โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบหกร่วมกันขนย้ายแท่งปูนหรือแท่งแบริเออร์ที่ปิดทางเข้าออกหมู่บ้านโจทก์ที่ 1 จำนวน 2 แห่ง และให้รื้อถอนป้อมยามที่ปิดทางเข้าออกทางสาธารณประโยชน์ หากจำเลยทั้งสิบหกไม่ดำเนินการ ให้ศาลแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ดำเนินการ โดยให้จำเลยทั้งสิบหกเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการขนย้ายแท่งปูนหรือแท่งแบริเออร์ดังกล่าวออกไปจากทางสาธารณประโยชน์ ให้จำเลยทั้งสิบหกร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อไปอีกวันละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสิบหกจะหยุดการทำละเมิด เปิดเส้นทางเข้าออก 2 แห่ง และรื้อถอนป้อมยามที่ปิดทางเข้าออกอยู่
จำเลยทั้งสิบหกให้การในทำนองเดียวกันและจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้อง การกระทำของโจทก์ทั้งสองและสมาชิกหมู่บ้าน น. ที่ใช้สาธารณูปโภคภายในหมู่บ้าน พ. โดยพลการ เป็นการจงใจทำละเมิดต่อจำเลยทั้งสิบหกและสมาชิกหมู่บ้าน พ. ขอให้บังคับห้ามโจทก์ทั้งสองและสมาชิกหมู่บ้าน น. ใช้ถนนเข้าออกภายในหมู่บ้าน พ. และห้ามเข้ามาเกี่ยวข้องในหมู่บ้าน พ. อีกต่อไป ให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหาย 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และค่าเสียหายเดือนละ 300,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะหยุดทำละเมิดแก่จำเลยที่ 1
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและยกฟ้องแย้ง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งสิบหกให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสิบหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกิน 300 บาท แก่จำเลยทั้งสิบหก ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องเดิมและฟ้องแย้งในชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสอง และจำเลยทั้งสิบหกฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร น. ตามพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มีโจทก์ที่ 2 เป็นประธานคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ. ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเช่นเดียวกัน มีจำเลยที่ 2 เป็นประธานคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร หมู่บ้าน น. ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังหมู่บ้าน พ. บริษัท พ. ได้รับอนุญาตให้จัดสรรที่ดินใช้ชื่อโครงการว่า "หมู่บ้าน พ." ต่อมาภายหลังเมื่อมีการจำหน่ายบ้านในโครงการหมดแล้ว บริษัท ร. ได้รับอนุญาตให้จัดสรรที่ดินใช้ชื่อโครงการว่า "หมู่บ้าน น." โดยก่อนหน้านั้นบริษัท ร. ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจัดสรรที่ดินกลุ่มเดียวกับบริษัท พ. ได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 172178 เนื้อที่ 85 ตารางวา พร้อมบ้านที่อยู่ภายในโครงการหมู่บ้าน พ. จากนายบัญชา แล้วทำการรื้อถอนบ้านและรั้วของโครงการหมู่บ้าน พ. ออก และสร้างถนนปูด้วยอิฐตัวหนอนเชื่อมระหว่างหมู่บ้านทั้งสองเข้าด้วยกัน ปี 2536 มีการร้องเรียนให้ตรวจสอบการจัดสรรที่ดินทั้งสองโครงการดังกล่าว สำนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรีดำเนินการตรวจสอบ โดยนางสาววรินทิพ ในฐานะตัวแทนบริษัท ร. และกรรมการบริษัท พ. ให้ถ้อยคำยอมรับว่า การสร้างถนนเชื่อมกันข้างต้น เป็นการก่อสร้างถนนชั่วคราวเพื่อให้ลูกค้าโครงการหมู่บ้าน น. ผ่านเข้าชมโครงการและเพื่อการขนส่งวัสดุก่อสร้าง มิได้มีเจตนาเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการโดยเชื่อมหมู่บ้านทั้งสองเข้าด้วยกัน และจะทำการปิดกั้นถนนระหว่างโครงการทั้งสองให้เป็นไปตามแผนผังโครงการที่ขอจัดสรร แต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2543 ก่อนพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มีผลใช้บังคับบริษัท พ. นำถนนภายในโครงการหมู่บ้าน พ. เนื้อที่ 12 ไร่ 1 งาน 58 ตารางวา ไปจดทะเบียนโอนเป็นทางสาธารณประโยชน์ ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้คณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดนนทบุรี ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 โดยสั่งให้บริษัท พ. ผู้จัดสรรที่ดินดำเนินการจัดทำรั้ว กำแพง หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้ประโยชน์ในลักษณะเดียวกันลงในขอบถนนของหมู่บ้าน พ. บริเวณแปลงที่ดินที่มีการรื้อถอนบ้านและรั้วกำแพงออก จำเลยทั้งสิบหกร่วมกันนำแท่งปูนไปวางปิดกั้นไม่ให้โจทก์ทั้งสองและสมาชิกในโครงการหมู่บ้าน น. เข้ามาใช้ถนนภายในโครงการหมู่บ้าน พ.
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองและสมาชิกของโจทก์ที่ 1 ในโครงการหมู่บ้าน น. มีสิทธิใช้ถนนภายในโครงการหมู่บ้าน พ. หรือไม่ เห็นว่า โครงการหมู่บ้าน พ. มีลักษณะเป็นหมู่บ้านปิด มีรั้วกำแพงกั้นเขตล้อมรอบ และมีทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะคือซอยท่าอิฐเพียงทางเดียวเท่านั้น การที่บริษัท พ. ในฐานะผู้จัดสรรทำถนนและรั้วกำแพงล้อมรอบที่ดินของโครงการที่จัดสรร ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการสัญจรและรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้ที่อยู่อาศัยในโครงการโดยเฉพาะ มิได้หมายที่จะให้บุคคลภายนอกเข้ามาใช้ถนนร่วมกับผู้ซื้อที่ดินและบ้านในโครงการดังกล่าวด้วย ที่บริษัท ร. ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 172178 พร้อมบ้านในโครงการหมู่บ้าน พ. แล้วรื้อถอนบ้านและรั้วกำแพงออก ก่อสร้างเป็นถนนเชื่อมระหว่างหมู่บ้านทั้งสองโครงการเข้าด้วยกัน สภาพของถนนปูด้วยอิฐตัวหนอน มีลักษณะแตกต่างจากถนนภายในโครงการหมู่บ้าน พ. ที่ก่อสร้างเป็นคอนกรีตอย่างถาวร อันเจือสมกับสำเนาบันทึกถ้อยคำ ที่นางสาววรินทิพ ตัวแทน บริษัท ร. และกรรมการบริษัท พ. ให้ถ้อยคำยืนยันต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่า การสร้างถนนเชื่อมกันข้างต้นเป็นเพียงชั่วคราวเพื่อให้ลูกค้าโครงการหมู่บ้าน น. ผ่านเข้าชมโครงการ และเพื่อการขนส่งวัสดุก่อสร้าง มิได้มีเจตนาเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการโดยเชื่อมหมู่บ้านทั้งสองเข้าด้วยกัน และจะทำการปิดกั้นถนนระหว่างโครงการทั้งสองให้เป็นไปตามแผนผังโครงการที่ขอจัดสรร กอปรกับโครงการหมู่บ้าน น. มีทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะทางซอยท่าอิฐ - บางรักน้อย อยู่แล้ว และปัจจุบันใช้เป็นเส้นทางผ่านเข้าออกหมู่บ้าน เช่นนี้ การก่อสร้างถนนปูด้วยอิฐตัวหนอนเชื่อมหมู่บ้านทั้งสองนั้น หาได้มีเจตนาตั้งแต่แรกที่จะให้ผู้อาศัยในโครงการหมู่บ้าน น. ผ่านเข้ามาใช้ถนนในโครงการหมู่บ้าน พ. ไม่ แม้ต่อมาบริษัท พ. ได้จดทะเบียนโอนถนนทั้งหมดภายในโครงการหมู่บ้าน พ. เป็นทางสาธารณประโยชน์ก็ตาม แต่เชื่อว่าได้กระทำไปเพียงเพื่อให้การเป็นไปตามประกาศของคณะปฏิบัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคสอง อันจะทำให้หน้าที่ในการเป็นผู้บำรุงรักษาถนนของบริษัท พ. ตามข้อ 30 วรรคหนึ่ง ตกแก่หน่วยงานของรัฐซึ่งปัจจุบันคือองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักน้อยเท่านั้น ถนนภายในโครงการหมู่บ้าน พ. ยังคงมีอยู่สำหรับการใช้ประโยชน์เฉพาะจำเลยที่ 1 และสมาชิกของจำเลยที่ 1 ในโครงการหมู่บ้าน พ. โจทก์ทั้งสองและสมาชิกของโจทก์ที่ 1 ในโครงการหมู่บ้าน น. ไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะเข้ามาใช้ถนนดังกล่าวได้ เมื่อได้วินิจฉัยดังนี้แล้วจำเลยทั้งสิบหกย่อมใช้สิทธิขัดขวางด้วยการนำแท่งปูนมาวางปิดกั้นเพื่อไม่ให้โจทก์ทั้งสองและสมาชิกของโจทก์ที่ 1 ผ่านเข้ามาใช้ถนนในโครงการหมู่บ้าน พ. ได้ ไม่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสิบหกจึงไม่จำต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสิบหกว่า โจทก์ทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยที่ 1 หรือไม่เพียงใด และจำเลยทั้งสิบหกจะขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามโจทก์ทั้งสองกับสมาชิกของโจทก์ที่ 1 ในโครงการหมู่บ้าน น. เข้าไปเกี่ยวข้องกับถนนพิพาทได้หรือไม่ คดีนี้คงมีเพียงจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟ้องแย้งให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยที่ 1 กับมีคำขอห้ามโจทก์ทั้งสองและสมาชิกในโครงการหมู่บ้าน น. เข้ามาใช้ถนนพิพาท จำเลยอื่นนอกนั้นขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 16 ในข้อนี้ และเห็นว่าที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาขอให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 เดือนละ 300,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะหยุดทำละเมิดนั้น ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการนิติบุคคลโจทก์ที่ 1 ว่า ปัจจุบันสมาชิกในโครงการหมู่บ้าน น. สามารถเดินทางเข้าออกหมู่บ้านโดยใช้เส้นทางที่ทำขึ้นใหม่ทางด้านหลังของหมู่บ้าน แต่จะผ่านทางโครงการหมู่บ้าน พ. ไม่ได้ ขณะที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่ได้นำพยานหลักฐานอื่นใดมาสืบให้ปรากฏแน่ชัดว่า ภายหลังวันที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟ้องแย้งโจทก์ทั้งสองแล้ว โจทก์ทั้งสองยังคงร่วมกันใช้ถนนพิพาทต่อไปอีก จึงเห็นสมควรไม่กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อย่างไรก็ดีจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชอบที่จะขอและศาลมีอำนาจที่จะออกคำสั่งห้ามโจทก์ทั้งสองและสมาชิกของโจทก์ที่ 1 ในโครงการหมู่บ้าน น. เข้าไปเกี่ยวข้องกับถนนพิพาทภายในโครงการหมู่บ้าน พ. อันเป็นการงดเว้นกระทำการซ้ำอีกในภายภาคหน้าได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องแย้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ห้ามโจทก์ทั้งสองและสมาชิกของโจทก์ที่ 1 ในโครงการหมู่บ้าน น. เข้าไปเกี่ยวข้องกับถนนพิพาทภายในโครงการหมู่บ้าน พ. อีกต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องเดิมและฟ้องแย้งในชั้นฎีกาให้เป็นพับ