โจทก์ฟ้องว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2483 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ออกกฎกระทรวงการคลัง ออกตามความในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483 ว่า การที่พนักงานไปประจำการก่อนหรือหลังเวลาราชการหรือในวันอาทิตย์ วันหยุด ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 110 ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2483 นั้น ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามใบแนบ ศ.3 ท้ายกฎกระทรวงและต่อมาวันที่ 10 พฤษภาคม 2521รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 73(พ.ศ. 2521) ออกตามความในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469ข้อ 2 ให้ยกเลิกในแนบ ศ.3 ท้ายกฎกระทรวงการคลังออกตามความในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายนพ.ศ. 2483 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 71(พ.ศ. 2521) ออกตามความในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469และให้ใช้ใบแนบ ศ.3 ท้ายกฎกระทรวงดังกล่าวแทน และอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 8)พ.ศ. 2480 อธิบดีกรมศุลกากรสั่งลดหย่อนอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับพนักงานไปประจำการฯ ณ ท่าอากาศยานกรุงเทพตามใบแนบ ศ.3ท้ายกฎกระทรวง ฉบับที่ 73 (พ.ศ. 2521) ออกตามความในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 โดยได้ออกประกาศกรมศุลกากรที่ 14/2521 ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2521 เรื่อง ลดหย่อนอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับพนักงานไปประจำการฯ ณ ท่าอากาศยานกรุงเทพให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับพนักงานไปประจำการ ณ ท่าอากาศยานกรุงเทพฯ ดังนี้ 2.1 ถ้าได้ยื่นคำขอทำการไว้ต่อพนักงานศุลกากรในเวลาราชการก่อนเวลา 16.30 นาฬิกา ของวันก่อนวันที่จะทำการหรือได้ยื่นคำขอทำการก่อนเวลา 16.30 นาฬิกา ว่าจะทำการนอกเวลาราชการในวันเดียวกับวันที่ขอ 2.1.1 ประจำการในเรือขาเข้าหรือขาออก (ก) กลางวัน วันเสาร์ อาทิตย์ หรือวันหยุดลำละ 300 บาท(ข) เวลาตั้งแต่ 18.00 นาฬิกา ถึง 24.00 นาฬิกา ลำละ 300 บาท(ค) เวลาตั้งแต่ 24.00 นาฬิกา ถึง 066.00 นาฬิกา ลำละ 400 บาทจำเลยประกอบกิจการค้าส่งออกประเภทน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นโดยเป็นผู้จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นให้แก่บริษัทผู้ประกอบธุรกิจการบินระหว่างประเทศวิธีการจำหน่ายจำเลยจะเติมน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นให้แก่อากาศยานของบริษัทผู้ประกอบธุรกิจการบินต่าง ๆ ที่เข้ามาจอดที่ท่าอากาศยานกรุงเทพฯ ก่อนจะเดินทางออกจากประเทศไทยไปยังต่างประเทศ น้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นดังกล่าว จำเลยซื้อจากต่างประเทศและต้องเสียภาษีอากรนำเข้าต่อกรมสรรพสามิตขณะนำเข้ามาในประเทศไทยเมื่อจำเลยจำหน่ายน้ำมันดังกล่าวโดยเติมให้แก่อากาศยานที่เดินทางออกจากประเทศไทย จำเลยจึงมีสิทธิจะได้รับคืนภาษีอากรนำเข้าที่ชำระไว้ต่อกรมสรรพสามิต โจทก์มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องว่าน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นที่จำเลยจำหน่ายให้แก่บริษัทผู้ประกอบกิจการบินระหว่างประเทศได้นำออกไปจากประเทศไทยจริงหรือไม่ และมีจำนวนเท่าใด เพื่อรับรองต่อกรมสรรพสามิตให้คืนภาษีอากรให้แก่จำเลย เมื่อระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2521 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2531จำเลยได้ยื่นคำขอทำการไว้ต่อพนักงานศุลกากรในเวลาราชการก่อนเวลา16.30 นาฬิกา ของวันก่อนวันที่จะทำการรวมกับยื่นคำขอทำการก่อนเวลา 16.30 นาฬิกา ว่าจะทำการนอกเวลาราชการในวันเดียวกับวันที่ขอโดยได้วางเงินประกันให้คุ้มเงินค่าทำการล่วงเวลา สำหรับเดือนหนึ่ง ๆ ทั้งนี้ เพื่อสะดวกแก่ผู้ค้าคือจำเลย โดยขอให้เจ้าพนักงานของโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นของจำเลยแก่อากาศยานที่เข้ามาจอดในท่าอากาศยานกรุงเทพและจะเดินทางออกไปนอกประเทศไทยเจ้าพนักงานของโจทก์ซึ่งประจำการ ณ ท่าอากาศยานกรุงเทพ จึงได้ปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบว่าจำเลยได้เติมน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นให้แก่อากาศยานและอากาศยานได้เดินทางออกไปนอกประเทศจริงหรือไม่ ตามอำนาจหน้าที่ในช่วงเวลาก่อนหรือหลังเวลาราชการหรือในวันเสาร์ วันอาทิตย์ วันหยุด ในเรือซึ่งเป็นอากาศยานตามคำขอของจำเลย และเพื่อความสะดวกของจำเลยดังกล่าวจำเลยจึงต้องเสียค่าธรรมเนียมสำหรับพนักงานไปประจำการก่อนหรือหลังเวลาราชการในวันเสาร์ วันอาทิตย์หรือวันหยุดตามใบแนบ ศ.3ท้ายกฎกระทรวงฉบับที่ 73 (พ.ศ. 2521) จำเลยได้ชำระค่าธรรมเนียมสำหรับพนักงานไปประจำการในเรือคืออากาศยานขาเข้าหรือขาออกให้แก่โจทก์ โดยชำระเป็นช่วงเวลาทำการกลางวันเสาร์ วันอาทิตย์หรือวันหยุดระหว่างเวลา 18.00 นาฬิกา ถึง 24.00 นาฬิกา ในอัตรา300 บาท และระหว่างเวลา 24.00 นาฬิกา ถึง 06.00 นาฬิกา ในอัตรา 400 บาท ซึ่งไม่ถูกต้องที่ถูกจำเลยจะต้องชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามช่วงเวลาเป็นรายลำอากาศยานตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในใบแนบ ศ.3 ท้ายกฎกระทรวง ฉบับที่ 73 (พ.ศ. 2521)ออกตามความในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 และประกาศกรมศุลกากร ที่ 14/2521 รายละเอียดที่จำเลยชำระค่าธรรมเนียมไว้ไม่ถูกต้องมีดังต่อไปนี้ ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2522ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2522 จำเลยจะต้องชำระเงินเพิ่มให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยเป็นเงินจำนวน 161,163.75 บาท ระหว่างวันที่1 มกราคม 2523 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2523 จำเลยจะต้องชำระเพิ่มเติมให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยเป็นเงินจำนวน 392,501.25 บาทระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2524 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2524 จำเลยจะต้องชำระเพิ่มให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยเป็นเงินจำนวน12,189.375 บาท ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2525 ถึงวันที่31 ธันวาคม 2525 จำเลยจะต้องชำระเพิ่มให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยเป็นเงินจำนวน 215,151.875 บาท ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2526ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2526 จำเลยจะต้องชำระเพิ่มเติมให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน 94,142.50 บาท ระหว่างวันที่ 1 มกราคม2527 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2527 จำเลยจะต้องชำระเพิ่มให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยเป็นเงินจำนวน 1,294,978.125 บาท ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2528 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2528 จำเลยจะต้องชำระเพิ่มให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยเป็นจำนวนเงิน 1,179,068.125บาท ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2529 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2529จำเลยจะต้องชำระเพิ่มให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยเป็นเงินจำนวน994,294.375 บาท ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2530 ถึงวันที่31 ธันวาคม 2530 จำเลยจะต้องชำระเพิ่มให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยเป็นจำนวนเงิน 1,019,834.375 บาท ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2531ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2531 จำเลยจะต้องชำระเพิ่มให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยเป็นเงินจำนวน 674,276.875 บาท รวมเงินค่าธรรมเนียมที่จำเลยต้องชำระเพิ่มให้แก่โจทก์ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2522ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2531 เป็นเงินจำนวน 4,008,000 บาทขอบังคับให้จำเลยชำระเงินจำนวน 6,037,600.625 บาท ให้แก่โจทก์ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยของเงิน 4,008,000 บาท ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเรียกค่าธรรมเนียมล่วงเวลาจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า "มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 110 เพียงกำหนดสาระสำคัญเกี่ยวกับการกระทำบนเรือในวันอาทิตย์ วันหยุด หรือนอกเวลาราชการที่ต้องขออนุญาตซึ่งเป็นโทษทางอาญาไม่ได้กล่าวถึงความรับผิดในค่าธรรมเนียมแต่อย่างใด ความรับผิดของนายเรือหรือตัวแทนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นเป็นความรับผิดในทางอาญาหาได้หมายความรวมถึงความรับผิดในค่าธรรมเนียมล่วงเวลาซึ่งกำหนดเวลาซึ่งเป็นความรับผิดทางแพ่ง หรือทางภาษีอากรแต่ประการใดนั้นคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับแก่จำเลยชำระเงินค่าธรรมเนียมล่วงเวลาส่วนที่ยังขาดอยู่พร้อมดอกเบี้ยโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2483 มาตรา 110 และมาตรา 122 ประกอบด้วยกฎกระทรวงการคลังออกตามความในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483กฎกระทรวงฉบับที่ 73 (พ.ศ. 2521) และประกาศกรมศุลกากรที่ 14/2521 ซึ่งมาตรา 110 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรดังกล่าวบัญญัติว่า "ถ้าเรือลำใดบรรทุกลงหรือถ่ายออกซึ่งของหรือสินค้าอย่างใด ๆ ก็ดี หรือกระทำการงานอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดีในวันอาทิตย์ หรือวันหยุดหรือก่อนหรือภายหลังเวลาราชการดังกล่าวไว้ตามที่รัฐมนตรีกำหนดในกฎกระทรวง นอกจากจะได้อนุญาตจากอธิบดีหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อน และได้เสียค่าธรรมเนียมตามอัตราที่รัฐมนตรีกำหนดในกฎกระทรวง ท่านว่านายเรือ หรือตัวแทนหรือทั้งสองคนร่วมกันมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาทแต่การที่ต้องรับผิดตามมาตรานี้ ไม่กระทำให้ผู้นั้นหลุดพ้นจากโทษที่จะพึงต้องรับตามมาตราอื่นแห่งพระราชบัญญัตินี้"มาตรา 122 บัญญัติว่า "ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดวันหยุดและเวลาราชการศุลกากร กำหนดอัตราค่าธรรมเนียม" ส่วนคำว่า "นายเรือ" หมายความว่า บุคคลใด ๆซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาหรือควบคุมเรือ "เรือกำปั่นหรือเรือ"ให้มีความหมายรวมถึงอากาศยานดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 2 และพระราชบัญญัติศุลกากร(ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2480 มาตรา 3(1) ดังนั้น คำว่า "นายเรือ"จึงมีความหมายถึงผู้บังคับบัญชาหรือผู้ควบคุมเรือหรืออากาศยานและมีหน้าที่ความรับผิดชอบตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติศุลกากรนอกจากนี้พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 110 ได้ระบุตัวผู้รับผิดไว้คือ นายเรือหรือตัวแทน หรือทั้งสองคนร่วมกันเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ แม้ว่าบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเป็นบทบัญญัติความรับผิดในทางอาญา ส่วนความรับผิดในค่าธรรมเนียมล่วงเวลาเป็นความรับผิดทางแพ่ง แต่การเติมน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นแก่อากาศยาน เป็นการกระทำการงานอย่างหนึ่งอย่างใดแก่อากาศยาน ซึ่งนายเรือผู้ควบคุมอากาศยานเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของนายเรือ หรือตัวแทนหรือทั้งสองคนร่วมกันที่จะต้องรับผิดในค่าธรรมเนียมดังกล่าวทั้งไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ผู้ยื่นคำขอทำการไว้ต่อพนักงานศุลกากรเป็นผู้รับผิด จำเลยเป็นบริษัทผู้ค้าน้ำมันที่จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นแก่บริษัทสายการบินเพื่อใช้เติมให้แก่อากาศยาน มิใช่นายเรือและไม่ได้ความว่าเป็นตัวแทนนายเรือตามบทบัญญัติมาตรา 110 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ชำระค่าธรรมเนียมล่วงเวลาในการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นแก่อากาศยานตามฟ้องแก่โจทก์ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย"
พิพากษายืน