โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1492 เลขที่ดิน 402 ระหว่างจำเลยทั้งสอง และให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม และแบ่งแยกที่ดินให้โจทก์ เนื้อที่ 14 ไร่ 3 งาน 7.5 ตารางวา หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง หากสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงิน 7,925,895.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 1492 เลขที่ดิน 402 ฉบับลงวันที่ 23 มกราคม 2560 ระหว่างจำเลยทั้งสอง และให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม และแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวให้โจทก์กึ่งหนึ่ง แต่เนื้อที่ต้องไม่เกิน 14 ไร่ 3 งาน 7.5 ตารางวา ตามที่โจทก์ขอ หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความให้ 15,000 บาท
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยโจทก์และจำเลยทั้งสองมิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านรับฟังได้เบื้องต้นว่า ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 1492 เลขที่ดิน 402 เดิมมีชื่อโจทก์และ นางสาวจิราภรณ์ ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน โดยได้รับมรดกจากมารดาเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2512 ต่อมาโจทก์และนางสาวจิราภรณ์ขายฝากที่ดินพิพาทไว้กับนางสาวสุธินี แต่มิได้ไถ่ถอนการขายฝากภายในกำหนด จนที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนางสาวสุธินี ครั้นวันที่ 29 กรกฎาคม 2517 นางสาวสุธินีจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทแก่นางสาวจิราภรณ์ หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2558 นางสาวจิราภรณ์ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีของนางสาวจิราภรณ์เป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวจิราภรณ์ และเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2560 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสาวจิราภรณ์จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 ในราคา 10,000,000 บาท ประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์กับนางสาวจิราภรณ์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินพิพาท อันจะเป็นเหตุให้โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม และแบ่งแยกที่ดินพิพาทแก่โจทก์ตามคำฟ้องได้หรือไม่ ประเด็นนี้โจทก์อ้างตนเองเข้าเบิกความเป็นพยานยืนยันข้อเท็จจริงตามคำฟ้องว่า แต่เดิมโจทก์และนางสาวจิราภรณ์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทโดยการรับโอนมรดกจากมารดา หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2512 โจทก์และนางสาวจิราภรณ์จดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทไว้กับนางสาวสุธินี เป็นเวลา 2 ปี แต่ไม่ได้มีการไถ่ถอนการขายฝากตามกำหนด จนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตกเป็นของนางสาวสุธินี ต่อมาวันที่ 29 กรกฎาคม 2517 โจทก์ นางสาวจิราภรณ์และนางสาวสุธินี ซึ่งมีความสัมพันธ์เป็นดั่งญาติพี่น้องตกลงกันว่านางสาวสุธินีจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์และนางสาวจิราภรณ์ให้มีกรรมสิทธิ์ร่วมกันเหมือนเดิมตามที่รับมรดกกันมา แต่ขณะนั้นโจทก์ยังอาศัยอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเหตุให้มีข้อขัดข้องไม่อาจจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทร่วมกับนางสาวจิราภรณ์ โจทก์จึงให้นางสาวจิราภรณ์ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนโจทก์ไปก่อน โดยโจทก์มีนางสาวสุธินี มาเบิกความสนับสนุน เมื่อตรวจพิเคราะห์สำเนาโฉนดที่ดิน ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นางสาวสุธินี เป็นผู้จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทแก่นางสาวจิราภรณ์ภริยาของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 มิได้นำสืบโต้แย้งคัดค้านว่านางสาวสุธินีมีเหตุที่จะต้องมาเบิกความเป็นพยานโจทก์เพื่อเป็นปรปักษ์ต่อจำเลยที่ 1 นางสาวสุธินีย่อมเป็นประจักษ์พยานมีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับการขายที่ดินพิพาทเป็นอย่างดี คำเบิกความของ นางสาวสุธินีย่อมมีน้ำหนักรับฟังสนับสนุนคำเบิกความของโจทก์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จำเลยที่ 1 มิได้นำสืบยืนยันข้อเท็จจริงตามคำให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ตายแต่เพียงผู้เดียวแต่ประการใด เป็นเหตุให้พยานหลักฐานตามทางนำสืบโจทก์มีน้ำหนักรับฟังข้อเท็จจริงให้เป็นยุติได้ว่า นางสาวสุธินี จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแก่โจทก์และนางสาวจิราภรณ์ให้มีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน โดยนางสาวจิราภรณ์เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนโจทก์ อันถือได้ว่า โจทก์และนางสาวจิราภรณ์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินพิพาท เมื่อนางสาวจิราภรณ์ ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีของนางสาวจิราภรณ์และเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวจิราภรณ์ไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ไปขายให้แก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมไม่ยินยอมตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน นิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองไม่ผูกพันโจทก์ แม้จะรับฟังข้อเท็จจริงให้เป็นยุติตามที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้างในคำแก้ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทโดยเสียค่าตอบแทน แต่ข้อเท็จจริงปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า ในวันทำสัญญาขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 2 ทราบจากจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 เพื่อให้แบ่งแยกโฉนดที่ดินพิพาทหรือให้ใช้ราคาที่ดินพิพาทต่อศาลชั้นต้น คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณา แต่จำเลยทั้งสองยังคงยืนยันให้มีการจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทระหว่างกัน พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ถือไม่ได้ว่า ในขณะที่ทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 2 ได้กระทำโดยสุจริต โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของโจทก์ได้ และให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทและแบ่งแยกที่ดินพิพาทแก่โจทก์ตามคำฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมและมีคำขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองหรือใช้ราคาแทนเป็นเงิน 7,925,895.90 บาท เมื่อที่ดินที่พิพาทเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน และผลของการเพิกถอนก็เพื่อให้ที่ดินพิพาทกลับมาเป็นของโจทก์ จึงเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองเป็นคู่ความร่วมในคดีที่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แต่ในชั้นยื่นอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองกลับยื่นอุทธรณ์แยกกันโดยโต้แย้งว่า โจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้อง เมื่อที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 14 ไร่ 3 งาน 7.5 ตารางวา มีราคาประเมินตารางวาละ 1,150 บาท จึงคิดเป็นทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์เป็นเงิน 6,793,625 บาท จำเลยทั้งสองต่างเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาตามทุนทรัพย์คนละ 7,925,895.90 บาท ดังนั้น ค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ที่จำเลยทั้งสองเสียมาเมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนสูงกว่าที่จำเลยทั้งสองต้องชำระในกรณีที่ยื่นอุทธรณ์ร่วมกันจึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกินแก่จำเลยทั้งสองตามส่วนของค่าขึ้นศาลที่จำเลยแต่ละคนได้ชำระไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 150 วรรคท้าย นอกจากนี้ ในชั้นฎีกา โจทก์ยื่นฎีกาและวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนในชั้นฎีกาโดยชำระค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามาตามทุนทรัพย์ 7,925,895.90 บาท และนำค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ที่จำเลยทั้งสองต่างชำระเกินดังกล่าวมารวมคำนวณด้วย ซึ่งไม่ถูกต้อง จึงให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาและค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนในชั้นฎีกาที่ชำระเกินมาให้แก่โจทก์ด้วย
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 1492 เลขที่ดิน 402 ฉบับลงวันที่ 23 มกราคม 2560 ระหว่างจำเลยทั้งสอง เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรรมสิทธิ์ของโจทก์จำนวน 6 ใน 12 ส่วน แล้วให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของและแบ่งแยกที่ดินตามส่วนดังกล่าวให้แก่โจทก์ แต่ทั้งนี้เนื้อที่ทั้งหมดรวมแล้วจะต้องไม่เกิน 14 ไร่ 3 งาน 7.5 ตารางวา ตามที่โจทก์ขอ หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ตามส่วนที่จำเลยทั้งสองชำระเกินมาแก่จำเลยทั้งสองคนละ 90,581 บาท และให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 22,645 บาท กับค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนในชั้นฎีกา 181,162 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลนอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก