โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗, ๑๖๐, ๑๖๑, ๑๖๒, ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๖, ๘๓, ๙๑ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๑๓ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๒ พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๗, ๑๑, ๕๔, ๖๙, ๗๒ ตรี, ๗๓, ๗๔ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๔ มาตรา ๖ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๔ มาตรา ๑๗ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๗, ๒๒ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓, ๗, ๙ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๒๕ มาตรา ๓, ๔ และริบไม้ของกลางพร้อมเอกสารของกลางทั้งหมด
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธทั้งสองสำนวน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ และมาตรา ๑๖๒ ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ จำนวน ๙ กรรม กรรมละ ๑ ปี รวม ๙ ปี และให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๖๒ จำนวน ๙ กรรม กรรมละ ๓ เดือน รวม ๒ ปี ๓ เดือน รวมจำคุกทั้งสิ้น ๑๑ ปี ๓ เดือน ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกไว้ ๗ ปี ๖ เดือน ริบไม้ของกลางและเอกสารทั้งหมด ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๒ ทุกบทมาตรา คำขออื่นท้ายฟ้องทั้งสองคดีให้ยก
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ทั้งสองสำนวน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกาทั้งสองสำนวน
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่ให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ รวม ๙ กระทง และลงโทษตามมาตรา ๑๖๒ อีกรวม ๙ กระทง เป็นการมิชอบ เพราะการกระทำของจำเลยที่ ๑ ในส่วนที่เกี่ยวกับความผิดตามมาตรา ๑๕๗ และมาตรา ๑๖๒ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายนั้น ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงมาว่า จำเลยที่ ๑ รับราชการมีตำแหน่งเป็นที่ดินอำเภอได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจสอบไม้ในที่ดิน น.ส.๓ มีหน้าที่ออกไปตรวจสอบว่า มีไม้ขึ้นอยู่ในที่ดินแปลงที่ขออนุญาติทำไม้หรือไม่ แต่จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ออกไปตรวจสอบ อันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และจำเลยที่ ๑ ลงลายมือชื่อรับรองในบันทึกการตรวจสอบไม้ว่า เห็นสมควรให้ทำไม้ยางออกจากที่ดิน น.ส.๓ ทั้ง ๙ ราย เป็นการรับรองเป็นหลักฐานว่าตนได้ออกไปตรวจสอบไม้ดังกล่าวอันเป็นความเท็จ เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ ๑ ที่ไม่ออกไปตรวจสอบไม้ในที่ดิน น.ส.๓ ตามที่ตนมีหน้าที่ ซึ่งเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกันกับการที่จำเลยที่ ๑ ลงลายมือชื่อในบันทึกการตรวจสอบไม้รับรองว่าตนได้ไปตรวจสอบแล้ว อันเป็นความเท็จ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ ทั้งนี้ โดยจำเลยมีเจตนาเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นในคราวเดียวกันนั่นเอง จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษตามกฎหมายบทที่มีโทษที่หนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๑ โดยแยกลงโทษตามมาตรา ๑๕๗ กับมาตรา ๑๖๒ เป็นคนละกรรมนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ ๑ ในข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ และมาตรา ๑๖๒ (๑) ให้ลงโทษตามมาตรา ๑๕๗ อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด รวม ๙ กระทง จำคุกกระทงละ ๑ ปี รวมเป็นจำคุก ๙ ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุก ๖ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์