โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80, 83, 91, 288, 371, 376 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 4, 7, 8, 9, 18, 19 ริบอาวุธปืน 2 กระบอก และลูกปรายกระสุนปืนลูกซอง 2 ลูก ของกลาง
จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา นางสาว ม. ผู้ร้องที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาของผู้เสียหาย และนาง ว. ผู้ร้องที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาของผู้ตาย ยื่นคำร้องขอให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 1,250,000 บาท และ 2,250,000 บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยนับแต่เดือนสิงหาคม 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องทั้งสอง ต่อมาผู้ร้องทั้งสองขอถอนคำร้อง ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 371, 376 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 (1), 18 การกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำความผิดจำเลยทั้งห้าอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษคนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น และฐานร่วมกันยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้าน หรือที่ชุมนุมชน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 10 ปี ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 3 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธมีดติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับคนละ 500 บาท ฐานฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จำคุกคนละ 10 วัน จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น คงจำคุกคนละ 5 ปี ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คงจำคุกคนละ 3 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คงจำคุกคนละ 1 เดือน 15 วัน ฐานร่วมกันพาอาวุธมีดติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร คงปรับคนละ 250 บาท ฐานฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน คงจำคุกคนละ 5 วัน รวมจำคุกคนละ 5 ปี 4 เดือน 20 วัน และปรับคนละ 250 บาท ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยทั้งห้าไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเขต 11 จังหวัดลพบุรี มีกำหนดขั้นต่ำคนละ 4 ปี ขั้นสูงคนละ 5 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 142 (1) ถ้าจำเลยทั้งห้าอายุครบ 24 ปีบริบูรณ์แล้วยังไม่ได้รับการฝึกอบรมครบกำหนดให้ส่งตัวจำเลยทั้งห้าไปจำคุกไว้ในเรือนจำจนครบกำหนดระยะเวลาที่เหลืออยู่ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 142 วรรคท้าย หากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระค่าปรับ ให้ส่งตัวจำเลยทั้งห้าไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเขต 11 จังหวัดลพบุรี มีกำหนด 1 วัน ทั้งนี้โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ริบอาวุธปืน 2 กระบอก และลูกปรายกระสุนปืนลูกซอง 2 ลูก ของกลาง
จำเลยที่ 2 และที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก?เป็นว?า หากจำเลยทั้งห้าอายุครบ 24 ปีบริบูรณ์ก่อนได้รับการฝึกอบรมหรือยังรับการฝึกอบรมไม่ครบกำหนดเวลาขั้นต่ำให้ส่งตัวจำเลยทั้งห้าไปจำคุกไว้ในเรือนจำจนครบกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำที่เหลืออยู่ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 และที่ 5 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีนี้ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 5 ให้จำคุกและปรับ แต่ยังคงเปลี่ยนโทษจำคุกและปรับให้ส่งตัวจำเลยที่ 2 และที่ 5 ไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมและส่งตัวไปจำคุกหลังจากอายุครบ 24 ปีบริบูรณ์ อันเป็นการกำหนดให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษอาญา ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 142 (1) และวรรคท้าย ดังนั้น ที่จำเลยที่ 2 และที่ 5 ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษจำคุกซึ่งเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลเกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามมาตรา 180 ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 5 จึงต้องห้ามฎีกาตามมาตรา 182/1 วรรคหนึ่ง และไม่มีบทบัญญัติใดให้มีการอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาดังกล่าวได้ เพราะหากกฎหมายประสงค์จะให้มีการอนุญาตให้ฎีกาได้แล้ว ก็ชอบที่จะบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งเช่นเดียวกับการอนุญาตให้อุทธรณ์ตามมาตรา 181 และแม้ปัญหาดังกล่าวจะเป็นปัญหาข้อเท็จจริง กรณีก็ไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 โดยอาศัยพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 6 มาใช้บังคับโดยอนุโลมได้ เพราะเป็นกรณีที่มีบทบัญญัติเป็นการเฉพาะแล้ว การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นเห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา และศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 5 มานั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 5