1 กระบอก ลูกกระสุนปืนอัดลม 33 นัด และมีดพกสั้น 2 เล่ม เข้าไปในที่เกิดเหตุซึ่งเป็นเขตอุทยานแห่งชาติและป่าสงวนแห่งชาติ จากนั้นนำนกกางเขนดง 1 ตัว ใส่กรงแขวนไว้บนต้นไม้เพื่อล่อดักจับสัตว์ป่าแล้วถูกเจ้าพนักงานจับกุมพร้อมอาวุธปืนยาวอัดลม ลูกกระสุนปืน มีดพกสั้น 2 เล่ม และนกกางเขนดงในกรงดังกล่าวเป็นของกลางเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ใช้อาวุธปืนยาวอัดลมของกลางยิงทำร้ายเพื่อล่าสัตว์ในที่เกิดเหตุแต่ประการใด และไม่ปรากฏว่ามีซากสัตว์ป่าที่จำเลยได้ล่ามาแล้วเป็นของกลางแต่อย่างใด ตามพฤติการณ์บ่งชี้ว่าจำเลยเตรียมอาวุธปืน มีดพกสั้นพร้อมนกกางเขนดงไปในที่เกิดเหตุก็เพื่อล่อดักจับนกกางเขนดงตัวอื่นและล่าสัตว์ขนาดเล็กทั่ว ๆ ไป จึงไม่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ป่าและสัตว์ป่ามากนัก การให้โอกาสแก่จำเลยซึ่งไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนได้ประพฤติกลับตัวเป็นพลเมืองดีสักครั้งด้วยการรอการลงโทษจำคุกและให้คุมความประพฤติจำเลยไว้ ย่อมดีกว่าลงโทษจำคุกระยะสั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาให้รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยโดยคุมประพฤติจำเลยไว้ด้วยชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยล่าสัตว์ป่าไม่ว่าจะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองหรือสัตว์ป่าสงวนหรือมิใช่ ด้วยการใช้นกกางเขนดงอันเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกนกใส่กรงแขวนไว้บนต้นไม้เพื่อล่อดักจับสัตว์ป่าในเขตป่ากรุงชิงซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติอันเป็นการกระทำด้วยประการใด ๆ ให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ป่าภายในเขตอุทยานแห่งชาติ และเป็นการเก็บหาของป่าหรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ กับมีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 4, 19, 43, 45 เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง และฐานกระทำให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ป่าภายในเขตอุทยานแห่งชาติด้วยประการใด ๆ ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 19 (3), 43 แต่ศาลล่างทั้งสองมิได้ปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 19 (3), 43 มาด้วย เป็นการไม่ชอบ และความผิดฐานกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ฐานกระทำให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ป่าภายในเขตอุทยานแห่งชาติด้วยประการใด ๆ ฐานนำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์หรืออาวุธใด ๆ เข้าไปภายในเขตอุทยานแห่งชาติ และฐานล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง ถือว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยในความผิดฐานนำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์หรืออาวุธใด ๆ เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติต่างกรรมกับความผิดฐานอื่นมานั้น เป็นการไม่ถูกต้องเช่นกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 โดยไม่เพิ่มโทษจำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 19 (3), 43 ด้วย ความผิดฐานกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ฐานกระทำให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ป่าภายในเขตอุทยานแห่งชาติด้วยประการใด ๆ ฐานนำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์หรืออาวุธใด ๆ เข้าไปภายในเขตอุทยานแห่งชาติ และฐานล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 3 เดือน และปรับ 5,000 บาท เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานอื่น ๆ ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 แล้ว เป็นจำคุก 15 เดือน และปรับ 14,500 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8