โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเก้าตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4, 4 ทวิ, 5, 6, 10, 12, 15 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 39, 40, 44, 45, 46, 47, 83, 91 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9, 18 ห้ามมิให้จำเลยทั้งเก้าออกนอกเคหสถาน หรือห้ามเข้าเขตกำหนด หรือห้ามไม่ให้เข้าไปในท้องที่หรือสถานที่ที่กำหนด หรือมีคำสั่งให้จำเลยทั้งเก้าทำทัณฑ์บนโดยกำหนดจำนวนเงินไม่เกินห้าหมื่นบาท โดยจะมีคำสั่งให้มีประกันด้วยหรือไม่ก็ได้ และหากจำเลยทั้งเก้าไม่ยอมทำทัณฑ์บนหรือหาประกันไม่ได้ ให้มีคำสั่งกักขังจำเลยทั้งเก้าไว้จนกว่าจะทำทัณฑ์บนหรือหาประกันได้ ริบของกลางทั้งหมด และให้จำเลยทั้งเก้าจ่ายสินบนนำจับแก่ผู้นำจับตามกฎหมายจำเลยทั้งเก้าให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งเก้ามีความผิดตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 12 (2) (ที่ถูก มาตรา 4 วรรคหนึ่ง วรรคสอง, 4 ทวิ วรรคหนึ่ง, 12 (1) (2)) พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 (2) (ที่ถูก มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2)), 18 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งเก้าเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันจัดให้มีการเล่นการพนัน (ที่ถูก การกระทำของจำเลยทั้งเก้าเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 12 (1) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90) จำคุกคนละ 4 เดือน ฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามชุมนุมหรือมั่วสุม จำคุกคนละ 6 เดือน รวมจำคุกคนละ 10 เดือน จำเลยทั้งเก้าให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 5 เดือน ริบของกลาง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งเก้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามชุมนุมหรือมั่วสุม จำคุกคนละ 1 เดือน ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุกคนละ 15 วัน เมื่อรวมกับโทษฐานร่วมกันจัดให้มีการเล่นการพนันกำถั่วและหวยออนไลน์ เป็นจำคุกคนละ 2 เดือน 15 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฎีกาในทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มิได้เป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันและประกาศโฆษณาชักชวนให้ผู้อื่นเข้าร่วมเล่นการพนัน และมิได้เป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากธนาคารของกลาง ส่วนจำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 ฎีกาในทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 เป็นเพียงลูกจ้าง ไม่ทราบว่าบุคคลใดเป็นเจ้าของเว็บไซต์เล่นการพนัน สถานที่เกิดเหตุมีพื้นที่ใหญ่พอสมควรไม่ได้แออัด ขณะถูกจับกุมจำเลยทั้งเก้าอยู่คนละห้องแยกจากกันไม่มีบุคคลอื่นมามั่วสุมนั้น มีลักษณะเป็นการฎีกาโต้แย้งว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ไม่ได้กระทำความผิดในข้อหาตามฟ้องโจทก์ อันเป็นการขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นความผิดฐานฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 หรือไม่ เห็นว่า เหตุคดีนี้เกิดขึ้นที่จังหวัดระยอง โดยขณะเกิดเหตุได้มีข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 15) ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2563 ข้อ 3 กำหนดห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งนี้ ภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกำหนด ประกาศคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ที่ 1/2564 เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 3 มกราคม 2564 ได้กำหนดให้จังหวัดระยองเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 7 มกราคม 2564 ข้อ 2 ห้ามมิให้มีการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค หรือการกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่โรค ณ ที่ใด ๆ ทั่วราชอาณาจักร และข้อ 3 ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย ซึ่งมีประกาศหรือคำสั่งให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด เว้นแต่การทำกิจกรรมโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานที่กักกันโรคโดยมีมาตรการทางสาธารณสุขรองรับ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะกระทำความผิด แม้ต่อมาระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาจะมีข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 37) ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2564 และคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ที่ 19/2564 เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม และพื้นที่เฝ้าระวังสูง ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2564 ออกใช้บังคับในภายหลัง แต่ก็ไม่ปรากฏว่าข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 37) ได้มีการกำหนดให้ยกเลิกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 15) ที่ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยแต่อย่างใด เพียงแต่ปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดจำแนกตามระดับพื้นที่สถานการณ์ รวมทั้งปรับเกณฑ์การพิจารณาให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับแผนการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยว โดยในข้อ 2 ยังคงกำหนดห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลเพื่อลดความเสี่ยงในการติดต่อสัมผัสกันที่สามารถแพร่โรคได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่ได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ที่จะพิจารณาเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จัดกิจกรรมและสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ โดยกำหนดปรับปรุงเฉพาะเรื่องจำนวนบุคคลที่เข้ารวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมจำแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์ ซึ่งพื้นที่ควบคุมสูงสุด ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าสองร้อยคนเท่านั้น แต่ยังกำหนดไว้ในข้อ 2 วรรคสอง ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกำหนดอยู่เช่นเดิม ทั้งตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ที่ 19/2564 ก็ยังคงกำหนดให้จังหวัดระยองที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดเช่นเดียวกัน ดังนั้นข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 37) ที่ออกใช้บังคับภายหลังจึงหาได้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงมีความผิดฐานฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ข้อสุดท้ายว่า กรณีมีเหตุสมควรลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ร่วมกันจัดให้มีการเล่นการพนันออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ หลายประเภทตามบัญชี ก. บัญชี ข. และการเล่นพนันอื่นใดตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 โดยการโฆษณาประกาศชักชวนให้ผู้อื่นเข้าเล่นพนันเอาทรัพย์สินกันทางอินเทอร์เน็ตผ่านเว็บไซต์ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย และเจ้าพนักงานตำรวจยึดได้ของกลางเป็นอุปกรณ์เกี่ยวกับเครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ และสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร เป็นจำนวนมากหลายรายการ ทั้งยังได้ความจากฎีกาของจำเลยที่ 4 ถึงที่ 9 ว่ามีการแบ่งหน้าที่กันทำประจำแต่ละห้องคล้ายบ่อนคาสิโน ซึ่งมีลักษณะเป็นการจัดให้มีการเล่นการพนันออนไลน์รายใหญ่และกระทำเป็นขบวนการ เป็นการมอมเมาประชาชนให้ลุ่มหลงในอบายมุข โดยเฉพาะในหมู่เยาวชน อันเป็นบ่อเกิดของปัญหาสังคมและอาชญากรรมร้ายแรงอื่น ๆ ตามมาอีกหลายประการ ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนส่วนรวม โดยมุ่งหวังประโยชน์ส่วนตนเพียงอย่างเดียว ทั้งขณะเกิดเหตุมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ห้ามมิให้มีการร่วมชุมนุม ทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกันในสถานที่แออัดอันจะเป็นการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) หรือกระทำการอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย พฤติการณ์แห่งคดีนับว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรง กรณียังไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 แต่อย่างไรก็ตามไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ฟังขึ้นบางส่วน และกรณีเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 และมาตรา 225 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4
อนึ่ง ความผิดฐานร่วมกันจัดให้มีการเล่นการพนันและฐานร่วมกันฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จำเลยทั้งเก้ามีเจตนาจัดให้มีการเล่นพนัน โดยประกาศโฆษณาชักชวนให้ผู้อื่นเข้าเล่นพนันและฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเวลาเดียวกัน อันเป็นเจตนาเดียวกัน การกระทำความผิดของจำเลยทั้งเก้าจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทมิใช่หลายกรรมต่างกัน ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้งเก้าเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน จึงเป็นการไม่ชอบ กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และกรณีเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 และมาตรา 225 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานร่วมกันจัดให้มีการเล่นการพนันและฐานร่วมกันฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันจัดให้มีการเล่นการพนัน ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยทั้งเก้าเป็นกักขังแทน มีกำหนดคนละ 2 เดือน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2