โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนแบบแจ้งการประเมิน/การเรียกเก็บอากรและภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินเพิ่ม และเบี้ยปรับ ตามแบบแจ้งการประเมิน/เรียกเก็บอากรขาเข้า/ขาออก ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีอื่น ๆ (กรณีอื่น ๆ) เลขที่ 3300161/29 - 3 - 56 ถึง 3300190/29 - 3 - 56 และ 3302036/29 - 3 - 56 ถึง 3302047/1 - 4 - 56 (ที่ถูกคือ ที่ กค0521 (6) 3300161/29 - 03 - 2556 ถึง 3300190/29 - 03 - 2556 และ กค0521 (6) 3-3-02036 ถึง 3-3-02047) เพิกถอนการเรียกเก็บอากรและภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินเพิ่มและเบี้ยปรับ 42 ฉบับ เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ กอ40.3/22/2562/ป3/2562 (3.7) ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2562
จำเลยทั้งแปดให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความแทนจำเลยทั้งแปดรวมเป็นเงิน 40,000 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมอื่นให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลภาษีอากรกลางรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 เรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้าจากโจทก์ได้ไม่เกินกว่าอากรขาเข้าที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียม และค่าทนายความชั้นอุทธรณ์เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า สินค้าพิพาทจัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทย่อย 9032.89 อื่น ๆ และ 9032.89.39 รหัสย่อย 29 อื่น ๆ (ตามช่วงเวลานำเข้า) หรือไม่ เห็นว่า ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและการยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2548 ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2549 ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ 10) ลงวันที่ 21 เมษายน 2552 และบัญชีท้ายประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะโจทก์นำเข้าสินค้าพิพาท ระบุพิกัดประเภทย่อย 9032.89 (รายการ - - ที่ 4) และ 9032.89.39 รหัสย่อย 03 ตามช่วงเวลานำเข้าว่า เฉพาะชุดอุปกรณ์ควบคุมการใช้ก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลโดยอัตโนมัติ ประเภทภายในวงเล็บ คือ ดีเซล ดูเอล ฟูแอล คอนเวอร์ชัน คิท เท่านั้น ที่ได้รับยกเว้นอากรตามช่วงเวลาที่กำหนด ซึ่งการจะจัดสินค้าพิพาทว่าอยู่ในประเภทพิกัดใดจึงต้องใช้หลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 บัญชีท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ประกอบคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ โดยหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากร ข้อ 1 บัญญัติว่า "...การจำแนกประเภทให้จำแนกตามความของประเภทนั้น ๆ ตามหมายเหตุของหมวดหรือของตอนที่เกี่ยวข้องและตามข้อกำหนดดังต่อไปนี้ หากว่าประเภทหรือหมายเหตุดังกล่าวไม่ได้ระบุไว้เป็นอย่างอื่น" ข้อ 3 บัญญัติว่า "ของที่อาจจำแนกประเภทได้ตั้งแต่สองประเภทขึ้นไป...ให้จำแนกประเภทโดยถือหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ ...(ข) ของผสม ของรวม ที่ประกอบด้วยวัตถุต่างชนิดกันหรือทำขึ้นจากองค์ประกอบต่างกันและของที่จัดทำขึ้นเป็นชุดเพื่อการขายปลีก ซึ่งไม่อาจจำแนกประเภทตามหลักเกณฑ์ข้อ 3 (ก) ได้ ให้จำแนกประเภทโดยถือเสมือนว่าของนั้นประกอบด้วยวัตถุหรือองค์ประกอบที่แสดงลักษณะอันเป็นสาระสำคัญของของนั้นเท่าที่จะใช้หลักนี้ได้..." และข้อ 6 บัญญัติว่า "ตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย การจำแนกประเภทของของเข้าในประเภทย่อยของประเภทใดประเภทหนึ่งให้เป็นไปตามความของประเภทย่อยที่เกี่ยวข้องและตามหลักเกณฑ์ข้างต้นโดยอนุโลม โดยพิจารณาเปรียบเทียบในระหว่างประเภทย่อยที่อยู่ในระดับเดียวกัน ตามวัตถุประสงค์ของหลักเกณฑ์นี้ให้ใช้หมายเหตุของหมวดและของตอนที่เกี่ยวข้องด้วย เว้นแต่จะมีข้อความระบุไว้เป็นอย่างอื่น" ...พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาจึงมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ชุดอุปกรณ์ควบคุมการใช้ก๊าซธรรมชาติที่โจทก์นำเข้ามาตามใบขนสินค้าขาเข้าพิพาทมีชิ้นส่วนอุปกรณ์ชุดหัวเทียน (Spark Plug) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่สำคัญที่แสดงให้เห็นว่าชุดอุปกรณ์ควบคุมการใช้ก๊าซธรรมชาติที่โจทก์นำเข้ามานั้นเป็นระบบเชื้อเพลิงเดียว (Dedicated) ชุดอุปกรณ์ควบคุมการใช้ก๊าซธรรมชาติที่โจทก์นำเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าพิพาทจึงไม่ใช่ชุดอุปกรณ์การใช้ก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลโดยอัตโนมัติ (ดีเซล ดูเอล ฟูแอล คอนเวอร์ชัน คิท) ที่ใช้เชื้อเพลิงร่วมระหว่างก๊าซธรรมชาติกับน้ำมันดีเซล ไม่จัดเป็นของตามพิกัดอัตราศุลกากร ประเภทย่อย 9032.89 (รายการ - - ที่ 4) และ 9032.89.39 รหัสย่อย 03 (ตามช่วงเวลานำเข้า) ที่จะได้รับยกเว้นอากร ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและการยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2548 ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2549 ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ 10) ลงวันที่ 21 เมษายน 2552 และบัญชีท้ายประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ชุดอุปกรณ์ควบคุมการใช้ก๊าซธรรมชาติที่โจทก์นำเข้าจัดอยู่ในประเภทย่อย 9032.89 (รายการ - - ที่ 1) และ 9032.89.39 รหัสย่อย 01 (ตามช่วงเวลานำเข้า) นั้น เห็นว่า โจทก์ไม่ได้ยกขึ้นกล่าวอ้างในฟ้อง จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่รับวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 252, 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 26 ดังนั้น สินค้าชุดอุปกรณ์ควบคุมการใช้ก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลโดยอัตโนมัติที่โจทก์นำเข้าจึงจัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากร ประเภทย่อย 9032.89 อื่น ๆ และ 9032.89.39 รหัสย่อย 29 อื่น ๆ (ตามช่วงเวลานำเข้า) ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและการยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2548 ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2549 และประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ 10) ลงวันที่ 21 เมษายน 2552 อัตราอากรร้อยละ 10 การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ในส่วนนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อมาว่า สิทธิเรียกร้องค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 1 ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์นำเข้าสินค้าพิพาทโดยสำแดงพิกัดอัตราศุลกากรไม่ถูกต้องเป็นเหตุให้ชำระอากรขาเข้าขาด พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จึงได้แจ้งการประเมินไปยังโจทก์ให้ชำระอากรที่ขาด ไม่ใช่กรณีคำนวณอากรผิดซึ่งมีอายุความ 2 ปี นับจากวันที่นำของเข้า ตามที่โจทก์ฎีกา แต่เป็นกรณีมีอายุความ 10 ปี นับจากวันที่นำของเข้าไม่ว่าเป็นกรณีมีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/31 หรือกรณีไม่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยง แต่จำเลยที่ 1 เรียกอากรที่ขาดไปเพราะเหตุเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับของใด ๆ ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคสาม ดังนั้น ไม่ว่ามีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากรหรือไม่ ก็มีอายุความ 10 ปี นับจากวันที่นำของเข้า แตกต่างเฉพาะตัวบทกฎหมายที่อ้างอิงเท่านั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์นำเข้าสินค้าตามใบขนสินค้าพิพาทระหว่างวันที่ 19 สิงหาคม 2549 ถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2550 และระหว่างวันที่ 24 มกราคม 2551 ถึงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2552 โจทก์ได้รับแบบแจ้งการประเมิน/เรียกเก็บอากรขาเข้า/ขาออก ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีอื่น ๆ (กรณีอื่น ๆ) เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2556 ซึ่งการประเมินดังกล่าวเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ใช้อำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบังคับไว้เพื่อใช้สิทธิเรียกร้องในทางหนี้ภาษีอากรภายในอายุความ 10 ปี นับจากวันที่นำของเข้า และถือเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิของเจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี อายุความย่อมสะดุดหยุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (5) นับแต่วันที่โจทก์ได้รับแจ้งการประเมิน สิทธิเรียกร้องค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 1 จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อมาว่า ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมิได้วินิจฉัยประเด็นการลดหรืองดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแก่โจทก์เป็นการไม่ชอบหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์นำเข้าสินค้าชุดอุปกรณ์ควบคุมการใช้ก๊าซธรรมชาติสำแดงพิกัดด้วยความสุจริต โจทก์ไม่มีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงการเสียอากรในสินค้านำเข้าแต่อย่างใด โจทก์ได้กระทำตามหลักเกณฑ์ขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนดทุกประการโดยสุจริต โปร่งใส ไม่เคยมีประวัติเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงภาษีอากร จำเลยทั้งแปดไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับ เงินเพิ่มใด ๆ จากโจทก์ โจทก์มิได้จงใจไม่ชำระเงินอากรให้ครบถ้วนและไม่ได้มีเจตนาไม่ชำระค่าอากร แต่เกิดจากการที่โจทก์และจำเลยทั้งแปดตีความเรื่องการนำเข้าสินค้าชุดอุปกรณ์ควบคุมการใช้ก๊าซธรรมชาติอยู่ในประเภทพิกัดไม่ตรงกัน ขอให้ศาลภาษีอากรกลางโปรดงดหรือลดเงินเพิ่มและงดหรือลดเบี้ยปรับ ตามแบบแจ้งการประเมิน/เรียกเก็บอากรขาเข้า/ขาออก ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีอื่น ๆ (กรณีอื่น ๆ) 42 ฉบับ ให้แก่โจทก์ด้วย และมีคำขอท้ายฟ้องว่า ข้อ 1. ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเพิกถอนแบบแจ้งการประเมิน/เรียกเก็บอากรขาเข้า/ขาออก ภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม เลขที่ ... ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ทั้งสิ้น ข้อ 2. ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเพิกถอนการเรียกเก็บอากรภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินเพิ่มและเบี้ยปรับ 42 ฉบับ ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ทั้งสิ้น ข้อ 3. ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยที่ กอ40.3/22/2562/ป3/2562(3.7) ฉบับลงวันที่ 16 สิงหาคม 2562 ของจำเลยที่ 4 ถึงที่ 8 เห็นได้ว่าฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงเหตุที่ไม่ต้องรับผิดในเบี้ยปรับเงินเพิ่มอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มและยังขอให้ศาลลดหรืองดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้แก่โจทก์แล้ว แม้โจทก์จะไม่ได้ระบุไว้ในคำขอท้ายฟ้องให้ชัดเจนว่า ขอให้ศาลลดหรืองดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาคำฟ้องและการที่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องข้อ 2. ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเพิกถอนการเรียกเก็บอากรและภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินเพิ่มและเบี้ยปรับ พอจะอนุมานได้ว่าการขอให้เพิกถอนการเรียกเก็บเบี้ยปรับและเงินเพิ่มดังกล่าวหมายความรวมถึงการขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มด้วยนั่นเอง ทั้งศาลภาษีอากรกลางได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ด้วยว่า โจทก์ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอากรและภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มหรือไม่ การที่ศาลล่างทั้งสองไม่วินิจฉัยในประเด็นนี้เพราะเห็นว่าเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17 และมาตรา 24 จึงไม่ชอบ แต่เมื่อคู่ความทั้งสองฝ่ายได้นำสืบพยานหลักฐานมาครบถ้วนกระบวนความแล้ว เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมและไม่ให้คดีต้องเนิ่นช้าออกไป เห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวโดยไม่ย้อนสำนวนให้ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยก่อน สำหรับในส่วนเงินเพิ่มอากรขาเข้านั้นพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โจทก์และผู้ประกอบการที่นำเข้าชุดควบคุมการใช้ก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลต่างเข้าใจโดยสุจริตว่า ชุดอุปกรณ์สำหรับดัดแปลงเครื่องยนต์ดีเซลให้ใช้ก๊าซธรรมชาติระบบเดียว (Dedicated NGV) ที่ใช้เชื้อเพลิงธรรมชาติร้อยเปอร์เซนต์ ได้รับยกเว้นอากรตามประกาศกระทรวงการคลัง โจทก์จึงไม่มีเจตนาที่จะสำแดงประเภทพิกัดของสินค้าพิพาทเป็นเท็จ กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าความรับผิดของโจทก์ในการชำระค่าอากรที่ขาดเกิดจากการที่โจทก์สำแดงเท็จในใบขนสินค้าตามฟ้อง แต่ต้องด้วยกรณีที่ไม่ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มเมื่อมีการชำระอากรเพิ่ม เนื่องจากเป็นกรณีที่มีการตรวจเก็บอากรขาด และเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจอากรตรวจพบตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 102 ตรี อนุมาตรา 3 จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกให้โจทก์ชำระเงินเพิ่ม ตามมาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง สำหรับในส่วนเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มอันสืบเนื่องจากโจทก์สำแดงพิกัดอัตราศุลกากรไม่ถูกต้องด้วยความเข้าใจของโจทก์เองกรณีจึงไม่มีเหตุที่จะงดหรือลดเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่โจทก์ แต่ในส่วนเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น เมื่อโจทก์สำแดงพิกัดอัตราศุลกากรในสินค้าพิพาทโดยความเข้าใจที่สุจริตประกอบกับโจทก์ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบภาษี จึงให้ลดเบี้ยปรับลงเหลือร้อยละ 50
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้แก้ไขแบบแจ้งการประเมิน/เรียกเก็บอากรขาเข้า/ขาออก ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีอื่น ๆ (กรณีอื่น ๆ) ที่ กค 0521 (6) 3300161/29-03-2556 ถึง 3300190/29-03-2556 และ ที่ กค 0521 (6)/3-3-02036 ถึง 3-3-02047 รวม 42 ฉบับ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ กอ40.3/22/2562/ป3/2562(3.7) ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2562 โดยให้โจทก์ไม่ต้องรับผิดเงินเพิ่มอากรขาเข้า และให้ลดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มลงเหลือร้อยละ 50 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ