โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 (1) จำคุก 5 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า ก่อนจำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ ให้ไว้แก่โจทก์ จำเลยเคยกู้ยืมเงินโจทก์หลายครั้งโดยมิได้ทำหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อจำเลยเป็นสำคัญ ต่อมาวันที่ 25 มกราคม 2562 จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ และออกเช็ค ไว้ให้แก่โจทก์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า หนังสือรับสภาพหนี้ มีใจความว่า ข้าพเจ้านายณรงค์ศักดิ์ (จำเลย) ขอยอมรับว่าเป็นหนี้นายนภดล (โจทก์) เป็นเงิน 467,000 บาท และในวันทำหนังสือฉบับนี้จำเลยได้รับเงิน 467,000 บาท ครบถ้วนแล้ว จำเลยตกลงว่าจะชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 พร้อมกันนี้จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คธนาคาร ท. ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 สั่งจ่ายเงิน 467,000 บาท ให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ดังกล่าว ดังนี้ หนังสือรับสภาพหนี้ฉบับนี้มีข้อความชัดแจ้งว่าจำเลยยอมรับเป็นหนี้โจทก์ 467,000 บาท จำเลยยอมชำระหนี้ดังกล่าวโดยสั่งจ่ายเช็คให้แก่โจทก์ จำเลยและโจทก์ได้ลงลายมือชื่อในหนังสือดังกล่าวด้วย หนังสือรับสภาพหนี้ จึงถือเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินที่โจทก์สามารถนำไปฟ้องร้องจำเลยให้รับผิดทางแพ่งได้โดยตรง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมตามหนังสือรับสภาพหนี้จึงเป็นการสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คเนื่องจากลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขที่ให้ไว้กับธนาคารตามใบแจ้งผลเช็คคืนโดยจำเลยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 (1) แล้ว จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น