โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 2,000,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 1,000,000 บาท นับถัดจากวันที่โจทก์ทราบการละเมิด (วันที่ 9 พฤศจิกายน 2560) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสามจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากค่าเสียหายที่แท้จริงตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 42
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงิน 386,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยส่วนที่โจทก์ได้รับยกเว้นนั้น ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำมาชำระในนามของโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ชำระตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทั้งสองศาล และระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ตามที่คู่ความไม่โต้เถียงกันว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบธุรกิจประกันภัย จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นตัวแทนขายประกันของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2559 โจทก์ยื่นคำขอเอาประกันภัยต่อจำเลยที่ 1 ผ่านจำเลยที่ 2 แบบประกันภัยคุ้มธนกิจ 99/20 (เอ็น) ชำระเบี้ยประกันภัยราย 12 เดือน ความคุ้มครองแบบทั่วไป จำนวนเงินเอาประกันภัย 100,000 บาท เบี้ยประกันภัย 2,330 บาท และสัญญาพิเศษเพิ่มเติม การยกเว้นชำระเบี้ยประกันภัยกรณีทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง (ทพ.) จำนวนเงินเอาประกันภัย 100,000 บาท เบี้ยประกันภัยไม่ต้องชำระ คุ้มครองการเสียชีวิต ทุพพลภาพ และโรคร้ายแรง 44 โรค (ท.44) จำนวนเงินเอาประกันภัย 100,000 บาท เบี้ยประกันภัย 1,190 บาท (สพ.) การประกันสุขภาพ (วพ.5) วีไอพี แบบมีความรับผิดชอบส่วนแรก เบี้ยประกันภัยปรับตามอายุ จำนวนเงินเอาประกันภัย วพ.5 เบี้ยประกันภัย 5,904 บาท การประกันสุขภาพ 80 เบี้ยประกันปรับตามอายุ (สพ.2) จำนวนเงินเอาประกันภัย 2,000 บาท เบี้ยประกันภัย 7,847 บาท ค่ารักษาพยาบาลรายวัน (รพ.) เบี้ยประกันภัยปรับขึ้นตามอายุ จำนวนเงินเอาประกันภัยวันละ 1,000 บาท เบี้ยประกันภัย 2,500 บาท เบี้ยประกันภัยรวม 19,771 บาท โดยจำเลยที่ 3 ภริยาจำเลยที่ 2 ลงชื่อเป็นตัวแทน ต่อมาวันที่ 6 ตุลาคม 2559 จำเลยที่ 1 รับประกันภัยโจทก์ หลังจากทำสัญญาโจทก์เป็นมะเร็งเต้านมเข้ารับการผ่าตัด ณ โรงพยาบาล พ. ระหว่างวันที่ 28 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2560 แล้วนำเอกสารค่ารักษาพยาบาลไปขอรับค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์จากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ปฏิเสธการจ่ายเงินโดยอ้างว่า โจทก์มีสุขภาพไม่สมบูรณ์ เคยเข้ารับการรักษาตัวในสถานพยาบาลด้วยโรคเนื้องอกในมดลูก มีผลเอกซเรย์ทรวงอกผิดปกติ มีภาวะน้ำหนักตัวสูงเกินเกณฑ์ปกติ มาก่อนทำประกันชีวิต และแถลงข้อมูลน้ำหนักตัวไม่ตรงตามความเป็นจริง ไม่แถลงข้อความจริงซึ่งเป็นสาระสำคัญให้จำเลยที่ 1 ทราบ หากแถลงจำเลยที่ 1 ก็ไม่อาจรับประกันภัยได้ เป็นผลให้สัญญาประกันภัยเป็นโมฆียะ ขอบอกล้างสัญญากรมธรรม์ โดยจำเลยที่ 2 นำหนังสือแจ้งผลการพิจารณาสินไหมพร้อมเช็คคืนค่าเบี้ยประกันภัยมามอบให้โจทก์ แต่โจทก์ปฏิเสธไม่ยอมรับและยืนยันว่าได้แจ้งข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญให้จำเลยทั้งสามทราบแล้ว จากนั้นโจทก์ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า โจทก์เปิดเผยข้อมูลเรื่องสุขภาพให้จำเลยที่ 2 ทราบ ไม่มีเจตนาปกปิด แต่จำเลยที่ 2 ไม่นำไปลงในแบบพิมพ์คำขอเอาประกันชีวิต เป็นการจงใจละเว้นไม่ลงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาพโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนประกันชีวิตรับเบี้ยประกันจากโจทก์ ใช้แบบพิมพ์คำขอเอาประกันของจำเลยที่ 1 และชักชวนให้ทำสัญญาประกันชีวิต พฤติการณ์เท่ากับจำเลยที่ 1 เชิดให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนในการติดต่อรับประกันชีวิตนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคโดยจำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งคัดค้านว่า โจทก์ได้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพในคำขอเอาประกันภัย หน้า 2 ข้อ 12 ว่า โจทก์มีส่วนสูง 163 เซนติเมตร น้ำหนัก 85 กิโลกรัม ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาน้ำหนักลดลง 2 กิโลกรัม เนื่องจากออกกำลังกาย และข้อ 14 ว่า ในระหว่าง 3 ปีที่แล้วมา โจทก์เคยให้แพทย์ตรวจหรือเข้าสถานพยาบาลรักษาตัวโดยโจทก์เคยตรวจประจำของบริษัท (บริษัท ท.) ที่โจทก์เป็นพนักงาน โจทก์เคยผ่าตัดเนื้องอกมดลูกที่โรงพยาบาล จ. ผลชิ้นเนื้อปกติ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2559 แต่จำเลยที่ 2 กรอกข้อความไม่ตรงกับที่โจทก์แจ้ง เป็นว่า โจทก์มีส่วนสูง 163 เซนติเมตร น้ำหนัก 65 กิโลกรัม ในระหว่าง 3 ปีที่แล้ว โจทก์ไม่เคยให้แพทย์ตรวจหรือเข้าสถานพยาบาลรักษาตัว และไม่มีข้อความในข้อ 16 ว่า โจทก์ผ่าตัดเนื้องอกที่มดลูกที่โรงพยาบาล จ. และข้อเท็จจริงได้ความเพิ่มเติมจากนางสาวอรทัย พนักงานของจำเลยที่ 1 ตอบคำถามค้านว่า ขั้นตอนการขอทำประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1 นั้น ลูกค้าจะต้องกรอกแบบคำขอทำประกันชีวิต โดยจะแจ้งให้ตัวแทนกรอกให้หรือจะกรอกเองก็ได้ เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนขายประกันของจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่ปี 2552 ได้สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพของลูกค้าจำเลยที่ 1 ในเรื่องส่วนสูง น้ำหนัก ความเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักภายในรอบ 6 เดือน สาเหตุแห่งความเปลี่ยนแปลง การเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ผลการตรวจโลหิต ความดันโลหิต ปัสสาวะ เอกซเรย์ หัวใจ หรือตรวจอย่างอื่น ดังที่ปรากฏในแบบฟอร์มคำขอเอาประกันภัยของจำเลยที่ 1 แล้วกรอกข้อมูลลงในคำขอเอาประกันชีวิตแทนโจทก์ส่งไปให้จำเลยที่ 1 โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากลูกค้าอีก และถือเอาข้อมูลที่จำเลยที่ 2 กรอกลงในคำขอเอาประกันชีวิตเป็นสาระสำคัญ ดังนี้ เมื่อโจทก์ได้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพของตนตามความเป็นจริง แต่จำเลยที่ 2 กลับกรอกข้อมูลไม่ตรงกับที่โจทก์แจ้งและส่งไปให้จำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมไม่มีทางทราบได้ แม้จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการรับประกันชีวิตแทนจำเลยที่ 1 แต่พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ยอมให้จำเลยที่ 2 สอบถามรายละเอียดของข้อมูลสุขภาพของลูกค้าและถือเอาข้อมูลดังกล่าว ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนโดยปริยายของจำเลยที่ 1 ในการสอบถามข้อมูลสุขภาพดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 797 วรรคสอง แล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยได้ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามที่จำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ทำกิจการธุรกิจตามที่ได้รับมอบหมายในขอบเขตของตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 807, 810, 812 ไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า แม้คำฟ้องของโจทก์ระบุด้วยว่า จำเลยทั้งสามทำละเมิดต่อโจทก์โดยร่วมกันทำคำขอเอาประกันภัยของโจทก์ไม่ตรงกับที่โจทก์แจ้ง แต่สภาพแห่งข้อหาเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสามผิดสัญญาประกันภัยด้วยการปฏิเสธจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ สาระสำคัญของคำฟ้องเป็นเรื่องการผิดสัญญาโดยตรง ทั้งในชั้นชี้สองสถานศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ทำละเมิดต่อโจทก์จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น ซึ่งห้ามมิให้ศาลพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคไม่รับวินิจฉัยประเด็นข้อนี้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 โดยปริยาย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นการส่วนตัว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น
อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มีการประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และให้ใช้ความใหม่แทน เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี ทำให้ดอกเบี้ยผิดนัดซึ่งเป็นหนี้เงินที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 ต้องปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและกำหนดให้ถูกต้องตามพระราชกำหนดดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7
พิพากษากลับ สำหรับจำเลยที่ 1 ให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ทั้งนี้ดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ชำระในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี โดยให้ปรับเปลี่ยนดอกเบี้ยได้ตามอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนดโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ทั้งสามศาลให้เป็นพับ