โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 170,756.26 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 145,971 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 98,641 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และชำระเงิน 22,742 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน แต่ดอกเบี้ยของต้นเงินแต่ละจำนวนให้คิดได้ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2561 และวันที่ 28 สิงหาคม 2561 ตามลำดับ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้นเป็นเงิน 6,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบกิจการรับประกันชีวิต เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2551 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเป็นตัวแทนประกันชีวิตให้แก่โจทก์ตกลงกันว่า จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ชักชวนบุคคลให้มาประกันชีวิตกับโจทก์โดยโจทก์ตกลงจ่ายเงินบำเหน็จให้เป็นค่าตอบแทน และหากจำเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าหน่วยหรือหัวหน้าศูนย์การขายก็จะได้รับเงินผลประโยชน์เรียกว่าค่าจัดงานอีกต่างหาก ทั้งนี้ มีเงื่อนไขข้อตกลงว่า ในกรณีที่โจทก์ต้องคืนเบี้ยประกันให้แก่ผู้ขอประกันชีวิต ผู้เอาประกันชีวิต หรือสัญญาประกันชีวิตตกเป็นโมฆียะ จำเลยที่ 1 จะต้องคืนเงินค่าบำเหน็จและเงินผลประโยชน์ที่รับไปทั้งหมดแก่โจทก์ตามสัญญาข้อตกลงแต่งตั้งตัวแทน สัญญาดังกล่าวมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันในวงเงิน 100,000 บาท ตามหนังสือค้ำประกัน ต่อมาโจทก์แต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้บริหารศูนย์การขาย สาขาอโศก จากนั้นจำเลยที่ 1 และทีมงานชักชวนผู้เอาประกันหลายรายให้มาทำประกันชีวิตกับโจทก์ ซึ่งรวมถึงผู้เอาประกันรายนางรัชฎา และนายอาภากร โจทก์จ่ายเงินค่าบำเหน็จและเงินผลประโยชน์ให้จำเลยที่ 1 สำหรับรายนางรัชฎาเป็นเงิน 98,641 บาท และรายนายอาภากรเป็นเงิน 22,742 บาท จำเลยที่ 1 ลาออกจากการเป็นตัวแทนของโจทก์เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2561 ต่อมาวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 โจทก์ยกเลิกกรมธรรม์ของนางรัชฎา และวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 โจทก์บอกล้างกรมธรรม์ของนายอาภากร คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 เพียงประการเดียวว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า กรณีที่จะเป็นเรื่องลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 นั้น ต้องเป็นการที่บุคคลใดได้ทรัพย์สิ่งใดมาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้บุคคลอีกคนหนึ่งเสียเปรียบ คดีนี้ตามฟ้องโจทก์เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าบำเหน็จและเงินผลประโยชน์ที่รับไปให้แก่โจทก์เนื่องจากมีการยกเลิกกรมธรรม์และบอกล้างกรมธรรม์แก่ผู้เอาประกัน ซึ่งเงินค่าบำเหน็จและเงินผลประโยชน์ที่จำเลยที่ 1 ได้รับจากโจทก์ไปเป็นการรับไว้ในฐานะตัวแทนประกันชีวิตของโจทก์ตามสัญญาข้อตกลงแต่งตั้งตัวแทนจึงเป็นการรับเงินไว้โดยมีมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ มิใช่เรื่องลาภมิควรได้ เมื่อปรากฏต่อมาว่า โจทก์ยกเลิกกรมธรรม์และบอกล้างกรมธรรม์แก่ผู้เอาประกันรายที่จำเลยที่ 1 และทีมงานชักชวนให้มาทำประกันชีวิตกับโจทก์ อันเป็นเหตุให้โจทก์ต้องคืนเบี้ยประกันให้ผู้เอาประกัน จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องคืนเงินค่าบำเหน็จและเงินผลประโยชน์ที่ได้รับสำหรับผู้เอาประกันรายดังกล่าวแก่โจทก์ และโจทก์มีสิทธิเรียกเงินดังกล่าวคืนได้ อันเป็นไปตามเงื่อนไขและข้อตกลงในสัญญาข้อตกลงแต่งตั้งตัวแทน ข้อ 10 ซึ่งเมื่อโจทก์บอกกล่าวทวงถามเรียกเงินจำนวนดังกล่าวคืนจากจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 เพิกเฉย โจทก์จึงใช้สิทธิฟ้องเรียกเงินคืนฐานผิดสัญญา มิใช่กรณีเรียกคืนฐานลาภมิควรได้ จะนำเอาอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 มาใช้บังคับกับกรณีนี้ไม่ได้ และเมื่อการใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่ขอให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าบำเหน็จและเงินผลประโยชน์ที่ได้รับจากการเป็นตัวแทนประกันชีวิตกรณีโจทก์ยกเลิกกรมธรรม์และบอกล้างกรมธรรม์เช่นนี้ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยอายุความบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ดังนั้น อายุความในคดีนี้จึงมีระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตามสัญญา เมื่อโจทก์ยกเลิกกรมธรรม์ของนางรัชฎาเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 และบอกล้างกรมธรรม์ของนายอาภากรเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 โดยโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2562 จึงเป็นระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ในส่วนดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ ศาลชั้นต้นกำหนดดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง และศาลฎีกายังคงให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดแก่โจทก์ แต่เนื่องจากได้มีประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความใหม่แทน เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ กรณีจึงต้องบังคับใช้ตามบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่ดังกล่าว
พิพากษาแก้เป็นว่า ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ในส่วนดอกเบี้ยให้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ อัตราดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ