โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4, 5, 6, 10, 12, 15 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 4, 5, 7, 9, 18, 19 ริบของกลางและจ่ายสินบนนำจับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งยี่สิบสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งยี่สิบสองมีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 4, 5, 7, 9, 18, 19 (ที่ถูก มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2), 18) พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4, 5, 6, 10, 12, 15 (ที่ถูก มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 12 (2)) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91 (ที่ถูก ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งยี่สิบสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91) ฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ปรับคนละ 5,000 บาท ฐานร่วมกันเล่นการพนัน จำเลยที่ 1 จำคุก 3 เดือน และปรับ 2,000 บาท จำเลยที่ 2 ถึงที่ 22 ปรับคนละ 1,600 บาท จำเลยทั้งยี่สิบสองให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน คงปรับคนละ 2,500 บาท ฐานร่วมกันเล่นการพนัน จำเลยที่ 1 คงจำคุก 1 เดือน 15 วัน และปรับ 1,000 บาท จำเลยที่ 2 ถึงที่ 22 คงปรับคนละ 800 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 เดือน 15 วัน และปรับ 3,500 บาท รวมปรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 22 คนละ 3,300 บาท โทษจำคุกจำเลยที่ 1 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง และให้จำเลยทั้งยี่สิบสองจ่ายสินบนนำจับตามกฎหมาย
โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูงภาค 4 ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมาย รับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จำเลยที่ 1 ให้จำคุก 1 เดือน โดยไม่ลงโทษปรับ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 22 จำคุกคนละ 1 เดือน อีกสถานหนึ่ง และฐานร่วมกันเล่นการพนัน จำเลยที่ 1 จำคุก 3 เดือน โดยไม่ลงโทษปรับ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 22 จำคุกคนละ 3 เดือน และปรับคนละ 2,000 บาท จำเลยทั้งยี่สิบสองให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน คงจำคุกคนละ 15 วัน ฐานร่วมกันเล่นการพนัน จำเลยที่ 1 จำคุก 1 เดือน 15 วัน ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 22 คงจำคุกคนละ 1 เดือน 15 วัน และปรับคนละ 1,000 บาท เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว จำเลยที่ 1 ให้จำคุก 2 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 22 ให้จำคุกคนละ 2 เดือน และปรับคนละ 3,500 บาท โทษจำคุกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 22 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยที่ 2 ถึงที่ 22 โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ภายในระยะเวลา 1 ปี และให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรเป็นเวลา 12 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า กรณีมีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 ร่วมเล่นการพนันไฮโลว์โดยเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ โดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 22 กับพวกที่หลบหนีร่วมเล่นการพนัน ซึ่งมีลักษณะเป็นการเล่นพนันวงใหญ่ เป็นการมอมเมาประชาชนให้ลุ่มหลงในอบายมุข อันเป็นบ่อเกิดของปัญหาสังคมตามมาอีกหลายประการ ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนส่วนรวม โดยมุ่งหวังประโยชน์ส่วนตนเพียงอย่างเดียว ทั้งขณะเกิดเหตุมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ห้ามมิให้มีการร่วมชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกันในสถานที่แออัดอันจะเป็นการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด - 19) หรือกระทำการอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย พฤติการณ์แห่งคดีนับว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรง แม้จะไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนและมีเหตุผลความจำเป็นส่วนตัวตามที่กล่าวอ้างมาในฎีกาก็ตาม กรณียังไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตามศาลฎีกาเห็นควรเปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นกักขังแทน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23
อนึ่ง ความผิดฐานร่วมกันเล่นการพนันและฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จำเลยทั้งยี่สิบสองมีเจตนาร่วมเล่นการพนันและฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเวลาเดียวกัน อันเป็นเจตนาเดียวกัน การกระทำความผิดของจำเลยทั้งยี่สิบสองจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทมิใช่หลายกรรมต่างกัน ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้งยี่สิบสองเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน จึงเป็นการไม่ชอบ กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และกรณีเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ถึงที่ 22 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 และมาตรา 225 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานร่วมกันเล่นการพนันและฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 15 วัน เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นกักขังแทนมีกำหนด 15 วัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 22 จำคุกคนละ 1 เดือน และปรับคนละ 5,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 15 วัน และปรับคนละ 2,500 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนดคนละ 1 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 22 ฟัง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่คุมความประพฤติจำเลยที่ 2 ถึงที่ 22 หากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 22 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกคำขอให้จ่ายเงินสินบนนำจับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4