โจทก์ทั้งสามฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 56705 ให้โจทก์ทั้งสาม หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสาม หากจดทะเบียนโอนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระราคาแทนให้แก่โจทก์ทั้งสามเสร็จสิ้น ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 1,299,950 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,196,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น และค่าขาดประโยชน์เดือนละ 20,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ทั้งสาม
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 56705 ให้โจทก์ทั้งสาม หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 หากจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ไม่ได้ให้ร่วมกันใช้ราคาแทนเป็นเงิน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 14 มิถุนายน 2562) ไปจนกว่าชำระเสร็จ และร่วมกันชำระค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์อีกเดือนละ 6,500 บาท นับแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2560 ไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ทั้งสามหรือใช้ราคาแทน กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนาย 15,000 บาท สำหรับค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสามชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกและให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสามสำหรับจำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 56705 ให้แก่โจทก์ทั้งสาม หากไม่ไปดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน และหากไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้ ให้ร่วมกันใช้ราคาแทนเป็นเงิน 3,500,000 บาท และร่วมกันชำระเงิน 378,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินทั้งสองจำนวนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา (วันที่ 25 มีนาคม 2563) และนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 14 มิถุนายน 2562) ตามลำดับ เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยให้ปรับเปลี่ยนลดลงหรือเพิ่มขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาซึ่งออกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปีแต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และร่วมกันใช้ค่าขาดประโยชน์เดือนละ 6,500 บาท นับแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือใช้ราคาแทน แก่โจทก์ทั้งสามจนเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสามฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า จำเลยทั้งสาม นายสมศักดิ์ นางสุคนธ์ และนางวิไลวรรณ เป็นบุตรของนายมิลินทร์และนางมาลี ซึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ส่วนโจทก์ทั้งสาม นางศิริพร และนางสาวศิริพรรณ เป็นบุตรของนายสมศักดิ์ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2543 นายสมศักดิ์กู้ยืมเงินจากนางสุคนธ์ 3,000,000 บาท โดยมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 47484 ไว้เป็นประกัน และวันที่ 19 สิงหาคม 2547 นางสุระษา ภริยานายสมศักดิ์กู้ยืมเงินนางสุคนธ์ 2,000,000 บาท แล้วนายสมศักดิ์และนางสุระษาไม่ชำระหนี้ ต่อมานายสมศักดิ์ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2548 ศาลมีคำสั่งตั้งนางสุระษาเป็นผู้จัดการมรดกของนายสมศักดิ์ นางสุคนธ์ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2558 ศาลมีคําสั่งตั้งนางวิไลวรรณและจําเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางสุคนธ์ นางวิไลวรรณและจําเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสุคนธ์ได้ยื่นฟ้องโจทก์ที่ 3 ในฐานะทายาทของนายสมศักดิ์ และนางสุระษาในฐานะส่วนตัวและในฐานะทายาทและผู้จัดการมรดกของนายสมศักดิ์ วันที่ 30 ตุลาคม 2550 นางวิไลวรรณและจําเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสุคนธ์ทําบันทึกข้อตกลงกับโจทก์ทั้งสามเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของนายมิลินทร์และนางสุคนธ์ วันที่ 27 กันยายน 2555 นางวิไลวรรณถึงแก่ความตาย วันที่ 3 มิถุนายน 2556 จําเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นคําร้องขอให้ศาลตั้งจําเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกของนางวิไลวรรณ โจทก์ที่ 1 ยื่นคําคัดค้านและขอให้ศาลตั้งโจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางวิไลวรรณ จากนั้นจําเลยที่ 3 ได้ถอนคําร้องขอ วันที่ 1 กรกฎาคม 2557 โจทก์ทั้งสามกับจําเลยที่ 1 และที่ 2 ทําสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยจําเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อของตนในช่องที่ระบุชื่อจําเลยที่ 3 ด้วย จากนั้นโจทก์ที่ 1 ถอนคําคัดค้าน ศาลจึงมีคําสั่งตั้งจําเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนางวิไลวรรณ จําเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 2 ด้วยการชําระเงิน 1,100,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสาม ต่อมาศาลฎีกาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2356/2549 ของศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 โดยไม่เพิกถอนข้อกําหนดพินัยกรรมในการจัดตั้งมูลนิธิ ห. ของนายสมศักดิ์ และให้นางสุระษาในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสมศักดิ์จดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทําประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 414 พร้อมส่งมอบบ้านเลขที่ 80/3 ซึ่งปลูกสร้างบนที่ดินให้นางวิไลวรรณและจําเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสุคนธ์ หากโอนที่ดินและส่งมอบบ้านดังกล่าวไม่ได้ ให้โจทก์ที่ 3 ในฐานะทายาทและนางสุระษาในฐานะทายาทและผู้จัดการมรดกของนายสมศักดิ์ร่วมกันใช้ราคา 2,860,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชําระเสร็จ และให้โจทก์ที่ 3 ในฐานะทายาทและนางสุระษาในฐานะทายาทและผู้จัดการมรดกของนายสมศักดิ์ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่นางวิไลวรรณและจําเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสุคนธ์ เดือนละ 6,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะจดทะเบียนโอนที่ดินและส่งมอบบ้านดังกล่าวหรือใช้ราคาแทน กับให้โจทก์ที่ 3 ในฐานะทายาทและนางสุระษาในฐานะส่วนตัวและในฐานะทายาทและผู้จัดการมรดกของนายสมศักดิ์ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนนางวิไลวรรณและจําเลยที่ 3 โดยกําหนดค่าทนายความ 70,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจํานวนทุนทรัพย์ที่นางวิไลวรรณและจําเลยที่ 3 ชนะคดี ทั้งนี้โจทก์ที่ 3 และนางสุระษาในฐานะทายาทของนายสมศักดิ์ไม่จําต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกของนายสมศักดิ์ที่ตกทอดได้แก่ตน คําขออื่นนอกจากนี้ให้ยก วันที่ 15 มีนาคม 2559 นางสุระษาในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสมศักดิ์ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาด้วยการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามหนังสือรับรองการทําประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 414 ซึ่งเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 56705 ให้แก่จําเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสุคนธ์ ต่อมาวันที่ 8 สิงหาคม 2560 จําเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสุคนธ์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้จําเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสุคนธ์ จําเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกของนางวิไลวรรณ และจําเลยที่ 3 นอกจากนี้นางสุระษาในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสมศักดิ์ยังได้นําเงิน 756,000 บาท ไปวางศาลเพื่อชําระหนี้ตามคําพิพากษาศาลฎีกา จําเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสุคนธ์ได้รับเงินจํานวนดังกล่าวไปแล้วเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2560 และเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2560 นางสุระษาในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสมศักดิ์ได้จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 47984 ให้โจทก์ทั้งสาม นางสุระษา นางศิริพรและนางสาวศิริพรรณ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามประการแรกว่า โจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยทั้งสามตามสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ เห็นว่า หลังจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางวิไลวรรณ โจทก์ที่ 1 ได้ยื่นคำคัดค้านอ้างว่าตนมีสิทธิได้รับมรดกแทนที่นายสมศักดิ์ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดากับนางวิไลวรรณ ศาลในคดีดังกล่าวได้ทำการไกล่เกลี่ยโดยจำเลยที่ 1 เข้าร่วมไกล่เกลี่ยด้วย แต่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ จำเลยที่ 3 จึงขอถอนคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก แสดงว่าจำเลยทั้งสามกับฝ่ายโจทก์ยังคงมีข้อพิพาทเกี่ยวกับการจัดการแบ่งมรดกของนางวิไลวรรณซึ่งยังตกลงกันไม่ได้ ประกอบกับจำเลยที่ 3 เบิกความตอบคำถามค้านว่าหลังจากมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยที่ 1 ได้มาบอกจำเลยที่ 3 ว่ามีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ทั้งสาม โดยจำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ในช่องที่ระบุชื่อของจำเลยที่ 3 อันเป็นการลงลายมือชื่อแทนจำเลยที่ 3 ต้องถือว่าจำเลยที่ 3 ทราบเรื่องที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ทั้งสาม โดยจำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อของตนแทนจำเลยที่ 3 แล้ว อีกทั้งหลังจากที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 2 ด้วยการชำระเงินในนามของจำเลยทั้งสามจำนวน 1,100,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสาม โดยเป็นเงินมรดกของนางสุคนธ์ซึ่งอยู่ในบัญชีของนางวิไลวรรณและจำเลยทั้งสามมีสิทธิได้รับมรดกดังกล่าว กับจำเลยที่ 2 นำเงินมาอีกส่วนหนึ่งด้วย ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ได้โต้แย้งคัดค้านต่อโจทก์ทั้งสามว่าไม่ได้รู้เห็นหรือไม่ยินยอมในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ หรือปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 3 รู้เห็นและยินยอมโดยปริยายให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อของตนแทนจำเลยที่ 3 ในสัญญาประนีประนอมยอมความ สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงมีผลผูกพันจำเลยที่ 3 ให้ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญายอมด้วย ส่วนที่จำเลยทั้งสามฎีกาอ้างว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทําประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 414 ซึ่งเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 56705 ตามที่ระบุในสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ได้ตกเป็นของโจทก์ทั้งสามทั้งหมด แต่นางศิริพรและนางสาวศิริพรรณในฐานะทายาทมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งด้วย โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยทั้งสามนั้น หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่จำเลยทั้งสามกล่าวอ้างก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์ทั้งสามและนางศิริพรกับนางสาวศิริพรรณที่จะไปว่ากล่าวกันต่างหาก แต่สัญญาประนีประนอมยอมความก็ยังคงมีผลผูกพันโจทก์ทั้งสามกับจำเลยทั้งสามอยู่ หาได้มีผลให้โจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ดังที่จำเลยทั้งสามฎีกาอ้างไม่ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยทั้งสามฎีกาอ้างว่า สัญญาประนีประนอมยอมความไม่เป็นสัญญาแบ่งทรัพย์มรดกที่สมบูรณ์ และโจทก์ทั้งสามยอมรับว่าถูกพินัยกรรมของนางวิไลวรรณตัดสิทธิจากกองทรัพย์มรดกของนางวิไลวรรณแล้ว การที่โจทก์ทั้งสามใช้สิทธิของบุคคลอื่นมาทำสัญญาประนีประนอมยอมความ เพื่อประโยชน์ของตนเองโดยไม่มีอำนาจ จึงทำให้สัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่มีผลบังคับ โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง และสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 3 ไม่ได้หมายความรวมถึงที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 414 นั้น จำเลยทั้งสามไม่ได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นต่อสู้ในคำให้การ จึงไม่ก่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท ถือเป็นเรื่องที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ทั้งไม่ใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบมาตรา 252 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามประการต่อไปว่า จำเลยทั้งสามต้องโอนที่ดินพิพาทและใช้ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ให้แก่โจทก์ทั้งสามหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า เมื่อพิจารณาสภาพที่ดินและบ้านพิพาทแล้ว จะเห็นได้ว่าที่ดินมีเนื้อที่ถึง 3 งาน 98 ตารางวา ถือได้ว่าเป็นที่ดินแปลงค่อนข้างใหญ่ตั้งอยู่ในตำบลพญาเย็น อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งติดทางสาธารณประโยชน์ ที่ดินจึงย่อมมีโอกาสปรับราคาขึ้นได้อีก ส่วนบ้านแม้จะมีสภาพเก่าเนื่องจากไม่มีผู้อยู่อาศัยแต่ก็สามารถปรับปรุงให้อยู่ในสภาพดีได้ จึงเห็นว่าราคาใช้แทนที่ดินพิพาทที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 กำหนดเป็นเงิน 3,500,000 บาท และค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์เดือนละ 6,500 บาท นั้นเหมาะสมแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามประการสุดท้ายว่า จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันชำระเงิน 378,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสามตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 หรือไม่ เห็นว่า เงินจำนวน 378,000 บาท มีที่มาจากการที่นางสุระษาซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าวเป็นผู้นำมาวางศาล นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ได้รับเงินที่จำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าวนำมาชำระเป็นค่าเสียหาย 756,000 บาท ตามรายงานเจ้าหน้าที่และคำแถลงขอรับเงิน เงิน 756,000 บาท จำเลยที่ 1 แบ่งให้จำเลยที่ 3 จำนวน 150,000 บาท ส่วนที่เหลือเก็บไว้ยังไม่ได้แบ่งให้แก่ทายาทอื่น แต่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีและการเดินทางประมาณ 500,000 บาท โดยไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบประกอบ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินที่ได้จากมูลหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2356/2549 ของศาลชั้นต้น โดยได้กำหนดจำนวนค่าใช้จ่ายขึ้นตามที่เห็นสมควรจึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนทายาทอื่นของนางสุคนธ์จะมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในเงินดังกล่าวด้วยหรือไม่เพียงใด ก็เป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวกันต่างหาก ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินค่าขาดประโยชน์เดือนละ 20,000 บาท นับแต่ถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ทั้งสามเสร็จสิ้น การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระค่าขาดประโยชน์จนกว่าจะใช้ราคาแทนโจทก์ทั้งสามจนเสร็จ จึงเกินไปกว่าคำฟ้องเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง นอกจากนี้ จำเลยทั้งสามฎีกาโดยชำระค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา รวมทั้งชำระค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาในอนาคต 100 บาท มาด้วย แต่เนื่องจากจำเลยทั้งสามฎีกาขอให้ยกฟ้อง กรณีไม่ต้องชำระค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาในอนาคต จึงให้คืนค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาส่วนที่ชำระเกินมา 100 บาท แก่จำเลยทั้งสาม
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามชำระค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์เดือนละ 6,500 บาท นับแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2560 ไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ทั้งสามจนเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 คืนค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาส่วนที่ชำระเกินมา 100 บาท แก่โจทก์ทั้งสาม ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ