โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองตกลงจ้างโจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการส่วนพัฒนาเงินทุน 2 มีหน้าที่ระดมเงินฝากจากประชาชนทั่วไปให้แก่จำเลยที่ 1โจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละ 38,000 บาท ค่าครองชีพเดือนละ 2,000 บาท และจำเลยที่ 1 ยังตกลงกับโจทก์และลูกจ้างอื่นอีก 4 คน ว่าต้องหาเงินฝากให้ได้รวมกันไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 1 ปี โดยในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1กุมภาพันธ์ 2539 ถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2539 ต้องระดมเงินฝากได้ไม่ต่ำกว่า1,000 ล้านบาท และในช่วงระยะเวลาที่เหลือถึงวันที่ 31 มกราคม 2540 จะต้องระดมเงินฝากให้ได้อีกไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท แล้วโจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างเป็นค่าตอบแทนพิเศษ โดยคำนวณจากยอดเงินฝากคงเหลือเฉลี่ยแต่ละวันในอัตราร้อยละ 0.06 และจะจ่ายให้ปีละ 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2540จำเลยที่ 1 จ่ายค่าจ้างในส่วนค่าตอบแทนพิเศษในส่วนของโจทก์เป็นเงินหลังหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแล้ว จำนวน 314,017.16 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้คิดคำนวณจากยอดเงินที่โจทก์นำประชาชนมาฝากถึงเดือนธันวาคม 2539 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างในส่วนค่าตอบแทนพิเศษอีกจำนวน 42,768.50 บาท แต่จำเลยที่ 1ขอผัดผ่อนไปก่อน โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 จนถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2540 จึงลาออก โจทก์ติดต่อทวงถามจำเลยที่ 2 ถึงค่าจ้างตอบแทนพิเศษที่จำเลยที่ 1 ค้างจ่ายกับส่วนที่โจทก์หาเงินฝากถึงวันที่โจทก์ลาออก จำเลยที่ 2 ปฏิเสธการจ่ายเงิน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายในส่วนค่าตอบแทนพิเศษ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 266,434.77 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งผู้จัดการส่วนพัฒนาเงินทุน 2 มีหน้าที่ระดมเงินฝากจากประชาชนทั่วไปได้รับอัตราค่าจ้างเดือนละ 38,000 บาท ค่าครองชีพเดือนละ 2,000 บาท รวมทั้งค่าตอบแทนพิเศษคำนวณจากยอดเงินฝากคงเหลือเฉลี่ยแต่ละวันในอัตราร้อยละ 0.06 แต่หลังจากทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 ได้สอบถามธนาคารแห่งประเทศไทยและได้รับแจ้งว่า สัญญาจ้างขัดต่อพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 20(9) ซึ่งห้ามมิให้บริษัทเงินทุนจ่ายเงินหรือทรัพย์สินอื่นแก่กรรมการพนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทเงินทุนเป็นค่านายหน้าหรือค่าตอบแทนสำหรับหรือเนื่องจากการกระทำหรือประกอบธุรกิจใด ๆ ของบริษัทเงินทุน ทั้งนี้นอกจากบำเหน็จ เงินเดือน รางวัลและเงินเพิ่มอย่างอื่นบรรดาที่พึงจ่ายตามปกติ จำเลยที่ 1 จึงแจ้งให้โจทก์ทราบว่า จำเลยที่ 1 ไม่สามารถจ่ายค่าตอบแทนพิเศษได้ จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบริหารทั่วไปมิได้มีตำแหน่งเป็นนายจ้างโจทก์รวมทั้งการพิจารณารับโจทก์เข้าปฏิบัติงานการจ่ายเงินเดือนหรือขึ้นเงินเดือนโจทก จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้รวบรวมรายละเอียดเพื่อเสนอต่อจำเลยที่ 1 พิจารณาสั่งการ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะนายจ้าง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ข้อตกลงให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าตอบแทนพิเศษขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนเป็นโมฆะ โจทก์ไม่อาจจะยกเอาข้อตกลงที่เป็นโมฆะขึ้นเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150, 172 และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นข้ออื่น พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ข้อตกลงให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าตอบแทนพิเศษตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.3 ไม่เป็นโมฆะ นั้น เห็นว่าสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 1 และ ข้อ 2.3 จำเลยที่ 1 ตกลงจ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งผู้จัดการส่วนพัฒนาเงินทุน 2 ค่าจ้างเดือนละ38,000 บาท และข้อ 1 กับข้อ 3 คู่สัญญาตกลงให้โจทก์กับพวกซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 พร้อมกับโจทก์ร่วมกันระดมเงินฝากให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 4,000 ล้านบาท จำเลยที่ 1 จะจ่ายค่าตอบแทนพิเศษให้โจทก์กับพวกรวม 4 คน ในอัตราร้อยละ 0.06 ของยอดเงินฝากคงเหลือเฉลี่ยแต่ละวันโดยจ่ายปีละหนึ่งครั้ง และตามสัญญาจ้างข้อ 3.4 วรรคสอง กำหนดไว้อีกว่าในกรณีที่โจทก์กับพวกไม่สามารถระดมเงินฝากได้ถึง 2,500 ล้านบาท ในระยะหนึ่งปี จำเลยที่ 1 สามารถใช้สิทธิเปลี่ยนแปลงสัญญากันใหม่ได้ ซึ่งตามข้อกำหนดในสัญญาดังกล่าวโจทก์จะได้ค่าตอบแทนพิเศษหรือไม่ จำนวนเท่าใดขึ้นอยู่กับว่าโจทก์จะระดมเงินฝากได้หรือไม่ และจำนวนมากน้อยเพียงใด ถ้าโจทก์ไม่สามารถระดมเงินฝากได้ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนพิเศษ หรือถ้าระดมเงินฝากได้น้อยโจทก์ก็จะได้รับค่าตอบแทนพิเศษลดลงตามส่วน จึงไม่แน่นอนว่าโจทก์จะได้รับค่าตอบแทนพิเศษหรือไม่ และจำนวนเท่าใด ทั้งในกรณีที่โจทก์กับพวกร่วมกันระดมเงินฝากได้มากเกิน 4,000 ล้านบาท ในระยะหนึ่งปี ตามสัญญาจ้างก็มิได้กำหนดให้เพิ่มเปอร์เซ็นต์ค่าตอบแทนพิเศษแก่โจทก์ เพื่อเป็นการจูงใจให้โจทก์ขยันระดมเงินฝากเพิ่มขึ้นทั้งโจทก์เบิกความรับว่า โจทก์จะได้รับเงินตอบแทนพิเศษนี้ปีละครั้งต่างหากจากเงินเดือนและเงินจำนวนนี้พนักงานอื่นไม่มีสิทธิได้รับ ค่าตอบแทนพิเศษดังกล่าวจึงไม่เป็นเงินรางวัลเงินบำเหน็จ เงินเพิ่มอย่างอื่นบรรดาที่พึงจ่ายตามปกติ และไม่เป็นเงินเดือนเพราะเป็นจำนวนไม่แน่นอน และเงินเดือนที่โจทก์จะได้รับนั้น โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงกำหนดจำนวนไว้เดือนละ 38,000 บาท เป็นจำนวนที่แน่นอนแล้ว แต่ค่าตอบแทนพิเศษที่จำเลยที่ 1 ตกลงจ่ายให้โจทก์สำหรับหรือเนื่องจากการกระทำหรือการประกอบธุรกิจรับฝากเงิน โดยการออกตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นการตกลงที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 20(9) อันเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อป้องกันมิให้ผู้ประกอบธุรกิจตามพระราชบัญญัติดังกล่าวแย่งกันระดมเงินฝากโดยให้เงินค่าตอบแทนพิเศษแก่ลูกจ้างในอัตราที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ จนก่อให้เกิดความปั่นป่วนในระบบเศรษฐกิจของประเทศ เกิดความเสียหายแก่สถาบันการเงินและประชาชนผู้ฝากเงิน จึงเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนข้อตกลงให้ค่าตอบแทนพิเศษตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.3 ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 และไม่มีผลบังคับให้จำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติตาม จำเลยที่ 1 จึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนพิเศษตามที่ตกลงในสัญญาจ้างให้โจทก์ ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ค่าตอบแทนพิเศษที่จำเลยที่ 1 ตกลงจะจ่ายให้โจทก์เป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างและจำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า เมื่อค่าตอบแทนพิเศษไม่เป็นเงินส่วนที่เป็นเงินเดือน เงินบำเหน็จ เงินรางวัล และเงินเพิ่มอย่างอื่นบรรดาที่พึงจ่ายตามปกติดังวินิจฉัยมาแล้ว แม้จะฟังว่าค่าตอบแทนพิเศษเป็นเงินค่าจ้างดังโจทก์อุทธรณ์ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าตอบแทนพิเศษตามข้อตกลงในสัญญาจ้าง เพราะต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 1 จ่ายโดยกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยและเมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวก็ไม่จำต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่เช่นเดียวกันที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน