โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 266, 268, 83, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 83, 91 ให้ประทับฟ้อง (ที่ถูก ข้อหาอื่นให้ยก)
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 4 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 4 ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกา โดยศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาฉบับวันที่ 21 และ 28 กุมภาพันธ์ 2563 เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย และไม่รับฎีกาฉบับวันที่ 15 เมษายน 2563
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับคำร้องของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฉบับลงวันที่ 15 มกราคม 2564 ที่ขอให้ศาลฎีการับฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไว้พิจารณาทั้งหมดนั้น เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในปัญหาข้อเท็จจริงก็ดี หรือมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฉบับวันที่ 15 เมษายน 2563 ก็ดี หากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าว ก็ชอบที่จะฎีกาโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกานั้นโดยทำเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งยื่นต่อศาลฎีกาต่อไปได้ภายในกำหนด 15 วัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 224 หาใช่ทำเป็นคำร้องโดยอ้างเหตุว่าสามารถพูดคุยกับโจทก์จนเป็นที่เข้าใจกันดี โดยโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แล้วขอให้ศาลฎีการับฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไว้พิจารณาเช่นนี้ ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด จึงให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฉบับดังกล่าวเสีย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ ซึ่งในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 โดยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยที่ 3 เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดากับนางจำรัส เจ้ามรดกซึ่งถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2560 ส่วนบิดามารดา สามี และบุตรของนางจำรัสได้ถึงแก่ความตายไปก่อนนางจำรัสแล้ว โจทก์และจำเลยที่ 3 จึงเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกของนางจำรัส เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2559 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันปลอมพินัยกรรมของนางจำรัสขึ้นทั้งฉบับ โดยจัดพิมพ์ข้อความในพินัยกรรมว่านางจำรัสยกที่ดินโฉนดเลขที่ 137761 พร้อมบ้านเลขที่ 206 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 แต่เพียงผู้เดียว และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จัดให้นางจำรัสซึ่งขณะนั้นมีอาการของโรคสมองเสื่อมไม่สามารถจดจำบุคคลรอบข้าง พูดคุยไม่รู้เรื่อง และไม่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ พิมพ์ลายนิ้วมือในช่องผู้ทำพินัยกรรม พฤติการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ว่านางจำรัสไม่รู้ถึงสาระสำคัญของการกระทำตนเองในการพิมพ์ลายนิ้วมือลงบนเอกสารดังกล่าว ถือไม่ได้ว่านางจำรัสมีเจตนาทำพินัยกรรม พินัยกรรมที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันจัดทำขึ้นย่อมไม่มีผลบังคับเป็นพินัยกรรมแต่ประการใด นอกจากนางจำรัสซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการทำปลอมขึ้นซึ่งพินัยกรรมฉบับนี้จะเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานปลอมพินัยกรรมอันเป็นเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 แล้ว โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมของนางจำรัสก็ถือเป็นผู้เสียหายอีกคนหนึ่งด้วย เพราะหากพินัยกรรมปลอมฉบับนี้ถูกยกขึ้นกล่าวอ้างว่าเป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์ใช้บังคับได้ โจทก์ซึ่งเป็นแต่เพียงทายาทโดยธรรม มิใช่ทายาทตามพินัยกรรม ย่อมไม่มีสิทธิได้รับมรดกของนางจำรัสในส่วนที่เป็นที่ดินพร้อมบ้านซึ่งกำหนดไว้ในพินัยกรรมตามสิทธิที่ควรจะได้ในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรม ถือได้ว่าการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กระทบต่อส่วนได้เสียของโจทก์ในการรับมรดกของนางจำรัสอันเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องด้วยบทนิยามคำว่า "ผู้เสียหาย" ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) แล้ว สิทธิในความเป็นผู้เสียหายของโจทก์จึงแยกต่างหากจากนางจำรัส และไม่ใช่เป็นสิทธิเฉพาะตัวของนางจำรัสแต่ลำพังเพียงผู้เดียวดังที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อ้างในฎีกา กรณีจึงไม่จำเป็นที่นางจำรัสจะต้องยื่นฟ้องเป็นคดีอาญาเสียก่อนแล้วต่อมา ถึงแก่ความตาย โจทก์จึงค่อยเข้ามาดำเนินคดีต่างผู้ตายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 29 ดังที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เข้าใจในฎีกา การใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงสืบเนื่องมาจากการที่โจทก์เป็นผู้ที่ต้องได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันปลอมพินัยกรรมของนางจำรัส อันเป็นการใช้สิทธิโดยลำพังของโจทก์เองในฐานะผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
อย่างไรก็ตาม การกระทำความผิดดังกล่าวเกิดขึ้นในระหว่างบรรดาญาติและทายาทของนางจำรัสซึ่งเป็นบุคคลภายในครอบครัวเดียวกัน โดยได้ความว่าปัจจุบันโจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต่างได้พูดจาปรับความเข้าใจกันดีจนกระทั่งโจทก์ไม่ประสงค์ที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อีกต่อไป และทำบันทึกข้อตกลงระงับข้อพิพาทปรากฏตามเอกสารแนบท้ายคำร้องขอให้ศาลฎีการับฎีกาฉบับลงวันที่ 15 มกราคม 2564 ประกอบกับในระหว่างที่นางจำรัสยังมีชีวิตอยู่และมีอาการป่วยเจ็บด้วยโรคสมองเสื่อม จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ก็มีส่วนในการช่วยเหลือดูแลนางจำรัสมาด้วยดี มิได้ทอดทิ้ง พฤติการณ์กระทำความผิดพอถือได้ว่าไม่ร้ายแรงมากนัก ทั้งเป็นการกระทำความผิดครั้งแรกและจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต่างอยู่ในวัยชราแล้ว เห็นควรให้โอกาสจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้กลับตนเป็นพลเมืองดีสักครั้ง การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไปเสียทีเดียวมีกำหนดถึง 4 ปี โดยไม่รอการลงโทษและศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน จึงหนักเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขโดยกำหนดโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เสียใหม่และรอการลงโทษไว้เพื่อให้เหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งคดี แต่สมควรลงโทษปรับด้วยเพื่อให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เข็ดหลาบ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คนละ 2 ปี และปรับคนละ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4