โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 22/2560 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เพิ่มเติมครั้งที่ 4 ลงวันที่ 4 เมษายน 2560 ข้อ 1 และข้อ 5 และประกาศกรมเจ้าท่าที่ 103/2560 เรื่อง การตรวจสอบและทำเครื่องหมายที่แสดงอัตลักษณ์ และการแจ้งรายการเกี่ยวกับเรือตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 22/2560 เพิ่มเติมครั้งที่ 1 ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2560 ข้อ 1 ถึงข้อ 5
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 22/2560 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เพิ่มเติมครั้งที่ 4 ลงวันที่ 4 เมษายน 2560 ข้อ 5 วรรคเก้า ลงโทษปรับ 139,580 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปีหรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่โทษจำคุกไม่เกินห้าปี ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง" คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับจำเลยเป็นเงิน 139,580 บาท และศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ยังคงพิพากษาลงโทษปรับสถานเดียวตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่มีเรืออยู่ในครอบครอง จึงไม่สามารถนำเรือมาให้พนักงานเจ้าท่าตรวจสอบเพื่อแสดงอัตลักษณ์และไม่ได้แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับเรือภายในระยะเวลาที่กำหนดนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 9 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาข้อนี้ของจำเลย
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ที่ลงโทษปรับจำเลยเป็นเงิน 139,580 บาท ชอบหรือไม่ เห็นว่า คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 22/2560 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เพิ่มเติมครั้งที่ 4 สั่ง ณ วันที่ 4 เมษายน 2560 ได้กำหนดบทลงโทษปรับไว้ในข้อ 5 วรรคเก้า ในความผิดฐานเจ้าของเรือไม่นำเรือที่ใช้ทำการประมงมาให้คณะทำงานตรวจสอบและทำเครื่องหมายที่แสดงอัตลักษณ์เรือภายในกำหนดเวลาและสถานที่ที่กรมเจ้าท่าประกาศกำหนดไว้ โดยกำหนดโทษปรับหนึ่งหมื่นบาทสำหรับเรือที่มีขนาดไม่เกินสิบตันกรอส และปรับเพิ่มตามขนาดของเรือตันกรอสละสองพันบาท การลงโทษปรับตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นการปรับโดยคำนวณไปตามขนาดของเรือ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามฟ้องและฎีกาของจำเลยว่า เรือที่ใช้ทำการประมงของจำเลยมีขนาดของเรือ 74.79 ตันกรอส จึงต้องลงโทษปรับจำเลยตามขนาดของเรือเต็มจำนวน 74.79 ตันกรอส ดังนั้น ขนาดของเรือ 0.79 ตันกรอส ในส่วนที่เกิน 74 ตันกรอส เป็นส่วนหนึ่งของขนาดเรือ จึงต้องนำมาคิดคำนวณค่าปรับดัวย มิใช่กรณีที่จะไม่นำมาคิดคำนวณค่าปรับตามที่จำเลยกล่าวอ้างในฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ลงโทษปรับจำเลยเป็นเงิน 139,580 บาท จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง แม้ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 9/2562 เรื่อง การยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ บางฉบับที่หมดความจำเป็น ณ วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 โดยมีคำสั่งในข้อ 4 ให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในบัญชีสี่ท้ายคำสั่งนี้ ซึ่งบัญชีสี่ท้ายคำสั่งดังกล่าวมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 22/2560 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เพิ่มเติมครั้งที่ 4 ที่ถูกยกเลิกไว้ด้วยในข้อ 1 (6) แต่ตามบัญชีสี่ท้ายคำสั่งดังกล่าวก็ระบุหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมไว้ในข้อ 1 ว่า ให้กองทัพเรือจัดทำแผนและขั้นตอนการยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ และข้อ 2 ระบุว่า เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนและขั้นตอนการยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามข้อ 1 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้โอนภารกิจฯ ไปยังส่วนราชการอื่น... และให้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามข้อ 1 เป็นอันยกเลิก... กับข้อ 3 ระบุว่า บรรดาการกระทำความผิดตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามข้อ 1 ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่บทบัญญัติกำหนดความผิดนั้นจะสิ้นผลใช้บังคับ และอยู่ระหว่างการดำเนินคดีหรือการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาล ให้ดำเนินคดีนั้นตามกฎหมายซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่บทบัญญัตินั้นสิ้นผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าการดำเนินคดีนั้นหรือการบังคับคดีนั้นจะถึงที่สุด ต่อมามีประกาศกองทัพเรือ เรื่อง แผนและขั้นตอนการยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2562 ว่าคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2562 ให้ความเห็นชอบแผนและขั้นตอนการยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเกี่ยวกับการแก้ปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมตามที่กองทัพเรือเสนอ และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 มีผลยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 22/2560 คดีนี้จำเลยกระทำความผิดตามคำสั่งดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนวันที่บทบัญญัติตามคำสั่งนั้นจะสิ้นผลใช้บังคับและอยู่ในระหว่างการดำเนินคดีของศาลฎีกา ศาลฎีกาย่อมดำเนินคดีต่อไปได้จนกว่าคดีถึงที่สุด จึงมิใช่กรณีที่บทบัญญัติของกฎหมายในภายหลังบัญญัติให้การกระทำไม่เป็นความผิดอีกต่อไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง จำเลยจึงไม่พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดแต่อย่างใด
พิพากษายืน