โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 284, 285, 285/1, 309, 310, 317, 321/1, 391
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา เด็กหญิง ฑ. ผู้เสียหายที่ 1 โดยนาง อ. มารดาผู้แทนโดยชอบธรรม และนาง อ. ผู้เสียหายที่ 3 ยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องในคดีส่วนแพ่ง ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าล่วงละเมิดทางเพศผู้เสียหายที่ 1 เป็นเงิน 500,000 บาท ค่าเสียหายต่อร่างกาย จากการทำร้ายร่างกาย หน่วงเหนี่ยวกักขังและข่มขืนใจผู้เสียหายที่ 1 มิให้กระทำการใด เป็นเงิน 100,000 บาท และค่าละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 3 เป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่จำเลยกระทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้เรียกผู้เสียหายที่ 1 ว่า ผู้ร้องที่ 1 และเรียกผู้เสียหายที่ 3 ว่า ผู้ร้องที่ 2
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม, 284 วรรคแรก, 309 วรรคแรก, 310 วรรคแรก, 317 วรรคสาม, 391 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน ฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้าย ฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยใช้กำลังประทุษร้าย ฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย และฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 12 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร จำคุก 7 ปี รวมจำคุก 19 ปี ข้อหาอื่นให้ยก กับให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องที่ 1 เป็นเงิน 300,000 บาท และผู้ร้องที่ 2 เป็นเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2558 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงซึ่งจำเลยมิได้โต้แย้งในชั้นฎีการับฟังยุติได้ว่า เด็กหญิง ฑ. ผู้เสียหายที่ 1 เป็นบุตรของนาย บ. ผู้เสียหายที่ 2 และนาง อ. ผู้เสียหายที่ 3 ขณะเกิดเหตุ ผู้เสียหายที่ 1 มีอายุ 7 ปีเศษ เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ส่วนจำเลยรับราชการเป็นครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 อยู่ที่โรงเรียนเดียวกัน สำหรับความผิดในบทฉกรรจ์ข้อหากระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งเป็นศิษย์อยู่ในความดูแล ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่อุทธรณ์ ข้อเท็จจริงจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าผู้เสียหายที่ 1 มิใช่ศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 หรือไม่ จำเลยฎีกาโต้แย้งเป็นประการแรกว่า ในวันเกิดเหตุช่วงเวลา 16 ถึง 17 นาฬิกา ซึ่งโรงเรียนเลิกแล้ว ยังมีนาง ช. พยานโจทก์ทำหน้าที่เป็นครูเวร กับนาย ก. นักการภารโรงพยานจำเลย อยู่ที่โรงเรียน พยานทั้งสองปากนี้เบิกความสอดคล้องกันว่าไม่เห็นผู้เสียหายที่ 1 และเด็กหญิง พ. ประจักษ์พยานโจทก์ย้อนกลับเข้ามาที่โรงเรียนอีก จึงไม่น่าเชื่อตามคำประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสองปากดังกล่าวที่ยืนยันว่าจำเลยเรียกผู้เสียหายที่ 1 ให้เข้าไปรับเงินที่ห้องเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งอยู่บนชั้นสองของอาคารที่เกิดเหตุ จากนั้นกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ภายในห้องเรียนดังกล่าว โดยมีเด็กหญิง พ. แอบมองลอดช่องประตูห้องเรียนที่เปิดแง้มไว้ เห็นว่า ขณะเบิกความเด็กหญิง พ. มีอายุประมาณ 9 ปี เรียนหนังสืออยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งนับว่ายังอ่อนเยาว์ต่อโลก การจดจำในเรื่องราวต่าง ๆ ย่อมไม่ละเอียดละออเท่ากับผู้ใหญ่ จึงอาจทำให้การเล่าเรื่องที่ประสบเหตุไม่ตรงตามเหตุการณ์ก่อนหลังที่เกิดขึ้นได้ ดังจะเห็นได้จากคำเบิกความของนาง ช. พยานโจทก์ซึ่งเป็นครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ห้องที่ผู้เสียหายที่ 1 เรียนหนังสืออยู่เบิกความว่า เด็กหญิง พ. จะเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแก่ผู้เสียหายที่ 1 ให้พยานฟังเป็นแต่ละตอนตามที่ครูแต่ละคนถาม ไม่ได้เล่าเป็นเรื่องราวต่อเนื่องกัน ซึ่งเมื่อตรวจดูคำให้การชั้นสอบสวนของเด็กหญิง พ. เกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นแล้ว จะเห็นว่าเมื่อเด็กหญิง พ. พบเห็นเหตุการณ์ที่จำเลยล่วงละเมิดทางเพศแก่ผู้เสียหายที่ 1 เด็กหญิง พ. หาได้กลับไปบอกให้นาย ซ. ทราบเหมือนดังเช่นที่เบิกความในชั้นพิจารณาไม่ หากแต่ได้แอบดูอยู่จนกระทั่งจำเลยออกจากห้องและตนเองได้เข้าไปช่วยแก้มัดให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 จากนั้นค่อยพาผู้เสียหายที่ 1 กลับบ้านนาย ซ. ซึ่งผู้เสียหายที่ 1 พักอาศัยอยู่ด้วยแล้วเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ฟัง แต่นาย ซ.ไม่ได้ยินเนื่องจากมีเสียงดังรบกวนจากงานบวชนาคใกล้บ้าน ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ว่าตนเองและเด็กหญิง พ. เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้นาย ซ. ฟังในภายหลัง ฉะนั้น เชื่อได้ว่าเด็กหญิง พ. พยานโจทก์มิได้กลับไปบอกนาย ซ. ในทันทีที่เห็นผู้เสียหายที่ 1 ถูกล่วงละเมิดทางเพศแต่อย่างใด เพียงแต่พยานโจทก์ปากนี้เบิกความโดยลำดับเหตุการณ์สับสนไปบ้างเท่านั้น ส่วนระยะเวลาที่จำเลยล่วงละเมิดทางเพศแก่ผู้เสียหายที่ 1 ไม่ปรากฏชัดว่ายาวนานเพียงใด แต่ก็ได้ความตามคำเบิกความผู้เสียหายที่ 1 ประกอบคำให้การในชั้นสอบสวนเกี่ยวกับเหตุการณ์ในขณะนั้นว่า จำเลยพูดบังคับให้ผู้เสียหายที่ 1 ถอดเสื้อผ้า แต่ผู้เสียหายที่ 1 ไม่ยินยอม จำเลยจึงเข้ามาถอดเสื้อผ้าผู้เสียหายที่ 1 ออกทุกชิ้น แล้วจำเลยถอดเสื้อผ้าของจำเลยออก บังคับผู้เสียหายที่ 1 ให้นอนลงกับพื้น ผู้เสียหายที่ 1 ไม่ยินยอม จึงถูกจำเลยทำร้ายร่างกายด้วยการตบปากจนผู้เสียหายที่ 1 กลัวและร้องไห้ ขณะจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 โดยใช้อวัยวะเพศสอดใส่อวัยวะเพศผู้เสียหายที่ 1 จำเลยกระทำชำเราอยู่นานจนผู้เสียหายที่ 1 รู้สึกเจ็บ นอกจากนั้นจำเลยยังให้ผู้เสียหายที่ 1 อมอวัยวะเพศของจำเลยด้วย ต่อมาจำเลยใช้เชือกมัดผู้เสียหายที่ 1 ไว้ที่เก้าอี้พร้อมกับให้เงินผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 2,000 บาท โดยข่มขู่ผู้เสียหายที่ 1 มิให้นำเรื่องที่เกิดขึ้นไปบอกผู้ใดมิเช่นนั้นจะใช้มีดฟันให้ตายอีก พฤติการณ์ล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นดังกล่าว จำเลยกระทำในลักษณะที่ตนมีอำนาจบังคับเหนือผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นนักเรียนเด็กเล็ก ต้องมีความยำเกรงเชื่อฟังกระทำตามคำสั่งของจำเลย เมื่อผู้เสียหายที่ 1 ไม่ยินยอม จำเลยก็ใช้กำลังประทุษร้ายข่มขู่ให้หวาดกลัวด้วยเห็นว่าผู้เสียหายที่ 1 ไม่มีทางต่อสู้ขัดขืนหรือหลบหนี ภายหลังจากจำเลยออกจากห้องและขับรถจักรยานยนต์ออกไป เด็กหญิง พ. จึงเข้าไปในห้องเรียนที่เกิดเหตุช่วยแก้มัดให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 และให้ผู้เสียหายที่ 1 ใส่เสื้อผ้า ผู้เสียหายที่ 1 โกรธจำเลยซึ่งล่วงเกินตนจึงฉีกธนบัตรที่จำเลยให้ไว้ 2,000 บาท ทิ้งลงบนพื้นห้อง ส่อถึงระยะเวลาของเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นทั้งหมดที่ดำเนินไปอย่างยาวนานจนล่วงเลยเวลาซึ่งนาง ช. อยู่เวรที่โรงเรียนเพียงแค่ 17 นาฬิกา เป็นเหตุให้คลาดกันกับผู้เสียหายที่ 1 และเด็กหญิง พ. ส่วนนาย ก. นั้นรับฟังไม่ได้ว่าพูดคุยอยู่กับนาง ช. ที่บ้านพักนักการภารโรงดังวินิจฉัยไว้ข้างต้นและไม่ปรากฏว่านาย ก. ไปอยู่ที่ใด ฉะนั้น การที่พยานทั้งสองมิได้พบกับผู้เสียหายที่ 1 หรือเด็กหญิง พ. ประจักษ์พยานโจทก์ในขณะที่พากันออกจากโรงเรียนเพื่อกลับบ้านหลังจากเกิดเหตุ จึงหาใช่เรื่องที่จะยืนยันว่าประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสองปากดังกล่าวไม่ได้มาประสบเหตุที่โรงเรียนดังที่ได้เบิกความไว้ไม่ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาโต้แย้งในประการต่อไปว่า ในวันเกิดเหตุเมื่อนาย ก. ไปปฏิบัติหน้าที่ปิดประตูและหน้าต่างห้องเรียนตามอาคารเรียนไม่พบสิ่งผิดปกติใด ๆ เช่น เศษธนบัตรที่ถูกฉีก น้ำอสุจิ เลือดและเชือกฟางสีแดงบนพื้นห้องเรียนที่เกิดเหตุนั้น ข้อนี้ นาย ก. พยานจำเลยเบิกความว่า เมื่อโรงเรียนเลิกเวลา 15.30 นาฬิกา พยานเริ่มปิดประตูและหน้าต่างห้องเรียนของอาคาร ส. เป็นลำดับแรก ถัดมาเป็นอาคารที่เกิดเหตุ กรณีจึงเป็นไปได้ว่าพยานปิดประตูและหน้าต่างห้องเรียนที่เกิดเหตุเสร็จเรียบร้อยแล้วก่อนที่จำเลยจะเรียกผู้เสียหายที่ 1 ให้ตามจำเลยขึ้นไปบนห้องเรียนดังกล่าว ดังเห็นได้จากที่ผู้เสียหายที่ 1 และเด็กหญิง พ. พยานโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านสอดคล้องกันว่า ขณะเกิดเหตุหน้าต่างห้องเรียนที่เกิดเหตุปิดหมดทุกบานแล้ว ฉะนั้น การที่นาย ก. ไม่พบหลักฐานการกระทำความผิดบนพื้นห้องเรียนที่เกิดเหตุจึงหาทำให้พยานหลักฐานโจทก์เป็นพิรุธแต่ประการใด ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น สำหรับข้อฎีกาของจำเลยในประการต่อไปว่า เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2559 ผู้เสียหายที่ 1 ไม่ให้ข้อเท็จจริงใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ข้อเท็จจริงทั้งหมดได้มาจากคำบอกเล่าของเด็กหญิง พ. ในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาผู้เสียหายที่ 1 จึงค่อยให้การและเบิกความเป็นเช่นเดียวกับที่เด็กหญิง พ. บอกเล่าด้วยถูกเสี้ยมสอนมา ทั้งที่ไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงนั้น เห็นว่า พฤติการณ์ล่วงละเมิดทางเพศอันจำเลยกระทำต่อผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งมีความอ่อนแอทั้งทางร่างกายและจิตใจดังเช่นที่เกิดขึ้นนี้ นอกจากจะสร้างความเจ็บปวดทางร่างกายแก่ผู้เสียหายที่ 1 แล้ว ยังสร้างบาดแผลในจิตใจให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งต้องทนทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสกับสิ่งที่เกิดขึ้นแก่ตนด้วย เมื่อต้องคิดหรือกล่าวถึงครั้งใดย่อมเกิดเป็นภาพในมโนสำนึกว่าตนถูกจำเลยล่วงละเมิดซ้ำแล้วซ้ำอีก การที่ผู้เสียหายที่ 1 ไม่บอกเล่าเรื่องเมื่อถูกสอบถามโดยผู้เกี่ยวข้อง ย่อมเห็นได้ชัดว่าผู้เสียหายที่ 1 ไม่ต้องการคิดถึงภาพที่ตนถูกย่ำยีอย่างโหดร้ายจากผู้ที่เป็นครูในโรงเรียนซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจและเป็นที่พึ่งพิงของตนนั่นเอง หาใช่เพราะไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงไม่ โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่สร้างตราบาปให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งอาจต้องทนทุกข์ทรมานไปทั้งชีวิตจากการถูกโจษขานว่าเป็นนักเรียนที่ถูกครูกระทำชำเราเช่นนี้ หากมิได้เกิดขึ้นจริง ก็ไม่เชื่อว่าจะมีบุคคลใดในครอบครัวของผู้เสียหายที่ 1 จะยอมให้มีการปั้นแต่งเรื่องราวซึ่งเป็นการทำร้ายและสร้างปมด้อยให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 ดังกล่าวขึ้นมาเพียงเพื่อจะกลั่นแกล้งจำเลย ด้วยการเสี้ยมสอนผู้เสียหายที่ 1 ให้ให้การหรือเบิกความดังที่จำเลยฎีกา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนข้อฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายเกี่ยวกับพยานฐานที่อยู่ของจำเลยนั้น เห็นว่า เมื่อคดีโจทก์มีประจักษ์พยานยืนยันการกระทำความผิดของจำเลยได้อย่างหนักแน่น การอ้างฐานที่อยู่เพื่อหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ จำเลยจึงต้องมีพยานหลักฐานที่ทำให้ไม่อาจคิดเห็นได้เป็นอย่างอื่นว่าจำเลยอยู่ ณ สถานที่แห่งนั้นในขณะเกิดเหตุมานำสืบสนับสนุน แต่พยานหลักฐานจำเลยล้วนมีแต่พยานบุคคลซึ่งตามปกติจักต้องรับฟังด้วยความระมัดระวังเนื่องจากอาจเป็นพยานที่มาเบิกความช่วยเหลือจำเลยได้ ดังนี้เมื่อปรากฏว่าพยานจำเลยดังกล่าวเบิกความขัดแย้งแตกต่างกันดังข้อวินิจฉัยของศาลชั้นต้น เพราะเมื่อพยานแต่ละปากต่างยืนยันว่าอยู่กับจำเลยที่บ้านโดยตลอด แล้วเหตุใดพยานทั้งสองจึงไม่ได้พบกัน ข้อแตกต่างในคำพยานจำเลยลักษณะนี้จึงไม่มีน้ำหนักในการรับฟัง ฎีกาของจำเลยโต้แย้งว่า การที่พยานจำเลยทั้งสองปากข้างต้นเบิกความตรงกันว่าจำเลยอยู่ที่บ้าน ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ ก็มีคุณค่าควรรับฟังแล้ว ส่วนจะมีผู้ใดมาที่บ้านจำเลยหาใช่ประเด็นข้อสำคัญไม่นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันให้ลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ภายหลังจากจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 แล้ว โจทก์ยังฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคแรก จากกรณีที่จำเลยจับผู้เสียหายที่ 1 มัดไว้กับเก้าอี้เป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง และฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต จนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมต่อสิ่งนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคแรก จากกรณีที่จำเลยข่มขู่ผู้เสียหายที่ 1 มิให้นำเรื่องที่เกิดขึ้นไปบอกผู้ใด มิฉะนั้นจะใช้มีดฟันให้ตาย เป็นความผิดอีกกรรมหนึ่งด้วย ซึ่งลักษณะความผิดในแต่ละข้อหาดังกล่าวแม้จะเป็นการกระทำต่อเนื่องเชื่อมโยงอยู่ในวาระเดียวกันโดยมุ่งหมายมิให้ผู้เสียหายที่ 1 บอกเรื่องที่จำเลยกระทำต่อบุคคลอื่นจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน แต่ความผิดทั้งสองข้อหาดังกล่าวอาศัยเจตนาในการกระทำความผิดแตกต่างแยกจากความผิดฐานกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ได้ จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน หาใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์มิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่เมื่อโจทก์มิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยครบทุกกรรมได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
นอกจากนี้ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 มาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 277 และให้ใช้ความที่บัญญัติใหม่แทน และมาตรา 3 ให้เพิ่มความในมาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา " (18) "กระทำชำเรา" หมายความว่า กระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น" การกระทำของจำเลยยังคงเป็นการกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 และกฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังและฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต จนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมต่อสิ่งนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคแรก (เดิม) และมาตรา 309 วรรคแรก (เดิม) เป็นความผิดต่างกรรมกันอีกกรรมหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ