สำนวนแรกโจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 7397 ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2557 นิติกรรมการขายฝากระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2557 นิติกรรมการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 7415 ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2558 นิติกรรมการขายฝากระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 4 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 นิติกรรมการขายฝากระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2559 และนิติกรรมการแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวของจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2562 หากจำเลยทั้งสี่ไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง
สำนวนที่สองโจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารรื้อย้ายอาคารร้านซ่อมรถจักรยานยนต์บนที่ดินโฉนดเลขที่ 61908 ห้ามจำเลยและบริวารเข้ามายุ่งเกี่ยวอีกต่อไป กับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ 4,000 บาท และค่าเสียหายต่อไปอีกเดือนละ 2,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะรื้อย้ายอาคารร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ออกจากที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์สำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 เรียกจำเลยในสำนวนที่สองว่า โจทก์ที่ 2 เรียกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 สำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 และเรียกจำเลยที่ 3 สำนวนแรกและโจทก์สำนวนที่สองว่า จำเลยที่ 3
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 7397 ระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2557 การขายฝากระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2557 และให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 7415 ระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2558 การขายฝากระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 4 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 การขายฝากระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2559 และการแบ่งแยกโฉนดที่ดินดังกล่าวเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2562 ให้จำเลยทั้งสี่ดำเนินการจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว หากจำเลยทั้งสี่ไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่ กับให้จำเลยทั้งสี่ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท ให้ยกฟ้องของจำเลยที่ 3 ในสำนวนคดีหลัง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างจำเลยที่ 3 และโจทก์ที่ 2 ให้เป็นพับ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีทั้งสองสำนวนให้เป็นพับ
จำเลยที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ให้ขับไล่โจทก์ที่ 2 ขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินของจำเลยที่ 3 ให้โจทก์ที่ 2 ชำระเงินแก่จำเลยที่ 3 ในอัตราเดือนละ 200 บาท นับแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2562 จนกว่าโจทก์ที่ 2 จะขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินของจำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลทั้งสองสำนวนให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันรับฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 อายุ 67 ปี มีอาชีพทำนา เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เดิมโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 7397 และ 7415 ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 และ จ.3 เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2557 โจทก์ที่ 1 กู้เงินจำเลยที่ 1 จำนวน 230,000 บาท โดยนำโฉนดที่ดินตามเอกสารหมาย จ.1 มอบให้จำเลยที่ 1 ยึดถือไว้ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ โจทก์ที่ 1 ลงชื่อในเอกสารหลายฉบับรวมทั้งแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความมอบให้จำเลยที่ 1 ด้วย ต่อมาเดือนธันวาคม 2558 โจทก์ที่ 1 ขอกู้เงินจากจำเลยที่ 1 เพิ่มอีก 400,000 บาท โดยโจทก์ที่ 1 นำโฉนดที่ดินตามเอกสารหมาย จ.3 มอบให้จำเลยที่ 1 ยึดถือไว้เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ หลังจากนั้นโจทก์ที่ 1 ตรวจสอบโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงจึงทราบว่าจำเลยที่ 1 กรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจว่าโจทก์ที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขายที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 และ จ.3 ให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 วันที่ 6 สิงหาคม 2557 จำเลยที่ 1 นำหนังสือมอบอำนาจไปจดทะเบียนขายที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 ให้แก่จำเลยที่ 1 วันที่ 8 สิงหาคม 2557 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายฝากที่ดินแปลงนี้ให้แก่จำเลยที่ 4 วันที่ 18 ธันวาคม 2558 จำเลยที่ 2 นำหนังสือมอบอำนาจไปจดทะเบียนขายที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.3 ให้แก่จำเลยที่ 2 วันที่ 22 ธันวาคม 2558 จำเลยที่ 2 จดทะเบียนขายฝากที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 4 วันที่ 29 มกราคม 2559 จำเลยที่ 2 ไถ่ถอนการขายฝากที่ดินแปลงนี้แล้วจดทะเบียนขายฝากให้แก่จำเลยที่ 3 ในวันเดียวกัน ต่อมาวันที่ 17 ตุลาคม 2562 จำเลยที่ 3 ดำเนินการแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 7415 ออกเป็นแปลงย่อย 7 แปลง ที่ดินโฉนดเลขที่ 61908 เป็นที่ดินที่แบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 7415 มีร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ของบุตรสาวและบุตรเขยของโจทก์ที่ 1 อยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 61908 โดยบุตรสาวและบุตรเขยของโจทก์ที่ 1 มอบหมายให้โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ดูแลร้าน โจทก์ที่ 1 แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อหาร่วมกันปลอมและใช้เอกสารปลอม กับข้อหาร่วมกันฉ้อโกง ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า มีเหตุต้องเพิกถอนนิติกรรมตามฟ้องของโจทก์ที่ 1 สำนวนแรก และยกฟ้องของจำเลยที่ 3 ในสำนวนหลังหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ที่ 1 ทักท้วงที่จำเลยที่ 1 นำเอกสารมาให้ลงชื่อหลายฉบับ แสดงว่าโจทก์ที่ 1 รู้สึกถึงความผิดปกติแล้ว แต่โจทก์ที่ 1 ยังยอมลงชื่อในแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจโดยไม่ตรวจสอบให้ดี ทั้งที่หนังสือมอบอำนาจด้านบนมีตราครุฑและคำว่า หนังสือมอบอำนาจเป็นตัวอักษรขนาดใหญ่ มองเห็นได้ง่าย เมื่อพิจารณาประกอบข้อเท็จจริงที่ได้ความจากโจทก์ที่ 1 เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 3 ว่า โจทก์ที่ 1 อ่านหนังสือได้บ้าง เมื่อทนายจำเลยที่ 3 เอาหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์ที่ 1 ดู โจทก์ที่ 1 อ่านข้อความได้ว่าเป็นหนังสือมอบอำนาจ และโจทก์ที่ 1 ยังเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 4 ถามค้านว่า ก่อนกู้เงินจากจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 1 เคยมีหนี้อยู่แก่เจ้าหนี้รายอื่นและเคยทำนิติกรรมขายที่ดินมาหลายครั้งแล้ว แสดงว่าโจทก์ที่ 1 มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำนิติกรรมกู้ยืมเงินมาพอสมควร การละเลยไม่ตรวจสอบเอกสารก่อนลงชื่อ อีกทั้งยังมอบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านซึ่งเป็นเอกสารสำคัญของตนพร้อมลงชื่อรับรองความถูกต้องให้แก่จำเลยที่ 1 เช่นนี้ ถือได้ว่าโจทก์ที่ 1 กระทำการด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ดังนั้น โจทก์ที่ 1 ย่อมไม่อาจอ้างเหตุการถูกจำเลยที่ 1 หลอกลวงมาขอเพิกถอนนิติกรรมให้กระทบถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนได้ ส่วนข้อที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ชอบเพราะไม่ได้แสดงเหตุผลสนับสนุนข้อวินิจฉัยที่ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริต จำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้ทำนิติกรรมโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน นั้น เห็นว่า โจทก์ที่ 1 ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินไปยังจำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกว่าเกิดจากการปลอมเอกสารการมอบอำนาจของโจทก์ที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่โจทก์ที่ 1 ไม่ได้บรรยายในคำฟ้องว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 กระทำนิติกรรมโดยไม่สุจริตและไม่ได้เสียค่าตอบแทน ยิ่งไปกว่านั้นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 วางหลักให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต การที่โจทก์ที่ 1 ไม่บรรยายฟ้องไว้ให้เป็นประเด็นเพื่อนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 กระทำการโดยไม่สุจริต คดีนี้จึงไม่มีประเด็นว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 กระทำการโดยไม่สุจริตและเสียค่าตอบแทนหรือไม่ กรณีต้องฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ทำนิติกรรมโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริต แม้ไม่ได้ให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยก็ไม่ทำให้เป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบเพราะในชั้นอุทธรณ์ไม่มีประเด็นดังกล่าวที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะต้องวินิจฉัยให้ ด้วยเหตุผลดังวินิจฉัยมา จึงไม่มีเหตุต้องเพิกถอนการทำนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 และระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ตามฟ้องของโจทก์ที่ 1 สำนวนแรก และไม่มีเหตุยกฟ้องของจำเลยที่ 3 ตามฟ้องสำนวนหลัง
อย่างไรก็ตาม การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันปลอมหนังสือมอบอำนาจโดยกรอกข้อความอันเป็นเท็จว่า โจทก์ที่ 1 ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 7397 ให้แก่จำเลยที่ 1 และขายที่ดินโฉนดเลขที่ 7415 ให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 นำหนังสือมอบอำนาจปลอมไปจดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 7397 ให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 นำหนังสือมอบอำนาจปลอมไปจดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 7415 ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ที่ 1 เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายต้องสูญเสียที่ดินไปเนื่องจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกทำนิติกรรมโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์ที่ 1 ไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 และระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ตามฟ้องของโจทก์ที่ 1 ได้ สภาพแห่งหนี้จึงไม่เปิดช่องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์ที่ 1 ได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นการร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 แม้โจทก์ที่ 1 มีเพียงคำขอให้เพิกถอนนิติกรรมต่าง ๆ ระหว่างจำเลยทั้งสี่โดยมิได้มีคำขอให้ใช้ราคาที่ดินทั้งสองแปลงแก่โจทก์ที่ 1 ก็ตาม แต่เมื่อศาลไม่อาจพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวเพื่อให้ที่ดินทั้งสองแปลงกลับคืนมาเป็นของโจทก์ที่ 1 ได้ ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนเท่ากับราคาที่ดินทั้งสองแปลงแก่โจทก์ที่ 1 ได้ ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินคำขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ดังนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นราคาที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ที่ 1 ซึ่งปรากฏตามที่คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงต่อศาลร่วมกันว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 7397 มีราคา 600,000 บาท และที่ดินโฉนดเลขที่ 7415 มีราคา 3,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 3,600,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาขับไล่โจทก์ที่ 2 ออกจากที่ดินนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชดใช้ราคาที่ดินแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 3,600,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ