โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91, 288, 371 ริบอาวุธมีดของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและ ให้การใหม่เป็นรับสารภาพข้อหาพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ส่วนข้อหาฆ่าผู้อื่น จำเลยให้การต่อสู้อ้างเหตุป้องกัน
ระหว่างพิจารณา นางสาวกัญญาภัทร มารดาผู้ตายที่ 1 และนางอำนวย มารดาผู้ตายที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาฆ่าผู้อื่น ส่วนข้อหาพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร โจทก์ร่วมทั้งสองไม่เป็นผู้เสียหาย จึงไม่อนุญาต และให้เรียกนางสาวกัญญาภัทรว่า โจทก์ร่วมที่ 1 เรียกนางอำนวยว่า โจทก์ร่วมที่ 2
โจทก์ร่วมที่ 1 และนายบุญเกื้อ ผู้ร้องที่ 1 บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นค่าปลงศพ 200,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะโจทก์ร่วมที่ 1 และผู้ร้องที่ 1 รวมเป็นเงิน 4,032,000 บาท ค่าขาดแรงงาน รวมเป็นเงิน 2,016,000 บาท ค่าเสียหายอย่างอื่นอันไม่ใช่ตัวเงิน 1,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 7,248,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันเกิดเหตุแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และผู้ร้องที่ 1
โจทก์ร่วมที่ 2 และนายเปีย ผู้ร้องที่ 2 บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นค่าปลงศพ 240,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะโจทก์ร่วมที่ 2 และผู้ร้องที่ 2 จำนวน 4,500,000 บาท ค่าขาดแรงงาน 1,800,000 บาท ค่าการศึกษาและค่าครองชีพของนางสาวอธิษฐาน บุตรโจทก์ร่วมที่ 2 และผู้ร้องที่ 2 เป็นเงิน 360,000 บาท ค่าเสียหายอย่างอื่นอันไม่ใช่ตัวเงิน 1,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 7,900,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันเกิดเหตุแก่โจทก์ร่วมที่ 2 และผู้ร้องที่ 2
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ระหว่างพิจารณา ผู้ร้องที่ 1 ขอถอนคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะส่วนของตน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 69, 371 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่นโดยป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ จำคุกกระทงละ 12 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 24 ปี ฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ 1,000 บาท เฉพาะความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกกระทงละ 8 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 16 ปี ความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงปรับ 500 บาท รวมจำคุก 16 ปี และปรับ 500 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบอาวุธมีดปลายแหลมของกลาง ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของโจทก์ร่วมทั้งสอง และยกคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วมทั้งสองและผู้ร้องที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ
โจทก์ร่วมทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียว จำคุก 12 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 8 ปี ให้จำเลยชำระเงิน 566,666.66 บาท แก่โจทก์ร่วมที่ 1 ให้ชำระเงิน 477,585.33 บาท แก่โจทก์ร่วมที่ 2 และผู้ร้องที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 จากต้นเงินแต่ละจำนวนจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมส่วนแพ่งให้เป็นพับ
โจทก์ โจทก์ร่วมทั้งสองและจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของโจทก์ร่วมทั้งสอง โจทก์ร่วมทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ร่วมทั้งสองไม่ได้ฎีกาในประเด็นนี้ คดีจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของโจทก์ร่วมทั้งสองแล้ว โจทก์ร่วมทั้งสองจึงมิได้เป็นคู่ความที่จะมีสิทธิฎีกาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ร่วมทั้งสองมานั้นเป็นการมิชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เหตุการณ์ตั้งแต่ที่ผู้ตายที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ย้อนศร โดยมีผู้ตายที่ 2 เดินมาพร้อม ๆ กัน ผู้ตายทั้งสองชี้มือไปด้านหน้าและถือท่อนเหล็กมุ่งตรงไปทางรถของจำเลยจนพ้นจากหน้าจอภาพไปจนถึงตอนที่จำเลยวิ่งไล่แทงผู้ตายที่ 2 กลับเข้ามาในจอภาพ เวลา 0:00:22 ถึง 0:00:29 ใช้เวลาห่างกันเพียง 7 วินาที เท่านั้น และเห็นจำเลยเพียงฝ่ายเดียวที่ถืออาวุธมีดวิ่งไล่แทงและฟันผู้ตายที่ 2 ในขณะที่ในมือของผู้ตายที่ 2 ไม่มีอาวุธ ก่อนที่ผู้ตายที่ 2 จะวิ่งหนีแล้วจำเลยใช้มือดึงชายเสื้อไว้แล้วใช้อาวุธมีดจ้วงแทงผู้ตายที่ 2 อีกหลายครั้ง เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่วินาที ผู้ตายทั้งสองไม่น่าจะมีเวลาเพียงพอที่จะเข้าไปทุบฝากระโปรงหน้ารถ หรือพยายามงัดแงะเปิดประตูรถด้านหน้าซ้ายฝั่งที่จำเลยนั่ง แล้วร่วมกันใช้ท่อนเหล็กแทงและตีจำเลยหลายครั้งตามที่จำเลยอ้าง ประกอบกับตามแฟ้มภาพเคลื่อนไหวและวัตถุพยานหมาย เห็นได้ว่า ขณะที่จำเลยย้อนกลับไปทำร้ายผู้ตายที่ 1 นั้น ผู้ตายที่ 1 ยืนคร่อมรถจักรยานยนต์ที่จอดอยู่ ไม่ปรากฏว่ามีพฤติการณ์ที่จะลงไปช่วยผู้ตายที่ 2 เข้ารุมทำร้ายจำเลย เชื่อได้ว่า สาเหตุที่จำเลยลงจากรถไปใช้อาวุธมีดแทงทำร้ายผู้ตายทั้งสองเกิดจากการที่ผู้ตายทั้งสองทุบทำลายรถยนต์ของจำเลยมาหลายครั้งก่อนถึงจุดเกิดเหตุ ทำให้จำเลยไม่พอใจ เมื่อจำเลยเห็นผู้ตายทั้งสองย้อนกลับมาจึงหยิบอาวุธมีดแล้วลงจากรถไปแทงผู้ตายทั้งสอง พฤติกรรมดังกล่าวแสดงว่าจำเลยสมัครใจเข้าทะเลาะวิวาทกับผู้ตายทั้งสอง ทั้งบาดแผลหลายแห่งทีปรากฏบนร่างกายของผู้ตายทั้งสองล้วนแต่เป็นแผลกว้างและลึกถึงอวัยวะภายใน เป็นเหตุให้ผู้ตายทั้งสองเสียชีวิต ย่อมเกิดจากเจตนาแทงทำร้าย มิใช่บาดแผลที่เกิดจากการกวัดแกว่งอาวุธมีดไปมาเพื่อป้องกันตัวตามที่จำเลยฎีกา เมื่อคดีรับฟังได้ว่าจำเลยสมัครใจเข้าทะเลาะวิวาทกับผู้ตายทั้งสอง แม้ผู้ตายทั้งสองจะได้ใช้สิ่งของทุบและใช้เท้าถีบรถยนต์ของจำเลยก่อนก็ตาม จำเลยก็ไม่อาจอ้างว่าเป็นการกระทำเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 ได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า การที่จำเลยใช้อาวุธมีดแทงทำร้ายผู้ตายทั้งสองจนถึงแก่ความตาย เป็นการกระทำกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกัน เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายที่ 2 หลายครั้ง แล้วย้อนกลับมาแทงผู้ตายที่ 1 ขณะที่ผู้ตายที่ 1 นั่งคร่อมรถจักรยานยนต์ โดยไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่าผู้ตายที่ 1 จะลงจากรถจักรยานยนต์เข้าไปช่วยเหลือผู้ตายที่ 2 หรือเข้าไปทำร้ายจำเลยแต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่า จุดมุ่งหมายในการแทงของจำเลยแยกออกจากกันได้ว่าจำเลยประสงค์จะแทงผู้ตายคนใด มิใช่แทงในขณะที่มีการชุลมุนกัน แม้การแทงผู้ตายทั้งสองจะเกิดจากมูลเหตุเดียวกันและต่อเนื่องกัน ก็สามารถแยกเจตนาในขณะที่จำเลยลงมือกระทำความผิดได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า ค่าสินไหมทดแทนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้จำเลยชดใช้แก่โจทก์ร่วมทั้งสองและผู้ร้องที่ 2 นั้นสูงเกินไปหรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าจำเลยกับผู้ตายทั้งสองสมัครใจเข้าวิวาทกัน และผู้ตายทั้งสองเป็นฝ่ายเข้ามาหาเรื่องจำเลยกับพวกก่อนก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์ที่จำเลยแทงผู้ตายทั้งสองอย่างรุนแรงหลายครั้งจนเกิดบาดแผลทั่วร่างกาย และถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา แม้ผู้ตายทั้งสองจะกระทำละเมิดต่อทรัพย์สินของจำเลยก่อนก็ตาม แต่พฤติการณ์ที่ผู้ตายที่ 2 ไม่มีอาวุธในมือ วิ่งหนีจำเลยแล้วจำเลยวิ่งไล่ตามไปจ้วงแทง แล้วย้อนกลับมาแทงผู้ตายที่ 1 ขณะที่ผู้ตายที่ 1 นั่งคร่อมรถจักรยานยนต์อยู่ โดยไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่าผู้ตายที่ 1 จะลงจากรถจักรยานยนต์ไปช่วยเหลือผู้ตายที่ 2 อันเป็นการรุมทำร้ายจำเลยหรือลงมาต่อสู้กับจำเลยแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงเป็นเรื่องร้ายแรงยิ่งกว่าการกระทำละเมิดของผู้ตายทั้งสอง ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ร่วมทั้งสองและผู้ร้องที่ 2 เรียกร้องนั้นเป็นการคาดเดาเอาเองและสูงเกินส่วนไม่เป็นความจริง จำเลยก็ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านในรายละเอียดว่าสูงเกินไปอย่างไร หรือไม่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงอย่างไร ซึ่งตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นได้ว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยแยกแยะถึงค่าสินไหมทดแทนในแต่ละรายการไว้โดยละเอียดแล้ว เมื่อพิจารณาประกอบกับพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดที่จำเลยกระทำต่อผู้ตายทั้งสองแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยให้จำเลยรับผิดในค่าสินไหมทดแทนสองในสามส่วน โดยกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 เป็นเงิน 566,666.66 บาท ให้แก่โจทก์ร่วมที่ 2 และผู้ร้องที่ 2 รวมเป็นเงิน 477,585.33 บาท นั้น พอสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ในระหว่างยื่นฎีกา มีประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยพระราชกำหนดดังกล่าวได้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และมาตรา 224 วรรคแรก เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 ซึ่งตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นอัตราร้อยละ 3 ต่อปี บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี ตามมาตรา 224 วรรคแรก รวมเป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยตามมาตรา 7 ใหม่ ที่อาจปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาและบวกด้วยอัตราเพิ่มดังกล่าว แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ศาลฎีกาจึงต้องกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามบทบัญญัติดังกล่าว ปัญหาเรื่องอัตราดอกเบี้ยขัดต่อกฎหมายหรือไม่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและกำหนดดอกเบี้ยให้ถูกต้องตามพระราชกำหนดดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 12 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 24 ปี ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 16 ปี เมื่อรวมกับความผิดฐานอื่นแล้ว เป็นจำคุก 16 ปี และปรับ 500 บาท และให้ปรับเปลี่ยนดอกเบี้ยในต้นเงินค่าสินไหมทดแทนเป็นอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ หากกระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้นแต่ต้องไปเกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งชั้นฎีกาให้เป็นพับ