คดีนี้ เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อย.4784/2560 ของศาลชั้นต้น โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในสำนวนนี้ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และเรียกจำเลยในสำนวนดังกล่าวว่า จำเลยที่ 5 แต่คดีสำหรับจำเลยที่ 5 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 97, 100/1, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 4, 8 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 92 ริบของกลาง ยกเว้นรถยนต์บรรทุกสิบล้อและรถพ่วง เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตามกฎหมาย และนับโทษจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1376/2559 ของศาลจังหวัดลพบุรี
จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพ และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษและนับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) (ที่ถูก (ที่แก้ไขใหม่)), 66 วรรคสาม พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน กับฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่ละบทมีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) คงจำคุกจำเลยทั้งสี่ตลอดชีวิต ริบเมทแอมเฟตามีน โทรศัพท์เคลื่อนที่ และโทรศัพท์แท็บเล็ตของกลาง ส่วนที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 นั้น เนื่องจากศาลลงโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ถึงประหารชีวิต จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อีกได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 51 คำขอในส่วนนี้ให้ยก และที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1376/2559 ของศาลจังหวัดลพบุรี นั้น เมื่อคดีดังกล่าวยังไม่ได้มีคำพิพากษา จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ คำขอในส่วนนี้ให้ยกเช่นกัน
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนมายังศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 16
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) (ที่แก้ไขใหม่), 66 วรรคสาม, 100/2 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 40 ปี และปรับคนละ 800,000 บาท เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ประกอบมาตรา 51 เป็นจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 50 ปี และปรับ 1,066,666.66 บาท ลดโทษให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปี และปรับ 400,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 25 ปี และปรับ 533,333.33 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี โทษจำคุกสำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 กับนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อตำรวจ ซึ่งศาลจะลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นก็ได้ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของพันตำรวจตรีสมบูรณ์ ผู้ร่วมจับกุม ว่า พยานได้รับแจ้งจากสายลับว่ามีการลำเลียงยาเสพติดจากภาคเหนือเข้าสู่ภาคกลางโดยใช้รถยนต์บรรทุกสิบล้อปะปนมากับพืชผลทางการเกษตร การสืบสวนทราบว่ามีรถยนต์บรรทุกสิบล้อเดินทางมาจากจังหวัดพะเยาขนส่งยาเสพติดมาส่งที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาหลายครั้ง โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุกข้าวสารของนายธนโชติ ครั้งล่าสุดมีการขนส่งยาเสพติดมาพร้อมข้าวสารในรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวเพื่อส่งให้เฮียหมู ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พยานให้ผู้ใต้บังคับบัญชาตรวจสอบรถยนต์ที่เข้าสู่ด่านจนพบรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2559 เวลาประมาณ 14 นาฬิกา มีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับ เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกผ่านอุโมงค์เอกซเรย์ที่ด่านพบเมทแอมเฟตามีนของกลางซุกซ่อนอยู่ในกล่องพลาสติกคลุมด้วยผ้าใบวางไว้ที่ท้ายรถยนต์บรรทุก จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพว่าได้รับว่าจ้างจากจำเลยที่ 2 ให้มาส่งที่จังหวัดพะเยาและจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยรับค่าจ้างก่อน 40,000 บาท ค่าจ้างที่เหลือจะได้รับหลังจากส่งมอบยาเสพติดประมาณ 5 วัน หลังจากแจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ให้ข้อมูลดังกล่าวแล้ว พยานสืบสวนขยายผลตามคำให้การของจำเลยที่ 1 โดยจัดให้จำเลยที่ 1 ติดต่อกับจำเลยที่ 2 แล้วให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกของกลาง โดยมีเจ้าพนักงานตำรวจปลอมตัวเป็นเด็กท้ายรถไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพื่อส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้จำเลยที่ 2 ต่อมาเวลาประมาณ 21 นาฬิกา จำเลยที่ 2 โทรศัพท์ติดต่อจำเลยที่ 1 นัดส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เวลาประมาณ 24 นาฬิกา จำเลยที่ 2 โทรศัพท์ติดต่อจำเลยที่ 1 อีก แจ้งว่าให้ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางบริเวณทางออกสถานีบริการน้ำมัน โดยจำเลยที่ 2 จะขับรถกระบะ 4 ประตู ยี่ห้ออีซูซุไปจอดเทียบเพื่อรับมอบเมทแอมเฟตามีนของกลาง ต่อมาเวลา 0.30 นาฬิกาของวันที่ 27 พฤศจิกายน 2559 พยานกับพวกเดินทางถึงจุดนัดหมาย หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 โทรศัพท์ติดต่อจำเลยที่ 1 ว่ามาถึงแล้วและขับรถกระบะมาจอดท้ายรถยนต์บรรทุกของกลาง จากนั้นให้เจ้าพนักงานตำรวจที่ปลอมตัวเป็นเด็กท้ายรถช่วยขนเมทแอมเฟตามีนของกลางโดยจำเลยที่ 2 ช่วยขนด้วย ระหว่างขนเมทแอมเฟตามีนของกลางเจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมจำเลยที่ 2 เมื่อแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 แจ้งว่าจะมีคนมารับเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยที่ 2 ในบ่ายวันดังกล่าว 250 มัด ประมาณ 500,000 เม็ด จำเลยที่ 2 ไม่ทราบชื่อ แต่เรียกว่าเฮีย จะส่งลูกน้อง 2 ถึง 3 คน มารับเมทแอมเฟตามีนของกลาง โดยใช้โทรศัพท์ติดต่อกับจำเลยที่ 2 นัดหมายส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท.จิ๊ฟฟี่ สาขาอยุธยา ติดถนนเอเชียไฮเวย์ ต่อมามีการประชุมเพื่ออำพรางส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางตามที่จำเลยที่ 2 นัดหมาย โดยมอบหมายให้พันตำรวจโทปัญญา เป็นผู้สั่งการ และร้อยตำรวจโทดนัย เป็นเจ้าหน้าที่อำพรางทำหน้าที่ขับรถกระบะที่ยึดได้จากจำเลยที่ 2 ซึ่งบรรทุกกล่องพลาสติกบรรจุเมทแอมเฟตามีนของกลางนำไปส่งตามนัดหมาย และคำเบิกความของพันตำรวจโทปัญญาผู้ร่วมจับกุมว่า จำเลยที่ 2 ให้การว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นของเจ๊กี้ซึ่งอยู่ภาคเหนือ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำหน้าที่กระจายเมทแอมเฟตามีน ระหว่างนั้นมีชายชื่อเฮียโทรศัพท์ติดต่อมายังโทรศัพท์ของจำเลยที่ 2 นัดหมายส่งมอบเมทแอมเฟตามีนที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท.จิ๊ฟฟี่ หลักกิโลเมตรที่ 55 ถนนสายเอเชีย เมื่อถึงเวลานัดหมายพยานดักซุ่มบริเวณที่สามารถมองเห็นร้อยตำรวจโทดนัยได้ จนกระทั่งเวลาประมาณ 15 นาฬิกา มีรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า รถยนต์ยี่ห้อนิสสัน รถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า ขับเข้ามาในสถานีบริการน้ำมัน รถยนต์ยี่ห้อโตโยต้าจอดห่างจากรถกระบะที่ร้อยตำรวจโทดนัยขับ และรถยนต์อีก 2 คันจอดต่อท้ายรถกระบะ จากนั้นจำเลยที่ 3 ออกจากรถยนต์ยี่ห้อนิสสัน จำเลยที่ 4 ออกจากรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ช่วยกันยกกล่องเมทแอมเฟตามีนของกลาง พยานจึงสั่งให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวพันตำรวจตรีสมบูรณ์สืบสวนทราบเพียงว่าจำเลยที่ 1 จะนำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปส่งให้เฮียหมู ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเท่านั้น โดยไม่ได้สืบสวนทราบว่าเฮียหมูเป็นผู้ใด สถานที่ที่จำเลยที่ 1 จะส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้เฮียหมูเป็นสถานที่ใด และเมื่อจำเลยที่ 2 รับมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางแล้ว จำเลยที่ 2 จะนำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปส่งมอบให้ผู้ใดกับสถานที่ใด ดังนี้ ข้อมูลที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ต่อพันตำรวจตรีสมบูรณ์และพันตำรวจโทปัญญาจึงเป็นการนอกเหนือจากวิสัยที่เจ้าพนักงานตำรวจจะสามารถค้นพบหรือตรวจสอบถึงผู้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้จากการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติหรือของกลางที่ยึดได้ เมื่อการจับกุมจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผลโดยตรงจากการให้ข้อมูลหรือเบาะแสที่สำคัญของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อตำรวจ ซึ่งศาลจะลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นก็ได้ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน