โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547 มาตรา 4, 15, 59 พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 2, 4, 21, 65 และปรับตามพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547 วันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2563 จนถึงตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ และปรับตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 วันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2564 จนถึงตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 21, 65 วรรคหนึ่งและวรรคสอง จำคุก 1 เดือน และปรับ 10,000 บาท และปรับอีกวันละ 100 บาท นับตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เบื้องต้นโดยคู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยก่อสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 1 ชั้น จำนวน 5 หลัง ภายในเขตควบคุมการก่อสร้างอาคารตามพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 บังคับในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเนินและองค์การบริหารส่วนตำบลวังบาล โดยจำเลยยังไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นและดำเนินการตามมาตรา 39 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ต่อมาเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้างและใช้อาคารดังกล่าว สำหรับความผิดฐานประกอบธุรกิจโรงแรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่อุทธรณ์ ความผิดฐานนี้จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยก่อนว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวแม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลล่างทั้งสองแต่ก็เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ โจทก์ได้บรรยายชัดแจ้งแล้วว่า จำเลยก่อสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 1 ชั้น จำนวน 5 หลัง ไม่มีเลขที่ โดยจำเลยเป็นเจ้าของผู้ครอบครองอาคารและไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามกฎหมาย ซึ่งจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ดังนี้ ฟ้องโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 21 ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 แล้ว ส่วนจำเลยแจ้งต่อพนักงานท้องถิ่นและดำเนินการตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 39 ทวิ อันเป็นทางเลือกให้ไม่ต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือไม่ เป็นรายละเอียดที่โจทก์และจำเลยสามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาสรุปว่า ไม่มีบทบัญญัติมาตราใดของพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่กำหนดว่า จำเลยต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานและดำเนินการตามมาตรา 39 ทวิ ก่อนที่จำเลยจะดำเนินการก่อสร้างใด ๆ จำเลยจึงมีสิทธิที่จะดำเนินการก่อสร้างอาคารไปพลางแล้วค่อยดำเนินการตามมาตรา 21 หรือมาตรา 39 ทวิ เห็นว่า พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 21 บัญญัติว่า ผู้ใดจะก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคารต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น และดำเนินการตามมาตรา 39 ทวิ ดังนี้ ก่อนก่อสร้างอาคาร จำเลยจึงต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น และดำเนินการตามมาตรา 39 ทวิ ทั้งเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ออกใบรับแจ้งให้แก่จำเลยก่อน จำเลยจึงจะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามทางนำสืบของจำเลยรับว่า จำเลยทำการก่อสร้างอาคารตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 ทั้งที่มิได้รับใบอนุญาตหรือใบรับแจ้งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 21 และ 39 ทวิ ดังกล่าว โดยจำเลยเพิ่งยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างอาคารเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ภายหลังจากที่องค์การบริหารส่วนตำบลวังบาลร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2564 จำเลยย่อมมีความผิดฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น แม้ต่อมาจำเลยจะแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นและดำเนินการตามมาตรา 39 ทวิ หรือไม่ก็ตาม ก็ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยก่อนหน้านั้นไม่เป็นความผิด ทั้งกรณีมิใช่ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องแตกต่างจากข้อเท็จจริงในทางพิจารณา ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง ดังที่จำเลยฎีกา ส่วนที่จำเลยฎีกาอ้างว่า จำเลยเป็นชาวเขาเผ่าม้ง ไม่รู้ว่ามีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 บังคับในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลวังบาล จำเลยจึงไม่มีเจตนากระทำความผิดตามฟ้องนั้น จำเลยไม่อาจแก้ตัวเช่นว่านั้นอันเป็นการแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้พ้นจากความรับผิดทางอาญาได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 64 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทุกข้อล้วนฟังไม่ขึ้น ส่วนข้ออ้างอื่น ๆ ในฎีกาของจำเลยนอกจากที่วินิจฉัยมาแล้ว ไม่เป็นสาระสำคัญอันจะทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษายืน