โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาเพิกถอนนิติกรรมสัญญาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 13015 เฉพาะส่วนฉบับลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2558 ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และเพิกถอนนิติกรรมสัญญาขายที่ดินโฉนดเลขที่ 13015 ฉบับลงวันที่ 12 เมษายน 2559 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 และเพิกถอนการจดทะเบียนในโฉนดที่ดินเพื่อให้ที่ดินเฉพาะส่วนของโจทก์กลับมาเป็นของโจทก์ตามเดิม หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา และหากไม่สามารถเพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินคืนแก่โจทก์ได้ไม่ว่าด้วยเหตุใดให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ราคาค่าที่ดินเป็นเงิน 620,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมตามหนังสือสัญญาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 13015 ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เฉพาะส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของนายปลีก (1 ใน 4 ส่วน) เพิกถอนนิติกรรมตามหนังสือสัญญาขายที่ดินโฉนดเลขที่ 13015 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เฉพาะส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของนายปลีก (1 ใน 4 ส่วน) เพื่อให้ที่ดินเฉพาะส่วนดังกล่าวกลับคืนสู่กองมรดกของนายปลีก หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสามฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า โจทก์ นางสาวทอง นางเอี้ยง และนายกิตติเป็นบุตรของนายปลีก (เจ้ามรดก) จำเลยที่ 1 เป็นบุตรของนางสาวทอง เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 13015 เนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 8 เศษ 1 ส่วน 10 ตารางวา มีชื่อโจทก์ นางสาวทอง นางเอี้ยง และนายปลีก เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน วันที่ 22 ตุลาคม 2539 นายปลีกถึงแก่ความตาย ต่อมาวันที่ 29 มิถุนายน 2548 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายปลีก หลังจากนั้นมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อนายปลีกเจ้ามรดกผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 13015 มาเป็นชื่อของโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกเฉพาะส่วนของนายปลีก ต่อมาวันที่ 29 กรกฎาคม 2558 โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายปลีกยื่นคำขอจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินเฉพาะส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของนายปลีกดังกล่าวให้แก่โจทก์เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในฐานะส่วนตัว และในวันเดียวกันโจทก์ทำหนังสือสัญญาให้และจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 13015 ส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยที่ดินตามสัญญาให้ประกอบด้วยที่ดินส่วนที่โจทก์รับโอนมรดกของนายปลีกมาดังกล่าวกับที่ดินส่วนที่โจทก์ถือกรรมสิทธิ์รวมอยู่เดิม ต่อมาวันที่ 12 เมษายน 2559 จำเลยที่ 1 โดยนายสายยัน ผู้รับมอบอำนาจ นางเอี้ยง และนายสายยันในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสาวทองอีกฐานะหนึ่งทำหนังสือสัญญาขายและจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 13015 ให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 หลังจากนั้นวันที่ 29 มกราคม 2561 นายกิตติหรือจำลองยื่นฟ้องโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 265/2561 ของศาลชั้นต้น ในข้อหายักยอกทรัพย์มรดก
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมตามสัญญาให้ที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และสัญญาขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 13015 เฉพาะส่วนของโจทก์ซึ่งประกอบด้วยที่ดินส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของนายปลีกที่โจทก์รับโอนมากับที่ดินส่วนที่โจทก์ถือกรรมสิทธิ์รวมอยู่เดิม ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมตามสัญญาให้ที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และสัญญาขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 13015 ส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของนายปลีกที่โจทก์รับโอนมา โจทก์ฎีกาขอให้เพิกถอนนิติกรรมตามสัญญาให้ที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และสัญญาขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 13015 ส่วนที่โจทก์ถือกรรมสิทธิ์รวมอยู่เดิมด้วย จำเลยทั้งสามฎีกาขอให้ยกฟ้องตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนี้เห็นสมควรหยิบยกกรณีที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมตามสัญญาให้ที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และสัญญาขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 13015 ส่วนที่โจทก์ถือกรรมสิทธิ์รวมอยู่เดิมซึ่งศาลล่างทั้งสองพิพากษาตรงกันให้ยกคำขอขึ้นวินิจฉัยเสียก่อน โดยกรณีนี้ คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า มีเหตุเพิกถอนนิติกรรมตามสัญญาให้และสัญญาขายดังกล่าวซึ่งเกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 13015 ส่วนที่โจทก์ถือกรรมสิทธิ์รวมอยู่เดิมหรือไม่ เห็นว่า ตามฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายว่าโจทก์โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 13015 ส่วนที่โจทก์ถือกรรมสิทธิ์รวมอยู่เดิมให้แก่จำเลยที่ 1 เพราะเหตุใด จึงรับฟังตามสำเนาหนังสือสัญญาให้ที่ดินเฉพาะส่วนได้ว่า โจทก์ให้ที่ดินส่วนนี้แก่จำเลยที่ 1 โดยสมัครใจ การแสดงเจตนาของโจทก์ในการทำนิติกรรมตามสัญญาให้ที่ดินส่วนดังกล่าวจึงไม่มีข้อบกพร่องตามกฎหมายอย่างใดที่จะเป็นเหตุให้เพิกถอนได้ และเมื่อไม่มีเหตุเพิกถอนสัญญาให้ที่ดินแล้ว กรณีถือว่าไม่มีเหตุจะเพิกถอนนิติกรรมสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 13015 ส่วนที่โจทก์ถือกรรมสิทธิ์รวมอยู่เดิมนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ในกรณีนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนกรณีที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมตามสัญญาให้ที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และสัญญาขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 13015 ส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของนายปลีกที่โจทก์รับโอนมา มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อแรกตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า นิติกรรมตามหนังสือสัญญาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 13015 ส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของนายปลีกที่โจทก์รับโอนมา ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมายมีผลให้จำเลยที่ 1 ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนดังกล่าว และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ซื้อต่อจากจำเลยที่ 1 ตามหนังสือสัญญาขายที่ดินจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินด้วย อันเป็นเหตุให้ต้องเพิกถอนนิติกรรมตามหนังสือสัญญาให้และหนังสือสัญญาขายที่ดินส่วนดังกล่าวตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาหรือไม่ เห็นว่า ตามสำเนาคำขอโอนมรดกเฉพาะส่วน สำเนาบันทึกถ้อยคำเรื่องผู้จัดการมรดกรับโอนมรดก และสารบัญจดทะเบียนในสำเนาโฉนดที่ดินเลขที่ 13015 ได้ความว่า โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายปลีกขอจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 13015 ส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของนายปลีกที่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายปลีกรับโอนมาให้แก่โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในฐานะที่โจทก์เป็นทายาทของนายปลีกเจ้ามรดก ดังนี้ การขอจดทะเบียนของโจทก์ดังกล่าวเป็นกรณีที่ผู้จัดการมรดกขอจดทะเบียนสิทธิในที่ดินให้แก่ทายาทต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 82 วรรคสอง ถือได้ว่าการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์มรดกได้กระทำโดยชอบตามกฎหมาย หากทายาทคนอื่นของนายปลีกเห็นว่าโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกจัดการมรดกไม่ถูกต้องก็เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกับโจทก์เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก เมื่อการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์มรดกดังกล่าวได้กระทำโดยชอบตามกฎหมายโจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน ดังนั้น นิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินส่วนดังกล่าวตามสัญญาให้ที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และสัญญาขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วจึงมีผลสมบูรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมตามหนังสือสัญญาให้ที่ดินและหนังสือสัญญาขายที่ดินส่วนดังกล่าวโดยวินิจฉัยว่า โจทก์โอนที่ดินส่วนดังกล่าวมาเป็นของโจทก์แล้วโอนให้แก่จำเลยที่ 1 โดยทายาทอื่นไม่ได้ยินยอม จึงเป็นการโอนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 ไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินและไม่มีสิทธินำไปโอนขายต่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ซื้อจากจำเลยที่ 1 จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสามในข้อนี้ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาต่อไปตามฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสามว่า มีเหตุเพิกถอนนิติกรรมตามสัญญาให้ที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และสัญญาขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 13015 ส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของนายปลีกที่โจทก์รับโอนมาตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วมีโจทก์ฝ่ายเดียวที่อุทธรณ์ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง แม้จำเลยทั้งสามไม่ได้อุทธรณ์แต่ได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์โดยกล่าวโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าวว่า ตามพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบฟังได้ว่าโจทก์ทำนิติกรรมสัญญาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 13015 ส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของนายปลีกที่โจทก์รับโอนมาโดยเสน่หาและโดยสมัครใจ จำเลยที่ 1 ไม่ได้หลอกลวงโจทก์ให้ทำนิติกรรม และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทส่วนดังกล่าวโดยสุจริต ดังนี้ ในชั้นอุทธรณ์จึงมีประเด็นดังกล่าวต้องวินิจฉัยเพราะคู่ความยังโต้เถียงกันอยู่ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น และปัญหาดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังไม่ได้วินิจฉัย แต่คดีได้มีการสืบพยานของคู่ความในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาใหม่ ในชั้นนี้จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 หลอกลวงให้โจทก์ทำนิติกรรมสัญญาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 13015 ส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของนายปลีกที่โจทก์รับโอนมา และจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับโอนที่ดินพิพาทส่วนดังกล่าวโดยไม่สุจริตตามที่โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างหรือไม่ เห็นว่า โจทก์คงมีตัวโจทก์เป็นพยานปากเดียวเบิกความว่า จำเลยที่ 1 และนางสาวทองมาหลอกลวงให้โอนที่ดินดังกล่าวโดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาสนับสนุน และจำเลยที่ 1 ก็เบิกความว่า ไม่ได้หลอกลวงโจทก์แต่โจทก์เรียกไปตกลงกันว่าโจทก์จะถอนชื่อตนออกจากโฉนดที่ดินเลขที่ 13015 และให้นางสาวทองถอนชื่อออกจากโฉนดที่ดินอีกแปลงหนึ่งที่มีโจทก์ร่วมถือกรรมสิทธิ์ จากนั้นโจทก์ไปจดทะเบียนยกที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ดังนี้ พยานโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และนางสาวทองมาหลอกลวงโจทก์ให้โอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ตามที่อ้างในฟ้อง นิติกรรมตามสัญญาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 13015 ส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของนายปลีกที่โจทก์รับโอนมาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่มีข้อบกพร่องตามกฎหมายอย่างใดที่จะเพิกถอนได้ เมื่อไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะเพิกถอนนิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 แล้วย่อมมีผลทำให้ไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมตามสัญญาขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 13015 ส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของนายปลีกที่โจทก์รับโอนมาได้เช่นเดียวกัน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซื้อที่ดินดังกล่าวโดยสุจริตหรือไม่จึงไม่เป็นปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไป ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 หลอกลวงให้โจทก์ทำนิติกรรมสัญญาให้ที่ดินและจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับโอนที่ดินดังกล่าวโดยไม่สุจริตนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย คำแก้อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามฟังขึ้น แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องของโจทก์ในส่วนที่ขอให้เพิกถอนนิติกรรมตามสัญญาให้ที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และสัญญาขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 13015 ส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของนายปลีกที่โจทก์รับโอนมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ