โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 115,243,835.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 80,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้บังคับจำนำหุ้นบริษัท ผ. และทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอขอให้ยกฟ้องและพิพากษาว่า หนังสือรับสภาพหนี้ กับสัญญาจำนำหุ้นเป็นโมฆะ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1)
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การแก้คำฟ้องและคำร้องสอด
โจทก์ยื่นคำให้การแก้คำร้องสอดและแก้ไขคำให้การขอให้ยกคำร้องสอด
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์และจำเลยร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้องสอด โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 5,000 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยให้ตกเป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2541 โจทก์ตกลงโอนที่ดินที่มีชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ รวม 7 แปลง ให้แก่บริษัท ผ. เพื่อชำระหนี้แทนจำเลย คิดเป็นมูลค่า 80,000,000 บาท โดยจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวทันที เมื่อบริษัท ผ. พร้อมดำเนินการจดทะเบียน วันที่ 1 ธันวาคม 2546 โจทก์ส่งมอบโฉนดที่ดิน 7 แปลง ดังกล่าว ให้แก่บริษัท ผ. นำไปใช้ในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และได้มีการบันทึกการรับโอนที่ดินไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินของบริษัท ผ. ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา วันที่ 17 พฤศจิกายน 2549 จำเลยยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง วันที่ 18 ธันวาคม 2549 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยตามคดีหมายเลขแดงที่ 8556/2549 โดยโจทก์ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีดังกล่าว ต่อมาวันที่ 12 พฤศจิกายน 2550 ศาลล้มละลายกลางเห็นว่าการฟื้นฟูกิจการของจำเลยได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผนแล้ว จึงมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของจำเลย วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2559 โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยบันทึกรายการเจ้าหนี้ลงในบัญชีของจำเลยในนามของโจทก์ที่ได้ดำเนินการโอนที่ดินชำระหนี้แทนให้แก่บริษัท ผ. ต่อมาวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ตกลงที่จะบันทึกภาระหนี้ให้โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยในมูลหนี้ 80,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ซึ่งเป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ วันที่ 3 มีนาคม 2559 จำเลยทำสัญญาจำนำหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัท ผ. โดยจำเลยส่งมอบใบหุ้นและตราสารการโอนหุ้นที่จำนำให้แก่โจทก์ พร้อมทั้งจดแจ้งการจำนำหลักทรัพย์ เป็นประกันหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว ต่อมาวันที่ 21 เมษายน 2559 โจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 7 แปลง ให้แก่บริษัท ผ. หลังจากครบกำหนดไถ่ถอน จำเลยไม่ชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้และไถ่ถอนจำนำ โจทก์ทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนำแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า ผู้ร้องสอดมีอำนาจยื่นคำร้องสอดหรือไม่ เห็นว่า ตามคำร้องสอดของผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดบรรยายในคำร้องสอดทำนองว่า นอกจากผู้ร้องสอดจะเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยแล้ว ผู้ร้องสอดยังมีสถานะเป็นกรรมการที่ชอบด้วยกฎหมายของบริษัทจำเลย ในวันที่ 9 เมษายน 2556 คณะกรรมการของบริษัทจำเลยไม่เคยมีมติให้เรียกนัดประชุมสามัญ ประจำปี 2556 ผู้ร้องสอดและกรรมการของบริษัทไม่ได้มีเจตนาลาออกจากการเป็นกรรมการ และที่ประชุมของบริษัทไม่เคยมีมติแต่งตั้งนายไกรสินและนายไกรภพ เป็นกรรมการบริษัท โจทก์ในฐานะกรรมการคนหนึ่งของบริษัทจำเลยนำข้อความอันเป็นเท็จไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการและอำนาจกรรมการ กรรมการชุดใหม่ของจำเลยจึงเป็นกรรมการที่ตั้งขึ้นมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นกรณีที่ผู้ร้องสอดกล่าวอ้างว่าจำเลยไม่เคยมีการประชุมและมีมติแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ โจทก์และกรรมการชุดใหม่ของจำเลยฉ้อฉลทำหนังสือรับสภาพหนี้และสัญญาจำนำหุ้นเป็นประกันหนี้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้จำเลย ผู้ร้อง และผู้ถือหุ้นเสียหาย คำร้องสอดของผู้ร้องสอดดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องสอดต้องเข้ามาเป็นคู่ความ เพื่อให้ได้รับความรับรองคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้องสอดที่มีอยู่ในฐานะที่เป็นกรรมการโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยและเป็นผู้ถือหุ้นที่อาจจะได้รับความเสียหายจากการกระทำของโจทก์และกรรมการชุดใหม่ซึ่งมีผลต่อสถานะของผู้ร้องสอด และกระทบต่อผู้ถือหุ้นตลอดจนทรัพย์สินของบริษัทตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) ผู้ร้องสอดจึงมีสิทธิยื่นคำร้องสอดเข้ามาในคดี และมีสิทธิยกข้อต่อสู้ว่าหนังสือรับสภาพหนี้ไม่มีมูลหนี้อยู่จริง และเป็นมูลหนี้ที่ขาดอายุความ ทั้งจำเลยหลุดพ้นจากมูลหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว เนื่องจากโจทก์ไม่มีคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่จำเลยขอฟื้นฟูกิจการขึ้นต่อสู้ได้ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปว่า จำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ และสัญญาจำนำหุ้นตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/75 บัญญัติว่า "คำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการมีผลให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ เว้นแต่หนี้ซึ่งเจ้าหนี้อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการจะได้ขอรับชำระหนี้ไว้แล้ว..." และมาตรา 90/27 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เจ้าหนี้อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีหรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้" คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า วันที่ 30 กันยายน 2541 โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจำเลยในขณะนั้น และยังเป็นประธานกรรมการบริหารบริษัท ผ. ทำสัญญาโอนทรัพย์ชำระหนี้ให้แก่บริษัท ผ. แม้ตามสำเนาสัญญาโอนทรัพย์ชำระหนี้ดังกล่าวจะเป็นนิติกรรมระหว่างโจทก์กับบริษัท ผ. ก็ตาม แต่ข้อตกลงในสัญญา ข้อ 3. ระบุว่า โจทก์ตกลงจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บริษัท ผ. ทันที เมื่อบริษัท ผ. พร้อมในการดำเนินการจดทะเบียน ดังนั้น โจทก์ต้องผูกพันตามข้อตกลงดังกล่าว นับแต่วันที่ 30 กันยายน 2541 ซึ่งเป็นวันทำสัญญา หากบริษัท ผ. มีความพร้อมในการจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเมื่อใด โจทก์ต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้เมื่อนั้น จึงเป็นกรณีที่โจทก์มีความผูกพันเพื่อผู้อื่นในอันจะต้องใช้หนี้ มีส่วนได้เสียในการใช้หนี้และเข้าใช้หนี้นั้นแทนจำเลยซึ่งจะมีผลให้โจทก์ได้รับช่วงสิทธิจากบริษัท ผ. เรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ได้ทันทีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 229 (3) แม้หลังจากโจทก์และบริษัท ผ. ทำสัญญาโอนทรัพย์ชำระหนี้ดังกล่าว และขณะจำเลยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ โจทก์ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บริษัท ผ. เพราะบริษัทยังไม่พร้อมที่จะจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินก็ตาม แต่ได้ความจากคำเบิกความของตัวโจทก์ว่า หลังจากทำสัญญาโอนทรัพย์ชำระหนี้แล้ว ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2546 โจทก์ได้ส่งมอบโฉนดที่ดินทั้ง 7 แปลง ข้างต้น ให้แก่บริษัท ผ. เพื่อให้บริษัท ผ. นำไปใช้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยอ้างถึงข้อตกลงในสัญญาโอนทรัพย์ชำระหนี้ที่โจทก์ทำกับบริษัท ผ. ดังกล่าว แสดงว่าโจทก์เข้าผูกพันตนชำระหนี้ให้แก่บริษัท ผ. แทนจำเลยตามสัญญาโดยการส่งมอบเอกสารสิทธิของที่ดินที่โจทก์มีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่บริษัท ผ. ซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการชำระหนี้ และบริษัท ผ. ได้เข้าถือเอาประโยชน์ตามสัญญาแล้ว ดังนี้ มูลหนี้จึงเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2541 ซึ่งเป็นวันทำสัญญา แม้ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บริษัท ผ. หลังจากที่จำเลยพ้นจากการฟื้นฟูกิจการแล้วก็ตาม แต่เป็นเรื่องของเวลาการชำระหนี้ด้วยการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามข้อตกลงในสัญญาโอนทรัพย์ชำระหนี้ซึ่งเป็นคนละกรณีกับที่มูลหนี้เกิดขึ้นแล้วหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า วันที่ 18 ธันวาคม 2549 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งในคดีหมายเลขแดงที่ 8556/2549 ให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลย มูลแห่งหนี้จึงเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ เป็นหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ แต่โจทก์ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ เมื่อการฟื้นฟูกิจการของจำเลยเป็นผลสำเร็จตามแผนและศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของจำเลยในเวลาต่อมา จำเลยจึงหลุดพ้นจากหนี้ที่มีอยู่กับโจทก์แล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/27 วรรคหนึ่ง และมาตรา 90/75 ดังกล่าวข้างต้น อย่างไรก็ดีแม้จำเลยหลุดพ้นจากการชำระหนี้แล้วก็ตาม แต่พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ไม่มีบทบัญญัติระบุว่า การหลุดพ้นจากหนี้ทำให้หนี้ระงับสิ้นไป ทั้งตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หนี้จะระงับสิ้นไปเมื่อได้มีการชำระหนี้ครบถ้วน ปลดหนี้ หักกลบลบหนี้ แปลงหนี้ใหม่ และหนี้เกลื่อนกลืนกัน การที่จำเลยหลุดพ้นจากการชำระหนี้คงมีผลเพียงว่า เจ้าหนี้หมดสิทธิที่จะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ และจำเลยไม่ต้องชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เท่านั้น ส่วนกรณีที่มูลหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ขาดอายุความหรือไม่นั้น แม้จะฟังว่าหนี้ขาดอายุความ แต่การที่หนี้ขาดอายุความก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติระบุว่าให้หนี้ระงับสิ้นไปเช่นเดียวกัน ดังนั้น มูลหนี้อันเกิดจากการที่โจทก์ชำระหนี้ให้แก่บริษัท ผ. แทนจำเลย ซึ่งเป็นที่มาของหนังสือรับสภาพหนี้กับสัญญาจำนำหุ้นดังกล่าว จึงยังคงมีอยู่ไม่ระงับสิ้นไป ส่วนที่ผู้ร้องสอดตั้งประเด็นมาในคำแก้อุทธรณ์ว่ามูลหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ไม่มีอยู่จริง ซึ่งศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยนั้นในข้อนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในทำนองว่า หนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งมีที่มาจากสัญญาโอนทรัพย์ชำระหนี้เป็นหนี้ที่มีอยู่จริง ผู้ร้องสอดมิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือตั้งประเด็นนี้ไว้ในคำแก้อุทธรณ์ ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนที่ผู้ร้องสอดตั้งประเด็นมาในคำแก้อุทธรณ์ทำนองว่า หลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีนี้แล้ว ต่อมาวันที่ 20 มีนาคม 2561 ปรากฏว่าในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ พ. 455/2561 ของศาลแพ่งธนบุรีที่โจทก์คดีนี้เป็นจำเลยที่ 1 ศาลได้วินิจฉัยว่า ที่ดินทั้ง 7 แปลง ที่โจทก์จดทะเบียนโอนชำระหนี้ให้แก่บริษัท ผ. แทนจำเลย เป็นทรัพย์สินของครอบครัวโตทับเที่ยง เป็นกงสีไม่ใช่ทรัพย์สินของโจทก์แต่เพียงผู้เดียว โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าหนี้ของจำเลย มูลหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้จึงไม่มีอยู่จริงนั้น เห็นว่า ผู้ร้องสอดไม่ได้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงดังกล่าวมาในคำร้องสอด จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องสอดไม่อาจตั้งประเด็นมาในคำแก้อุทธรณ์ได้ ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้ ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าหลังจากที่การฟื้นฟูกิจการของจำเลยได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผน และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของจำเลยแล้ว ผู้บริหารของจำเลยย่อมมีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของจำเลยได้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/75 (1) การที่จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ ให้แก่โจทก์ในหนี้ที่โจทก์ได้ชำระหนี้ให้แก่บริษัท ผ. แทนจำเลยตามสัญญาโอนทรัพย์ชำระหนี้ และได้ทำสัญญาจำนำหุ้น เป็นประกันหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ไว้แก่โจทก์ จึงเป็นนิติกรรมที่จำเลยทำขึ้นด้วยความสมัครใจ มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์กับโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จึงมีผลบังคับตามกฎหมาย จำเลยจึงต้องชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้และสัญญาจำนำหุ้นตามฟ้องให้แก่โจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น แต่ที่โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2.5 ต่อปี ของต้นเงิน 80,000,000 บาท นับแต่วันที่ 26 กันยายน 2541 ถึงวันฟ้อง และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยตัวโจทก์เบิกความอ้างว่าเหตุที่โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2541 เพราะโจทก์เห็นว่าเป็นวันที่โจทก์ต้องขาดประโยชน์จากการใช้สอยที่ดินทั้ง 7 แปลง เพราะต้องนำที่ดินไปดำเนินการตามข้อตกลงที่โจทก์ต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บริษัท ผ. เพื่อชำระหนี้แทนจำเลย นั้น เห็นว่า ในวันที่ 26 กันยายน 2541 โจทก์ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บริษัท ผ. โจทก์ไม่ได้ขาดประโยชน์จากการใช้สอยที่ดิน ทั้งโจทก์และบริษัท ผ. ทำสัญญาโอนทรัพย์ชำระหนี้ ซึ่งเป็นที่มาของหนังสือรับสภาพหนี้ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2541 และไม่ได้ระบุให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยกับจำเลยได้ ทั้งในวันที่ 21 เมษายน 2559 ที่โจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 7 แปลง ให้แก่บริษัท ผ. แทนจำเลย ตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเอาแก่จำเลยตั้งแต่วันดังกล่าวได้หรือไม่และในอัตราเท่าใด อย่างไรก็ดี จำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ 80,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามพฤติการณ์แสดงว่าต้องมีการเรียกดอกเบี้ยให้แก่กัน จึงสมควรกำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์อัตราร้อยละ 2.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอนับตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งเป็นวันทำหนังสือรับสภาพหนี้จนถึงวันฟ้อง ส่วนดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ที่ระบุในสัญญาจำนำ ซึ่งมีข้อความว่า จำเลยจำนำหุ้นเป็นประกันหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว สัญญาจำนำจึงเป็นหนี้อุปกรณ์ที่มีขึ้นเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งเป็นหนี้ประธาน ความรับผิดตามสัญญาจำนำหุ้นย่อมไม่เกินจำนวนหนี้ประธาน ดังนี้ เมื่ออัตราดอกเบี้ยตามสัญญาจำนำหุ้นสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ระบุในหนังสือรับสภาพหนี้อัตราดอกเบี้ยจึงต้องบังคับตามหนังสือรับสภาพหนี้ ดังนั้น โจทก์คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ เท่านั้น
พิพากษากลับว่า ให้จำเลยชำระเงิน 80,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้บังคับจำนำหุ้นของบริษัท ผ. 30 ฉบับ ตามใบหุ้นเลขที่ 05240100001392 ถึง เลขที่ 05240100001402 และใบหุ้นเลขที่ 05240100001479 ถึง เลขที่ 05240100001497 ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์จนครบ ยกคำร้องของผู้ร้องสอด ค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความทุกฝ่ายทั้งสามศาลให้เป็นพับ