โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 326, 328 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 3, 14
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางสาว ส. ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าเสียหายที่ได้รับความอับอายและเสื่อมเสียชื่อเสียงเป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2563 ซึ่งเป็นวันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดจึงไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้อง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (4) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา จำคุก 3 เดือน ฐานนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ จำคุก 6 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา คงจำคุก 2 เดือน ฐานนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ คงจำคุก 4 เดือน รวมจำคุก 6 เดือน ให้จำเลยชำระเงินแก่ผู้ร้อง 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยให้ปรับเปลี่ยนลดลงหรือเพิ่มขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาซึ่งออกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง และยกคำร้องขอเรียกค่าสินไหมทดแทน ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อประมาณปี 2560 ผู้เสียหายคบหาเป็นคนรักกับจำเลยจนกระทั่งต้นปี 2563 ผู้เสียหายย้ายมาพักอาศัยอยู่ที่บ้านของจำเลย ระหว่างอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา จำเลยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยบันทึกวิดีโอการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับผู้เสียหายโดยผู้เสียหายยินยอม เดือนพฤษภาคม 2563 ผู้เสียหายกับจำเลยเลิกคบหากันและผู้เสียหายย้ายออกจากบ้านของจำเลยไปคบหากับนาย จ. เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563 เวลา 18.57 นาฬิกา เพจ XXXTHAICLIP และเพจหลงรักสาวใหญ่สาวอวบนำคลิปวิดีโอที่ผู้เสียหายกับจำเลยมีเพศสัมพันธ์กันเผยแพร่ในทวิตเตอร์ โดยตั้งชื่อว่า "#สาวใหญ่ ส. (ผู้เสียหาย) พัทลุง หาดไข่เต่า" วันที่ 16 มิถุนายน 2563 หลังจากผู้เสียหายทราบเรื่องจึงไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า จำเลยเป็นคนบันทึกคลิปวิดีโอในขณะที่จำเลยกับผู้เสียหายมีเพศสัมพันธ์กันและในคลิปวิดีโอนั้นปรากฏภาพของผู้เสียหายแต่เพียงผู้เดียว จึงเป็นการง่ายต่อการเผยแพร่เพราะไม่ต้องคำนึงถึงตัวจำเลย จำเลยเคยส่งคลิปวิดีโอให้ผู้เสียหายดู ผู้เสียหายย่อมจดจำคลิปวิดีโอดังกล่าวได้ ผู้เสียหายเคยแจ้งให้จำเลยลบคลิปวิดีโอออกจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลย แต่จำเลยบ่ายเบี่ยงไม่ยอมลบจนผู้เสียหายกับจำเลยเลิกคบหากันและผู้เสียหายย้ายออกจากบ้านของจำเลยไปคบหากับนาย จ. เชื่อว่า เป็นสาเหตุที่ทำให้จำเลยโกรธเคืองผู้เสียหาย ทั้งก่อนเกิดเหตุจำเลยเคยส่งข้อความทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปหาผู้เสียหายในลักษณะข่มขู่ว่าจะโชว์ด้านเลว ๆ ให้ผู้เสียหายดู จนกระทั่งวันที่ 2 มิถุนายน 2563 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุก่อนวันที่ผู้เสียหายจะแต่งงานใหม่กับนาย จ.คลิปวิดีโอจึงถูกเผยแพร่ออกไป เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงมีความเชื่อมโยงกันและอยู่ในความรู้เห็นของจำเลย เชื่อได้ว่า เป็นการกระทำของจำเลยเพื่อไม่ให้ผู้เสียหายคบหากับชายอื่น ที่จำเลยแก้ฎีกาอ้างว่า คลิปวิดีโอถูกเผยแพร่ทางทวิตเตอร์ในวันเดียวกันกับที่จำเลยนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปซ่อมหน้าจอที่ร้านของนาย ม. นาย ม. อาจโอนถ่ายข้อมูลรวมถึงคลิปวิดีโอไว้และอาจนำไปเผยแพร่นั้น ได้ความจากนาย ม. เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยหน้าจอเสียหายเพียงอย่างเดียวเพราะสัมผัสน้ำ พยานแกะและใช้เวลาเปลี่ยนหน้าจอประมาณ 20 นาที ต่อหน้าจำเลยโดยไม่ได้ใช้รหัสในการเปิดเครื่องและส่งมอบให้แก่จำเลยไปทันที แม้จะปรากฏว่าจำเลยนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปซ่อมเวลาประมาณ 12 นาฬิกา โดยจดรหัสผ่านมอบให้ทางร้านนาย ม. ไว้และกลับมารับโทรศัพท์เคลื่อนที่เวลาประมาณ 14 นาฬิกา ก็ตาม แต่เวลาดังกล่าวที่จำเลยรับโทรศัพท์เคลื่อนที่หลังจากซ่อมเสร็จไปนั้น มีการแก้ไขด้วยน้ำยาลบคำผิด จึงเป็นพิรุธไม่น่าเชื่อว่าได้จัดทำขึ้นตรงตามความจริงที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ในชั้นสอบสวนขณะจำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวน เมื่อพนักงานสอบสวนขอโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยไปตรวจสอบการบันทึกและการเผยแพร่คลิปวิดีโอ จำเลยไม่ยินยอมอ้างว่าต้องใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อค้าขายกับลูกค้าและมีข้อมูลบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ แสดงให้เห็นถึงความไม่โปร่งใสและเจตนาอันไม่บริสุทธิ์ของจำเลย ข้อนำสืบของจำเลยจึงมีน้ำหนักน้อยไม่อาจฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบเชื่อได้โดยปราศจากเหตุอันควรสงสัยว่า จำเลยเป็นผู้เผยแพร่คลิปวิดีโอที่จำเลยมีเพศสัมพันธ์กับผู้เสียหายในเครือข่ายทวิตเตอร์ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ภาพถ่ายเปลือยกายและภาพถ่ายการมีเพศสัมพันธ์ของผู้เสียหายอันมีลักษณะลามกของผู้เสียหายลงในทวิตเตอร์เพจ XXXTHAICLIP ซึ่งประชาชนทั่วไปที่ใช้อาจเข้าถึงได้ อันเป็นการใส่ความผู้เสียหายต่อบุคคลที่สามว่าผู้เสียหายเป็นผู้หญิงไม่ดีกระจายออกไปยังสาธารณชนหรือประชาชนทั่วไปเข้าลักษณะได้กระทำโดยการโฆษณา ทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้อง ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่าการกระทำของจำเลยที่เป็นผู้เผยแพร่คลิปวิดีโอในขณะที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้เสียหายในเครือข่ายทวิตเตอร์นั้น แม้จำเลยจะลงมือกระทำความผิดเพียงครั้งเดียว แต่ความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 กับความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (4) มีวัตถุประสงค์ที่กฎหมายมุ่งคุ้มครองแตกต่างกันโดยความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณามุ่งคุ้มครองชื่อเสียงของผู้เสียหาย ส่วนความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้นั้น มุ่งคุ้มครองสังคมเป็นสำคัญ ดังนั้นการกระทำของจำเลยนอกจากทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียงแล้วยังก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคม กระทบต่อความสงบสุขและศีลธรรมอันดีของประชาชน และความมั่นคงของรัฐนอกจากนี้ความผิดทั้ง 2 ฐานดังกล่าวมีองค์ประกอบของความผิดที่แตกต่างกัน สามารถแยกเจตนาของการกระทำความผิดออกจากกันได้อย่างชัดเจน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดสองกรรมต่างกัน ต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และเมื่อการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำละเมิดซึ่งจำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหาย แม้ผู้ร้องไม่ได้ฎีกาเรื่องค่าสินไหมทดแทนมาด้วย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกคดีส่วนแพ่งขึ้นวินิจฉัยเพื่อให้เป็นไปตามผลคดีอาญาได้ เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 โดยค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นศาลชั้นต้นกำหนดไว้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งในชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ