โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 76,225,868.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 62,550,454.47 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 21 มกราคม 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 200,000 บาท และชดใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 200,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติได้ว่า ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 4304/2554 ของศาลชั้นต้น ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์ นายประพันธ์ และจำเลย ร่วมกันคืนหุ้นสามัญของโจทก์ มูลค่าหุ้นละ 1 บาท ระบุชื่อนายวรรโณทัย เป็นผู้ถือหุ้นจำนวน 672,000 หุ้น ให้แก่นายวรรณพงษ์ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายวรรโณทัย กับพวก ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าว หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาหุ้นตามราคาที่มีการซื้อขายครั้งสุดท้ายในวันที่มีการใช้ราคา แต่ต้องไม่ต่ำกว่าราคาหุ้นละ 314.38 บาท และร่วมกันชดใช้เงินปันผล 1,344,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับเงินปันผลที่โจทก์ประกาศจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นนับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะคืนใบหุ้นหรือใช้ราคาหุ้นเสร็จ ให้นางดวงกมล นายสบสันติ์ ร่วมรับผิดกับโจทก์ นายประพันธ์ และจำเลยในการคืนหุ้นของโจทก์จำนวน 5,000 หุ้น หรือใช้ราคาแทนหุ้นจำนวนดังกล่าว กับชดใช้เงินปันผล 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะคืนหุ้นหรือใช้ราคาแทน ให้โจทก์ นายประพันธ์และจำเลยร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนนายวรรณพงษ์กับพวก โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000,000 บาท และร่วมกันชดใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 1,000,000 บาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนนายวรรณพงษ์กับพวก โดยกำหนดค่าทนายความ 100,000 บาท ต่อมาวันที่ 21 มกราคม 2559 โจทก์และจำเลยตกลงจะชำระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวโดยมีรายละเอียดตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.27 ในวันเดียวกันโจทก์ปฏิบัติตามคำพิพากษาโดยนำหุ้นของโจทก์ 672,000 หุ้น เงินปันผล พร้อมดอกเบี้ยไปวางต่อศาลเพื่อชำระหนี้แก่นายวรรณพงษ์กับพวก รวมเป็นเงิน 337,557,046.77 บาท วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559 บริษัท ม. ผู้รับประกันภัยตามกรมธรรม์ความรับผิดทางวิชาชีพสถาบันการเงินของจำเลยได้ชำระเงิน 106,228,068.92 บาท แก่โจทก์แทนจำเลย วันที่ 2 เมษายน 2561 โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระเงินอ้างว่ายังขาดอีก 62,550,454.47 บาท และเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2562 ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้นายประพันธ์ชำระเงิน 149,199,984.89 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 มกราคม 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คดีถึงที่สุดแล้ว โดยศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อละเมิดอันลูกจ้างได้ทำไปในทางการที่จ้างชอบที่จะได้รับชดใช้จากลูกจ้างเฉพาะแต่ค่าสินไหมทดแทนที่ได้ใช้ให้แก่บุคคลภายนอกไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 426
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยยังต้องรับผิดชำระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนให้แก่โจทก์อีกหรือไม่ เห็นว่า ตามคำพิพากษาในคดีก่อนศาลฎีกามีคำวินิจฉัยในส่วนความรับผิดของโจทก์เพียงข้อหาเดียวว่า โจทก์เป็นนายจ้างของนายประพันธ์และนายประพันธ์ได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้าง โจทก์จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ความเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสามในคดีก่อน และวินิจฉัยถึงความรับผิดของจำเลยโดยสรุปว่า จำเลยดำเนินการด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายประพันธ์มีโอกาสเบียดบังเอาหุ้นของโจทก์ที่มีชื่อนายวรรโณทัยเป็นผู้ถือหุ้นไปโดยทุจริต จึงเป็นการกระทำละเมิดต้องร่วมรับผิดชดใช้ความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามในคดีก่อนด้วย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามคำวินิจฉัยของศาลในคดีก่อนว่า นายประพันธ์กับจำเลยเป็นผู้ทำละเมิดและต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามในคดีก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และเมื่อเป็นหนี้ร่วม นายประพันธ์และจำเลยจึงต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 296 ส่วนโจทก์ต้องรับผิดในฐานะเป็นนายจ้างของนายประพันธ์เท่านั้น ความรับผิดของโจทก์และนายประพันธ์จึงเสมือนเป็นบุคคลเดียวกันที่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยในการชดใช้ความเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสามในคดีก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 และเนื่องจากเป็นลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษา โจทก์จึงต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโดยสิ้นเชิงเช่นเดียวกับนายประพันธ์และจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 แต่ความรับผิดของโจทก์นั้น เป็นผลมาจากบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติให้นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างซึ่งได้กระทำละเมิดไปในทางการที่จ้างด้วย มิได้เป็นผลมาจากการกระทำของโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อโจทก์ชำระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนไปแล้ว ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับชดใช้จากนายประพันธ์ ผู้เป็นลูกจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 426 และรับช่วงสิทธิมาไล่เบี้ยจากจำเลยได้อีกส่วนหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 227 ตามฎีกาของจำเลยก็ยอมรับถึงสิทธิของโจทก์ในข้อนี้ว่าโจทก์มีสิทธิไล่เบี้ยจากจำเลยได้และมีสิทธิไล่เบี้ยจากนายประพันธ์ได้เต็มจำนวนตามส่วนที่เป็นความรับผิดของนายประพันธ์ตามมาตรา 426 ข้อโต้แย้งตามฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์ จำเลย และนายประพันธ์เป็นลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษาในคดีก่อน จึงต้องแบ่งความรับผิดในระหว่างลูกหนี้ร่วมด้วยกันคนละหนึ่งในสามส่วน หากจำเลยและนายประพันธ์ต้องรับผิดคนละกึ่งหนึ่งเท่ากับโจทก์ไม่ต้องรับผิดเลย และไม่ตรงตามที่ศาลมีคำพิพากษาที่ให้โจทก์ จำเลย และนายประพันธ์ร่วมกันชดใช้ความเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสามในคดีก่อน จึงต้องถือว่าโจทก์เป็นผู้ร่วมทำละเมิดด้วย จึงฟังไม่ขึ้น และที่จำเลยฎีกาว่า หลังจากคดีก่อนถึงที่สุดแล้ว โจทก์และจำเลยมีเจตนาที่จะร่วมกันชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว จึงมีการทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการชำระหนี้ดังกล่าวตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.27 โดยมีการตกลงกำหนดสัดส่วนความรับผิดคนละหนึ่งในสามส่วน อันมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความและมีผลผูกพันต่อกัน หลังจากนั้น บริษัท ม. ผู้รับประกันภัยของจำเลยได้ชำระหนี้ในส่วนที่เป็นความรับผิดของจำเลยจำนวนหนึ่งในสามส่วนให้แก่โจทก์ จำเลยจึงหลุดพ้นความรับผิดแล้วนั้น เห็นว่า โจทก์และจำเลยทำบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.27 หลังจากคดีก่อนถึงที่สุด ซึ่งโจทก์นำสืบโดยมีนางภัทรวรรณ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เป็นพยานเบิกความในปัญหาข้อนี้สรุปความได้ว่า หลังจากศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีก่อน โจทก์ จำเลย และบริษัท ม. ผู้รับประกันภัยของจำเลย มีการประชุมร่วมกันเกี่ยวกับการชำระหนี้ตามคำพิพากษา ในการประชุมดังกล่าวฝ่ายโจทก์เห็นว่าตามคำพิพากษาโจทก์รับผิดกึ่งหนึ่งในฐานะนายจ้างของนายประพันธ์และจำเลยต้องรับผิดอีกกึ่งหนึ่ง แต่บริษัท ม. ซึ่งจะชำระหนี้แทนจำเลยมีความเห็นว่าจำเลยต้องรับผิดเพียงหนึ่งในสามส่วน จึงตกลงกันไม่ได้ แต่โจทก์และจำเลยต้องการชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้เสร็จสิ้นโดยเร็วเพื่อรักษาชื่อเสียงและภาพลักษณ์ทางธุรกิจของโจทก์และจำเลย จึงมีการทำบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.27 โดยให้โจทก์ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้เสร็จสิ้น และให้บริษัท ม. ชำระหนี้จำนวนหนึ่งในสามส่วนก่อน แล้วจะไปเจรจาเพื่อหาข้อยุติกันในภายหลัง นางภัทรวรรณเป็นผู้ร่วมเจรจาหาข้อยุติในการประชุมดังกล่าวและลงชื่อเป็นพยานในบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.27 ด้วย ย่อมทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเจรจาและการทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นอย่างดี จึงเชื่อว่าเหตุที่มีการทำบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.27 ก็เนื่องจากโจทก์และจำเลยกับบริษัท ม. มีความเห็นขัดแย้งกันเรื่องสัดส่วนความรับผิดตามคำพิพากษาคดีก่อนในระหว่างลูกหนี้ตามคำพิพากษาด้วยกันว่าจำเลยต้องรับผิดกึ่งหนึ่งหรือหนึ่งในสาม จึงเป็นไปไม่ได้ที่โจทก์จะยินยอมตกลงให้จำเลยรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวเพียงหนึ่งในสามส่วน ทั้ง ๆ ที่ยังมีความเห็นขัดแย้งกันอยู่ และในการทำบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.27 นายประพันธ์ผู้ทำละเมิดและเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาอีกคนหนึ่งไม่ได้ร่วมทำบันทึกข้อตกลงกับโจทก์และจำเลย บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันนายประพันธ์ ดังนั้น หนี้ในส่วนที่เป็นความรับผิดของนายประพันธ์ตามที่ระบุในบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.27 จึงต้องถือว่ายังมิได้มีการตกลงกัน นอกจากนี้หากจำเลยรับผิดชำระหนี้เพียงหนึ่งในสามส่วน โจทก์และนายประพันธ์ซึ่งต้องรับผิดในคดีก่อนเสมือนเป็นบุคคลเดียวกันตามที่ได้วินิจฉัยแล้วจะต้องร่วมกันรับผิดชำระหนี้ถึงสองในสามส่วนอันเป็นความรับผิดในระหว่างลูกหนี้ตามคำพิพากษาด้วยกันเกินกว่าที่ต้องรับผิดตามคำพิพากษา ย่อมขัดกับข้อ 7 ของบันทึกข้อตกลงดังกล่าวที่ระบุว่า การลงนามตามบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ไม่ถือเป็นการยอมรับผิดเกี่ยวกับหนี้ตามคำพิพากษาจำนวนใด ๆ ระหว่างจำเลยร่วมในคำพิพากษาศาลฎีกาเกินกว่าที่ต้องรับผิดตามคำพิพากษานั้นด้วย ส่วนที่จำเลยอ้างว่า บันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.27 มีลักษณะเป็นสัญญาสองฝ่ายระหว่างโจทก์และจำเลยที่ต้องการระงับข้อพิพาทอันอาจมีขึ้นระหว่างกันโดยต่างยอมผ่อนผันแก่กันเกี่ยวกับความรับผิดในภาระหนี้ตามคำพิพากษาคดีก่อน บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ และความรับผิดในส่วนที่เป็นของนายประพันธ์ตามข้อ 4.3 ไม่ได้มีข้อความในบันทึกข้อตกลงว่าจะมีการเจรจาตกลงกันใหม่ให้จำเลยต้องรับผิดเกินกว่าหนึ่งในสามส่วน และนางภัทรวรรณ พยานโจทก์ก็เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านยอมรับว่า บันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.27 ไม่ได้มีข้อความสงวนสิทธิว่าโจทก์จะไปเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้เพิ่มจากหนึ่งในสามส่วนอีก ดังนั้นหลังจากบริษัท ม. ได้ชำระหนี้คืนให้แก่โจทก์หนึ่งในสามส่วนแทนจำเลยตามบันทึกข้อตกลงแล้ว หนี้ในส่วนของจำเลยจึงระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 นั้น เห็นว่า ตามคำให้การจำเลยมิได้ต่อสู้คดีว่าโจทก์และจำเลยได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันอันมีผลทำให้ข้อพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยระงับสิ้นไปแล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 252 ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้ และที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ในข้ออื่นของจำเลยโดยอ้างว่าไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง เป็นการไม่ชอบ เพราะอุทธรณ์ของจำเลยที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยเป็นปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในสาระสำคัญและมีผลต่อคำวินิจฉัยของศาลโดยอ้างเหตุผลต่าง ๆ นั้น เห็นว่า การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ในข้อใดเป็นดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ตามที่เห็นสมควร หากเห็นว่าแม้จะวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ไปอย่างไรก็ไม่ทำให้ผลคดีตามที่ได้วินิจฉัยแล้วเปลี่ยนแปลงไป ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ในข้อนั้นได้ และที่จำเลยอ้างเหตุผลในฎีกาข้อนี้ว่า คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์ยกขึ้นอ้างไม่ตรงกับข้อโต้แย้งกันในคดีนี้นั้นก็ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3091/2535 ที่จำเลยอ้างมาในฎีกา ข้อเท็จจริงและประเด็นที่โต้แย้งกันไม่ตรงกับคดีนี้ เมื่อคดีก่อนศาลวินิจฉัยโดยฟังว่า นายประพันธ์และจำเลยเป็นผู้ทำละเมิด ส่วนโจทก์ต้องร่วมรับผิดฐานเป็นนายจ้างของนายประพันธ์ การแบ่งความรับผิดระหว่างลูกหนี้ตามคำพิพากษาด้วยกันจึงต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน โดยนายประพันธ์กับโจทก์ร่วมกันรับผิดกึ่งหนึ่ง และจำเลยรับผิดอีกกึ่งหนึ่ง และบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.27 เป็นเพียงข้อตกลงให้โจทก์ชำระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนให้เสร็จสิ้น กับให้จำเลยโดยบริษัท ม. ชำระหนี้ตามความรับผิดของจำเลยหนึ่งในสามส่วนไปก่อนเท่านั้น จำเลยจึงยังต้องรับผิดชำระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนที่ขาดจำนวนจากความรับผิดในส่วนของจำเลยเป็นเงินอีก 62,550,454.47 บาท ให้แก่โจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระต้นเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 21 มกราคม 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น เนื่องจากได้มีการประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 ซึ่งตามมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวบัญญัติให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามลำดับ และให้ใช้ข้อความใหม่แทน อันมีผลให้ในกรณีที่ต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือบทกฎหมายโดยชัดแจ้ง ก็ให้ใช้อัตราร้อยละ 3 ต่อปี และในกรณีที่เป็นหนี้เงินให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี เว้นแต่เจ้าหนี้อาจเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงการคิดดอกเบี้ยก่อนที่พระราชกำหนดดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยที่จำเลยต้องรับผิดชำระให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ และปัญหาเรื่องการคิดดอกเบี้ยเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาแก้ไขโดยกำหนดดอกเบี้ยให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 มกราคม 2559 จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 หากกระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ