ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องจำเลยที่ไม่เป็นนิติบุคคล, การอุทิศที่ดินให้เป็นสาธารณสมบัติ, และความรับผิดชอบของกรมที่ดินในการออกโฉนด
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 638(เดิม) ที่ใช้บังคับอยู่ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีบัญญัติว่า นิติบุคคลนั้น จะมีขึ้นได้ก็แต่ด้วยอาศัยอำนาจแห่งบทบัญญัติทั้งหลายของประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น เมื่อไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายใดบัญญัติให้สำนักงานเขตพระนครจำเลยที่ 2 และสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครจำเลยที่ 4 มีฐานะเป็นนิติบุคคลแต่อย่างใด จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 จึงเป็นเพียงส่วนราชการในสังกัดของกรุงเทพมหานคร จำเลยที่1 และกรมที่ดินจำเลยที่ 3 ตามลำดับเท่านั้น และไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 การที่พระธรรมปาโมกข์รักษาการแทนเจ้าอาวาสโจทก์ในขณะนั้นยินยอมให้เทศบาลนครกรุงเทพ (จำเลยที่1 ในขณะนั้น) ขยายถนนอัษฎางค์เข้าไปในเขตที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันตก เป็นกรณีที่วัดยินยอมให้มีการขยายเขตถนนเดิมซึ่งเป็นทางหลวงอยู่แล้วเข้าไปในที่วัดถือได้ว่าโจทก์ได้อุทิศที่ดินส่วนนี้โดยปริยายให้เป็นทางหลวง ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1304(2) และการอุทิศเช่นนี้ย่อมมีได้ ไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 มาตรา 7แก้ไขโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2477 มาตรา 3 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น เพราะกรณีเช่นนี้หาใช่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ตามที่กฎหมายดังกล่าวกำหนดห้ามไว้ไม่ที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันตกส่วนที่ขยายเป็นถนนอัษฎางค์จึงเป็นทางสาธารณะ แม้เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครจะเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการออกโฉนดที่ดิน แต่เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครก็เป็นข้าราชการที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกรมที่ดินจำเลยที่ 3 หากดำเนินการออกโฉนดที่ดินตลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างใดอธิบดีกรมที่ดินหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 61ดังนั้น จำเลยที่ 3 ในฐานะที่เป็นกรม ย่อมถูกฟ้องเป็นจำเลยเพื่อให้รับผิดชอบดำเนินการในเรื่องการออกโฉนดที่ดินได้โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3