โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 91, 288 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ก่อนเริ่มสืบพยาน นาย ส. ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าเสียหายต่อจิตใจ 50,000 บาท
จำเลยไม่ยื่นคำให้การในคดีส่วนแพ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย และเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คงจำคุก 8 เดือน ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คงจำคุก 4 เดือน รวมจำคุก 12 เดือน กับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ร้อง 20,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 อีกกรรมหนึ่ง ลงโทษจำคุก 10 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 6 ปี 8 เดือน รวมโทษทุกกระทงแล้ว เป็นจำคุก 6 ปี 20 เดือน โดยในส่วนคดีแพ่งให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทน 30,000 บาท แก่ผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเพียงคนเดียว จึงเป็นพยานเดี่ยวที่ต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง ได้ความจากคำเบิกความผู้เสียหายว่า ขณะที่ผู้เสียหายนั่งคร่อมรถจักรยานยนต์ จำเลยชักอาวุธปืนที่เหน็บอยู่ตรงเอวออกมาแล้วเล็งที่ใบหน้าผู้เสียหาย ผู้เสียหายมองเข้าไปในปากกระบอกปืนไม่เห็นเข็มแทงชนวนที่อยู่ด้านหลัง จึงเชื่อว่ามีกระสุนปืนบรรจุอยู่ แต่เมื่อพิจารณาในบันทึกคำให้การของผู้เสียหายที่ผู้เสียหายไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนและให้การไว้หลังเกิดเหตุทันที กลับไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในคำให้การว่า ขณะที่จำเลยเล็งอาวุธปืน ผู้เสียหายได้มองเข้าไปในปากกระบอกปืนของจำเลยไม่เห็นเข็มแทงชนวนที่อยู่ด้านหลัง จึงเชื่อว่ามีกระสุนปืนบรรจุอยู่ดังที่ผู้เสียหายเบิกความในชั้นพิจารณา อันเป็นข้อแตกต่างกันในสาระสำคัญ ทั้ง ๆ ที่เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้เสียหายควรจะให้การต่อพนักงานสอบสวนไว้เสียแต่แรก การที่ผู้เสียหายเพิ่งมาเบิกความกล่าวอ้างในชั้นพิจารณาดังกล่าวมาข้างต้น จึงเชื่อว่าเป็นการเบิกความเพิ่มเติมจากที่ได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวน ซึ่งส่อไปในทางให้เกิดเป็นผลร้ายแก่จำเลย ประกอบกับในสภาวะที่ผู้เสียหายกำลังถูกจำเลยใช้อาวุธปืนเล็งอยู่ในขณะนั้น ย่อมมีอาการตกใจกลัวภยันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่ชีวิตของตนจึงไม่น่าเชื่อว่าผู้เสียหายจะอยู่ในวิสัยที่สามารถมองเข้าไปในปากกระบอกปืนจนสังเกตเห็นได้ว่ามีกระสุนปืนบรรจุอยู่ดังที่เบิกความ นอกจากนี้ที่ผู้เสียหายเบิกความอีกว่า เมื่อผู้เสียหายตอบคำถามจำเลยแล้ว จำเลยหันไปพูดกับนายสุทธิภัทรว่า "ลูกคอยดูนะ ว่าการยิงคนมันเป็นอย่างไร" นั้น ผู้เสียหายก็ไม่ได้ให้การถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ในชั้นสอบสวนเช่นกัน ทั้งไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะพูดเช่นนั้นก่อนที่จะลงมือกระทำความผิดร้ายแรงต่อหน้าบุตรของตนซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยเป็นอย่างยิ่ง คำเบิกความของผู้เสียหายจึงเป็นพิรุธน่าสงสัย อีกทั้งคดีนี้ไม่ได้อาวุธปืนของกลางมาเป็นพยานวัตถุในคดีเพื่อตรวจพิสูจน์ยืนยันได้ว่าอาวุธปืนกระบอกดังกล่าวมีกระสุนปืนบรรจุอยู่ในรังเพลิงจริงตามที่ผู้เสียหายเบิกความหรือไม่ แม้ว่าจุดที่จำเลยลงมือก่อเหตุมีสภาพเป็นสวนยางพาราปลูกอยู่ริมถนน แต่ในบริเวณนั้นก็ยังมีบ้านของดาบตำรวจเสรีตั้งอยู่ ซึ่งห่างจากจุดเกิดเหตุเพียง 100 เมตร และได้ความว่าจำเลยยังจอดรถพูดคุยกับดาบตำรวจเสรีบนถนนบริเวณหน้าบ้านก่อนที่จะเกิดเหตุอีกด้วย จึงเชื่อว่าวันเกิดเหตุผู้เสียหายกับจำเลยมาพบกันโดยบังเอิญ หากจำเลยประสงค์จะเอาชีวิตของผู้เสียหายจริง ก่อนลงมือก่อเหตุ จำเลยคงไม่ไปปรากฏตัวให้เจ้าพนักงานตำรวจพบเห็น และไม่มีเหตุผลใดที่ต้องพาบุตรชายซึ่งในวันเกิดเหตุมีอายุเพียง 14 ปี มาด้วย อีกทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยกับผู้เสียหายเคยมีเหตุทะเลาะวิวาทถึงขนาดทำร้ายร่างกายกันมาก่อน จึงไม่น่าเชื่อว่าจำเลยโกรธเคืองผู้เสียหายถึงขนาดจะทำร้ายเพื่อประสงค์เอาชีวิตผู้เสียหาย ดังนั้น ลำพังคำเบิกความผู้เสียหายที่อ้างว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงใส่ผู้เสียหาย 2 ครั้ง เสียงดังแป้ก แต่กระสุนปืนไม่ลั่น จึงยังไม่อาจรับฟังได้โดยสนิทใจว่าผู้เสียหายเห็นกระสุนปืนบรรจุอยู่ในรังเพลิงและจำเลยลั่นไกปืนยิงใส่ผู้เสียหายจริงตามที่เบิกความ ประกอบกับจำเลยให้การปฏิเสธและนำสืบต่อสู้ว่าจำเลยมีเพียงเจตนาข่มขู่ผู้เสียหายเท่านั้น พยานหลักฐานของโจทก์ จึงยังมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 หรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง พฤติการณ์ของจำเลยตามที่โจทก์นำสืบมาคงฟังได้แต่เพียงว่าจำเลยใช้อาวุธปืนจ้องเล็งผู้เสียหายโดยมีเจตนาที่จะข่มขู่ให้ผู้เสียหายตกใจกลัวเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าผู้อื่นนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น แต่อย่างไรก็ดี แม้ว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวจะเป็นความผิดฐานทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัว หรือความตกใจ โดยการขู่เข็ญตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 392 ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์มิได้บรรยายการกระทำดังกล่าวมาในคำฟ้อง ทั้งไม่ระบุในคำขอท้ายฟ้องไว้ จึงถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าว ศาลฎีกาจึงไม่อาจลงโทษจำเลยได้
ส่วนความรับผิดในคดีส่วนแพ่งนั้น เห็นว่า การที่จำเลยใช้อาวุธปืนเล็งข่มขู่ผู้ร้อง แม้จะไม่ได้ทำให้ผู้ร้องบาดเจ็บ แต่ก็เป็นการทำให้ผู้ร้องเสียหายแก่ร่างกายและอนามัยของผู้ร้อง เพราะการกระทำดังกล่าวทำให้ผู้ร้องตกใจกลัวเป็นความเสียหายเกี่ยวกับความรู้สึกด้านจิตใจ ซึ่งเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 446 ผู้ร้องถูกกระทำละเมิดจึงชอบที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีนี้ได้ เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงที่เกิดขึ้นแล้ว ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายให้แก่ผู้ร้อง 20,000 บาท นั้น นับว่าเหมาะสมแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ