โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสิบห้าตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4, 5, 6, 10, 12, 15 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 4, 5, 7, 9, 18, 19 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91 ริบของกลาง และให้จำเลยทั้งสิบห้าจ่ายสินบนนำจับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสิบห้าให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสิบห้ามีความผิดตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 10, 12 (2), 15 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 (2) (ที่ถูก มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2)), 18 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสิบห้าเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนัน จำเลยที่ 1 และที่ 2 จำคุกคนละ 3 เดือน และปรับคนละ 1,800 บาท ฐานร่วมเล่นการพนัน ปรับจำเลยทั้งสิบห้าคนละ 2,000 บาท ฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (ที่ถูก ฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน) ปรับจำเลยทั้งสิบห้าคนละ 5,000 บาท จำเลยทั้งสิบห้าให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนัน คงลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำคุกคนละ 1 เดือน 15 วัน และปรับคนละ 900 บาท ฐานร่วมเล่นการพนัน ปรับจำเลยทั้งสิบห้าคนละ 1,000 บาท ฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (ที่ถูก ฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน) ปรับจำเลยทั้งสิบห้าคนละ 2,500 บาท รวมจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำคุกคนละ 1 เดือน 15 วัน และปรับคนละ 4,400 บาท จำเลยที่ 3 ถึงที่ 15 ปรับคนละ 3,500 บาท โทษจำคุกของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง ให้จำเลยทั้งสิบห้าจ่ายสินบนนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับ
โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีแรงงานภาค 7 รักษาการในตำแหน่งอธิบดีอัยการสำนักงานคดีศาลสูงภาค 7 ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมาย รับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไม่ปรับ และไม่จ่ายสินบนนำจับในความผิดฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนัน จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้และฐานเป็นผู้ร่วมเล่นการพนัน เป็นการกระทำความผิดอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 เดือน และปรับ 2,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 เดือน 15 วัน และปรับ 1,000 บาท เมื่อรวมกับโทษของจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (ที่ถูก ฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน) ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก 1 เดือน 15 วัน และปรับ 3,500 บาท โทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า กรณีมีเหตุสมควรลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ 1 จัดให้มีการเล่นพนันไฮโลว์เอาทรัพย์สินกัน โดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 15 ร่วมเล่นพนันด้วย ถือว่ามีผู้เล่นจำนวนมาก มีลักษณะเป็นการเล่นพนันวงใหญ่ ก่อให้เกิดการลุ่มหลงมัวเมาในอบายมุขอันเป็นต้นเหตุของปัญหาสังคมตามมาอีกหลายประการส่งผลต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทั้งขณะเกิดเหตุมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ห้ามมิให้มีการร่วมชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกันในสถานที่แออัด อันจะเป็นการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด - 19) หรือกระทำการอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย พฤติการณ์แห่งคดีนับว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรง โทษจำคุกในความผิดฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันของจำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 กำหนดมาก่อนลดโทษให้นั้น นับว่าเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว กรณีไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลง ส่วนที่จำเลยที่ 1 ขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น ข้อเท็จจริงได้ความจากรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยที่ 1 ของพนักงานคุมประพฤติซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านว่า เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2554 จำเลยที่ 1 ถูกศาลลงโทษจำคุก 2 ปี 8 เดือน ในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2861/2552 ของศาลจังหวัดราชบุรี โดยจำเลยที่ 1 ได้รับการพักการลงโทษเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2557 แล้วจำเลยที่ 1 มากระทำความผิดในคดีนี้ กรณีจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 ได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 มานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
อย่างไรก็ตาม ความผิดฐานร่วมกันเล่นการพนันและฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 15 มีเจตนาเล่นการพนันและฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเวลาเดียวกัน อันเป็นเจตนาเดียวกัน การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 15 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่หลายกรรมต่างกัน ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 15 เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน เป็นการไม่ชอบ และการที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนัน ย่อมเป็นความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินอีกบทหนึ่งด้วย โดยเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ที่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้ปรับบทกฎหมายลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้ด้วยทั้งที่โจทก์บรรยายฟ้องและจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ จึงเป็นการไม่ชอบ ส่วนจำเลยที่ 2 ความผิดฐานเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ ฐานร่วมกันเล่นการพนันและฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จำเลยที่ 2 มีเจตนาเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ เล่นการพนัน และฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเวลาเดียวกัน อันเป็นเจตนาเดียวกัน การกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่หลายกรรมต่างกัน ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน เป็นการไม่ชอบเช่นเดียวกัน กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 และกรณีเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ถึงที่ 15 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 และมาตรา 225 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานร่วมกันเล่นการพนันและฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ปรับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 15 คนละ 5,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับคนละ 2,500 บาท และจำเลยที่ 1 ยังมีความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน อีกบทหนึ่งด้วย อันเป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนัน ให้ลงโทษฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 เดือน 15 วัน เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วเป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 เดือน 15 วัน และปรับ 2,500 บาท สำหรับจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ ฐานร่วมกันเล่นการพนัน และฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุก 3 เดือน และปรับ 2,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 เดือน 15 วัน และปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 2 ฟัง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยทั้งสิบห้าไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง ยกคำขอให้จำเลยทั้งสิบห้าจ่ายสินบนนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7