ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องว่า ทรัพย์สินทั้ง 5 รายการ คือ 1. เงินสดของผู้คัดค้านที่ 1 จำนวน 1,570,499.81 บาท 2. เงินฝากบัญชีออมทรัพย์ ธนาคาร ก. ชื่อบัญชีผู้คัดค้านที่ 2 มียอดคงเหลือ 208,583.66 บาท 3. เงินฝากบัญชีสะสมทรัพย์ ธนาคาร ร. ชื่อบัญชีผู้คัดค้านที่ 2 มียอดคงเหลือ 32,568.34 บาท 4. ที่ดินโฉนดเลขที่ 6587 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ผู้คัดค้านที่ 2 ราคาประเมิน 1,638,966 บาท 5. สลากออมสิน ชื่อผู้คัดค้านที่ 3 เลขที่ 01-0107-9-48-01238-5 มียอดเงินคงเหลือ 10,000 บาท เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด โดยได้มาจากการกระทำความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยผิดต่อกฎหมาย ขอให้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 51
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนและประกาศตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านที่ 1 ถึง 3 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดรายของผู้คัดค้านที่ 1 กับพวก จำนวน 5 รายการ รวมราคาประมาณ 2,397,651.81 บาท พร้อมดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินที่เกิดขึ้นตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 51
ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เงินสดจำนวน 1,570,499.81 บาท ของผู้คัดค้านที่ 1 เงินฝากบัญชีออมทรัพย์ ธนาคาร ก. ชื่อบัญชีผู้คัดค้านที่ 2 ยอดคงเหลือ 208,583.66 บาท เงินฝากบัญชีสะสมทรัพย์ ธนาคาร ร. ชื่อบัญชีผู้คัดค้านที่ 2 ยอดคงเหลือ 32,568.34 บาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 6587 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ผู้คัดค้านที่ 2 ราคาประเมิน 1,638,966 บาท สลากออมสิน ชื่อผู้คัดค้านที่ 3 ยอดเงินคงเหลือ 10,000 บาท รวมเป็นเงิน 3,460,617.81 บาท พร้อมดอกผลที่เกิดขึ้นตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 51 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 2 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกาให้ฎีกาเฉพาะที่เกี่ยวกับทรัพย์สินรายการที่ 3
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) ได้รับรายงานจากกองบังคับการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดว่า มีการดำเนินคดีผู้คัดค้านที่ 1 ในความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยผิดต่อกฎหมายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (2) และ 66 วรรคหนึ่ง เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2551 ศาลอาญาธนบุรีมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 3 ปี ตามคดีหมายเลขแดงที่ 1810/2551 ก่อนนี้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 3 ถูกจับกุมและดำเนินคดี โดยถูกกล่าวหาว่าร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำนวน 1,100 เม็ด น้ำหนักรวม 107.23 กรัม มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 1.512 กรัม ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 3 รับสารภาพในที่สุด ศาลอาญาธนบุรีมีคำพิพากษาลงโทษไปแล้ว ทรัพย์สินรายการที่ 1 เงินสดจำนวน 1,570,499.81 บาท เป็นของผู้คัดค้านที่ 1 ทรัพย์สินรายการที่ 2 เงินฝากบัญชีออมทรัพย์ ธนาคาร ก. และทรัพย์สินรายการที่ 3 เงินฝากบัญชีสะสมทรัพย์ ธนาคาร ร. มีชื่อผู้คัดค้านที่ 2 เป็นเจ้าของบัญชีทั้งสองรายการ ทรัพย์สินรายการที่ 4 ที่ดินโฉนดเลขที่ 6587 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง มีชื่อผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยรับโอนกรรมสิทธิ์จากผู้คัดค้านที่ 3 กับนางสาววงเดือน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ทรัพย์สินรายการที่ 5 สลากออมสิน ผู้คัดค้านที่ 3 มีชื่อเป็นผู้ฝาก ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 3 เคยอยู่กินฉันสามีภริยากัน ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นน้องสาวร่วมบิดามารดาเดียวกับผู้คัดค้านที่ 2
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ประการแรกว่า ทรัพย์สินรายการที่ 3 ซึ่งเป็นเงินฝากบัญชีสะสมทรัพย์ ธนาคาร ร. มีชื่อผู้คัดค้านที่ 2 เป็นเจ้าของเป็นต้นเงิน 32,484.24 บาท พร้อมดอกผลที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัย เพราะมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินที่มีชื่อผู้คัดค้านที่ 2 เป็นเจ้าของรวม 3 รายการ ตกเป็นของแผ่นดิน ได้แก่ ทรัพย์สินรายการที่ 2 เงินฝากบัญชีออมทรัพย์ ธนาคาร ก. จำนวนต้นเงิน 208,045.02 บาท พร้อมดอกผล ทรัพย์สินรายการที่ 3 เงินฝากบัญชีสะสมทรัพย์ ธนาคาร ร. จำนวนต้นเงิน 32,484.24 บาท พร้อมดอกผล และทรัพย์สินรายการที่ 4 ที่ดินโฉนดเลขที่ 6587 พร้อมสิ่งปลูกสร้างราคาประเมิน 1,638,966 บาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทรัพย์สินทั้ง 3 รายการ ตกเป็นของแผ่นดิน ผู้คัดค้านที่ 2 อุทธรณ์ว่า ทรัพย์สินทั้ง 3 รายการ ไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ขอให้ยกคำร้อง ซึ่งการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 2 ตกเป็นของแผ่นดินนั้น แม้ปัญหาว่าทรัพย์สินตามคำร้องแต่ละรายการเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือไม่ สามารถพิจารณาทรัพย์สินแต่ละรายการแยกจากกันได้ แต่การพิจารณาเกี่ยวกับทรัพย์สินแต่ละรายการก็ต้องพิจารณาในประเด็นหลักเดียวกันว่ามีการกระทำความผิดมูลฐานตามคำร้องหรือไม่ และสำหรับผู้คัดค้านที่อ้างว่าเป็นเจ้าของที่แท้จริงหรือเป็นผู้รับโอนโดยสุจริตตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง อาจต้องพิจารณาว่าผู้คัดค้านนั้นเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินหรือไม่ด้วย ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับทรัพย์สินแต่ละรายการของผู้คัดค้านแต่ละราย จึงไม่ได้แยกเป็นแต่ละรายการอย่างแท้จริง และไม่ได้ขึ้นอยู่กับการแยกทรัพย์สินเป็นแต่ละรายการตามคำร้องของผู้ร้อง ซึ่งอาจเกิดลักลั่นได้ ดังนั้น ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ที่จะพิจารณาเกี่ยวกับข้อห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงจึงต้องเป็นไปตามราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่ผู้คัดค้านแต่ละรายอุทธรณ์คัดค้านเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้คัดค้านรายนั้นรวมกัน กรณีนี้ทรัพย์สินรายการที่ 3 ของผู้คัดค้านที่ 2 แม้มีราคาประเมิน 32,484.24 บาท แต่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทที่ผู้คัดค้านที่ 2 อุทธรณ์รวม 3 รายการ มีราคาประเมินรวม 1,879,495.26 บาท คดีของผู้คัดค้านที่ 2 เกี่ยวกับทรัพย์สินทั้ง 3 รายการ จึงเกินห้าหมื่นบาท ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 2 เกี่ยวกับทรัพย์สินรายการที่ 3 ด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ฟังขึ้น แต่เพื่อให้คดีไม่ล่าช้า ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 2 เกี่ยวกับทรัพย์สินรายการที่ 3 ในประเด็นว่า ทรัพย์สินรายการที่ 3 เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอันจะตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง หรือไม่ โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย เห็นว่า ทรัพย์สินรายการที่ 3 ซึ่งเป็นเงินฝากบัญชีสะสมทรัพย์ ธนาคาร ร. มีชื่อผู้คัดค้านที่ 2 เป็นเจ้าของ เป็นทรัพย์สินที่ได้จากการตรวจยึดตามคำสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ที่ 3605/2551 ลงวันที่ 30 กันยายน 2551 เนื่องจากตรวจสอบพบว่าผู้คัดค้านที่ 2 มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 3 และอาจได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าบัญชีเงินฝากดังกล่าวเปิดบัญชีเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2547 อันเป็นเวลาภายหลังจากผู้คัดค้านที่ 1 ถูกจับกุมในความผิดฐานร่วมกับผู้คัดค้านที่ 3 มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ในวันที่ 5 ตุลาคม 2545 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวผู้คัดค้านที่ 1 ได้อยู่กินฉันสามีภริยากับผู้คัดค้านที่ 3 และผู้คัดค้านที่ 2 เป็นพี่ชายร่วมบิดามารดาเดียวกับผู้คัดค้านที่ 3 และเคยรับเป็นทนายความแก้ต่างคดีอาญาในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 3 แสดงให้เห็นว่า ผู้คัดค้านที่ 2 มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้คัดค้านที่ 1 ถือเป็นผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐาน จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 51 วรรคสาม ที่ผู้คัดค้านที่ 2 อ้างว่าเงินในบัญชีเงินฝากดังกล่าวเป็นเงินสะสมจากการประกอบอาชีพสุจริต โดยมีหนังสือรับรองเงินเดือนจากบริษัทที่ผู้คัดค้านที่ 2 เคยทำงาน และหนังสือรับรองบริษัทของผู้คัดค้านที่ 2 มาแสดง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของผู้คัดค้านที่ 2 ไม่ปรากฏรายได้ที่สอดคล้องกับรายรับตามที่ผู้คัดค้านที่ 2 กล่าวอ้าง พยานหลักฐานที่ผู้คัดค้านที่ 2 นำสืบมาไม่สามารถรับฟังหักล้างข้อสันนิษฐานได้ว่า ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นเจ้าของเงินฝากบัญชีสะสมทรัพย์ ธนาคาร ร. จริง ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ทรัพย์สินรายการที่ 3 ตกเป็นของแผ่นดินนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ