โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 20,005,325.56 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 19,519,999 บาท
จำเลยให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้อง และบังคับโจทก์ชำระเงิน 6,060,690 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2560 เป็นต้นไป ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องแย้งเป็นเวลา 191 วัน เป็นเงิน 237,861.33 บาท รวมเป็นเงิน 6,298,551.33 บาท แก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 18,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 ถึงวันฟ้อง คือ วันที่ 31 กรกฎาคม 2560 แก่โจทก์ คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องแย้งของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมตามฟ้องและฟ้องแย้งให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระเงิน 3,247,856.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2560 ตามขอ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องแย้ง (ฟ้องแย้งวันที่ 12 ธันวาคม 2560) ต้องไม่เกิน 237,861.33 บาท ตามขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่โต้แย้งกันชั้นนี้รับฟังได้ว่า เมื่อเดือนตุลาคม 2559 โจทก์ว่าจ้างจำเลยก่อสร้างอาคารเก็บสินค้า 1 หลัง ในราคา 13,290,000 บาท โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 กำหนดแล้วเสร็จวันที่ 31 มีนาคม 2560 ตามสัญญารับจ้างพร้อมเอกสารแนบท้าย ก. และ ข. จำเลยทำงานและส่งมอบงานงวดงานเสาเข็ม ฐานราก คานคอดิน และได้รับสินจ้างสำหรับงานงวดดังกล่าวเป็นเงิน 2,148,193 บาท ตามรายละเอียดการแบ่งงวดชำระเงินเอกสารแนบท้าย ข. งวดที่ 1.1.1 ถึง 1.1.4 ไปจากโจทก์แล้ว กับทำงานงวดที่ 1.2.1, 1.2.2, 1.3.1, 1.3.2 และ 1.3.3 โดยได้รับสินจ้างสำหรับงานงวดดังกล่าวเป็นเงิน 5,081,117 บาท ไปจากโจทก์แล้ว และทำงานงวดที่ 2 ถึงงวดที่ 4 ได้บางส่วนแต่ยังไม่ได้รับสินจ้างไปจากโจทก์ โดยโจทก์แจ้งให้จำเลยแก้ไขงานก่อนถึงจะพิจารณาจ่ายสินจ้างให้ วันที่ 16 มีนาคม 2560 จำเลยมีหนังสือชี้แจงการส่งมอบงานและรายการงานที่ต้องแก้ไข วันที่ 21 มีนาคม 2560 จำเลยมีหนังสือเสนอแผนงานแก้ไขงานดังกล่าว และวันที่ 29 มีนาคม 2560 จำเลยมีหนังสือเสนอแนวทางใหม่ในการแก้ไขงานกับมีหนังสือขอขยายระยะเวลาการก่อสร้างแล้วเสร็จเป็นวันที่ 31 พฤษภาคม 2560 ต่อมาวันที่ 6 เมษายน 2560 โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ได้แสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ปฏิเสธข้ออ้างของจำเลยรวมทั้งเหตุแห่งการนั้นแล้วหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยว่า โจทก์ไม่ต้องชำระเงิน 6,298,551.33 บาท ตามฟ้องแย้งให้แก่จำเลย เพราะจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ดำเนินการก่อสร้างอาคารเก็บสินค้าให้ถูกต้องตามแบบแปลน ตารางการทำงาน รายละเอียด และข้อกำหนดในสัญญาก่อสร้าง ทั้งการทำงานของจำเลยไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ไม่มีวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญทางด้านงานโครงสร้างดูแลและควบคุมการก่อสร้าง ทำให้งานมีความชำรุดบกพร่องจำนวนมาก เป็นเหตุให้จำเลยไม่สามารถส่งมอบงานตามงวดที่กำหนดไว้ในสัญญา จนกระทั่งโจทก์เห็นว่าจำเลยไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จในเวลาที่กำหนดไว้ โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย อันเป็นการปฏิเสธข้ออ้างของจำเลยรวมทั้งเหตุแห่งการปฏิเสธโดยชัดแจ้งแล้วว่าโจทก์ไม่ต้องชำระเงินตามฟ้องแย้งแก่จำเลย เนื่องจากจำเลยไม่ทำงานให้ถูกต้องตามสัญญา และงานมีความชำรุดบกพร่องจำนวนมาก เป็นเหตุให้จำเลยไม่สามารถส่งมอบงานตามงวดที่กำหนดไว้ในสัญญา โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย ส่วนในรายละเอียดว่างานที่จำเลยทำมีความชำรุดบกพร่องหรือไม่ถูกต้องตามสัญญาอย่างไรบ้าง เป็นเรื่องที่โจทก์นำสืบได้ในชั้นพิจารณา คำให้การแก้ฟ้องแย้งของโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง และมาตรา 178 วรรคสอง แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คำให้การแก้ฟ้องแย้งของโจทก์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ถือไม่ได้ว่าโจทก์ให้การปฏิเสธนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาประการแรกของโจทก์ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์จะต้องใช้สินจ้างแก่จำเลยตามฟ้องแย้งหรือไม่ เพียงใด ปัญหานี้ที่โจทก์ฎีกาว่า ผู้มีสิทธิเรียกร้องให้ใช้เงินตามควรค่าแห่งการงานที่ทำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม ต้องมิใช่ผู้ผิดสัญญาและถูกบอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้วนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 เป็นบทบัญญัติในบรรพ 2 ลักษณะ 2 หมวด 4 เลิกสัญญา ซึ่งมีมาตรา 386 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การเลิกสัญญาเช่นนั้น ย่อมทำด้วยแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง" มาตรา 391 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่ทั้งนี้จะให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกหาได้ไม่" มาตรา 391 วรรคสาม บัญญัติว่า "ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น การที่จะชดใช้คืน ท่านให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ หรือถ้าในสัญญามีกำหนดว่าให้ใช้เงินตอบแทน ก็ให้ใช้ตามนั้น" และมาตรา 391 วรรคสี่ บัญญัติว่า "การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่" ซึ่งเห็นได้ว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมิได้กำหนดว่าผู้มีสิทธิเรียกร้องให้ใช้เงินเป็นค่าการงานที่ได้กระทำไปแล้วต้องมิใช่ผู้ที่เป็นฝ่ายผิดสัญญา ดังนั้น แม้จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาและโจทก์ได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว จำเลยก็มีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์ใช้เงินเป็นค่าการงานที่จำเลยได้กระทำให้โจทก์ไปแล้วได้ เพียงแต่หากโจทก์ได้รับความเสียหายจากการผิดสัญญาของจำเลย โจทก์ก็มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยใช้ค่าเสียหายได้ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า งานงวดที่ 2 รายการ 1.4.1 ติดตั้งโครงเมนพร้อมแปหลังคา ที่กำหนดสินจ้างเป็นเงิน 778,486.16 บาท ยังไม่แล้วเสร็จ งานงวดที่ 2 รายการ 1.4.2 ติดตั้งรางน้ำสแตนเลส ที่กำหนดสินจ้างเป็นเงิน 178,058.16 บาท จำเลยทำงานแล้วเสร็จร้อยละ 50 คิดเป็นเงิน 89,029.28 บาท งานงวดที่ 2 รายการ 1.4.3 การจัดส่งวัสดุหลังคาและผนังถึงหน้างาน ที่กำหนดสินจ้างเป็นเงิน 913,758.32 บาท จำเลยทำงานแล้วเสร็จร้อยละ 40 คิดเป็นเงิน 365,503.32 บาท งานงวดที่ 2 รายการ 1.4.4 ระบบท่อน้ำทิ้ง ที่กำหนดสินจ้างเป็นเงิน 104,539.85 บาท จำเลยทำงานแล้วเสร็จร้อยละ 40 คิดเป็นเงิน 41,815.94 บาท งานงวดที่ 3 รายการ 1.5.1 ติดตั้งแผ่นหลังคา ที่กำหนดสินจ้างเป็นเงิน 182,751.66 บาท จำเลยทำงานแล้วเสร็จร้อยละ 60 คิดเป็นเงิน 109,650.99 บาท งานงวดที่ 3 รายการ 1.5.2 วางเหล็กเสริมพื้นที่ กำหนดสินจ้างเป็นเงิน 564,541.47 บาท จำเลยยังไม่ได้ทำงาน งานงวดที่ 3 รายการ 1.5.3 ติดตั้งโครงสร้างผนัง ที่กำหนดสินจ้างเป็นเงิน 778,486.16 บาท จำเลยทำงานแล้วเสร็จร้อยละ 20 คิดเป็นเงิน 155,697.23 บาท งานงวดที่ 4 รายการ 1.6.1 เทคอนกรีตพื้น ที่กำหนดสินจ้างเป็นเงิน 1,129,082.94 บาท จำเลยยังไม่ได้ทำงาน งานงวดที่ 4 รายการ 1.6.3 ติดตั้งท่อน้ำฝน ที่กำหนดสินจ้างเป็นเงิน 77,816.81 บาท จำเลยทำงานแล้วเสร็จร้อยละ 60 คิดเป็นเงิน 46,690.08 บาท รวมงานงวดที่ 2 ถึงที่ 4 ที่จำเลยทำแล้วเสร็จคิดเป็นเงิน 813,387.64 บาท นั้น โจทก์มีนายกษิดิ์เดช กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ และนายกิตติศักดิ์ พนักงานของโจทก์เป็นพยานเบิกความรวม 2 ปาก แต่พยานโจทก์ทั้งสองปากมิได้เบิกความถึงการทำงานของจำเลยว่าแล้วเสร็จไปตามปริมาณงานที่โจทก์ฎีกา ส่วนจำเลยนำสืบโดยอ้างส่งภาพถ่ายว่า งานตามรายการ 1.4.1 แล้วเสร็จทั้งหมด งานตามรายการ 1.4.2 แล้วเสร็จทั้งหมด งานตามรายการ 1.4.3 แล้วเสร็จร้อยละ 70 งานตามรายการ 1.4.4 แล้วเสร็จทั้งหมด งานตามรายการ 1.5.1 แล้วเสร็จทั้งหมด งานตามรายการ 1.5.2 แล้วเสร็จร้อยละ 30 งานตามรายการ 1.5.3 แล้วเสร็จทั้งหมด งานตามรายการ 1.6.1 แล้วเสร็จร้อยละ 30 และงานตามรายการ 1.6.3 แล้วเสร็จทั้งหมด พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ น่าเชื่อว่าจำเลยทำงานแล้วเสร็จไปมากกว่าที่โจทก์ฎีกา โดยพยานจำเลยปากหนึ่งคือ นายชัยพร ซึ่งรับราชการในตำแหน่งหัวหน้าควบคุมอาคาร สำนักงานเขตบางคอแหลม เบิกความว่า เมื่อพิจารณาการก่อสร้างตามภาพถ่ายที่จำเลยอ้างส่งแล้วพยานเห็นว่า งานตามรายการ 1.4.1 แล้วเสร็จทั้งหมดแล้ว งานตามรายการ 1.4.2 แล้วเสร็จร้อยละ 60 งานตามรายการ 1.4.3 แล้วเสร็จเกือบร้อยละ 60 งานตามรายการ 1.4.4 แล้วเสร็จร้อยละ 60 งานตามรายการ 1.5.1 แล้วเสร็จทั้งหมด งานตามรายการ 1.5.2 แล้วเสร็จร้อยละ 10 งานตามรายการ 1.5.3 แล้วเสร็จทั้งหมด งานตามรายการ 1.6.1 แล้วเสร็จร้อยละ 10 งานตามรายการ 1.6.3 แล้วเสร็จร้อยละ 80 เห็นว่า นายชัยพรรับราชการในตำแหน่งที่มีหน้าที่ตรวจสอบการก่อสร้างอาคารด้วย และเป็นพยานซึ่งมิได้มีส่วนได้เสียกับโจทก์และจำเลย คำเบิกความของพยานมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ รับฟังได้ว่าจำเลยก่อสร้างแล้วเสร็จตามที่พยานเบิกความ จึงกำหนดค่าการงานที่ได้กระทำไปแล้วให้แก่จำเลยตามรายการ 1.4.1 ทั้งหมด เป็นเงิน 778,486.16 บาท งานตามรายการ 1.4.2 ร้อยละ 60 เป็นเงิน 106,834.89 บาท งานตามรายการ 1.4.3 ร้อยละ 55 เป็นเงิน 502,567.07 บาท งานตามรายการ 1.4.4 ร้อยละ 60 เป็นเงิน 62,723.91 บาท งานตามรายการ 1.5.1 ทั้งหมด เป็นเงิน 182,751.66 บาท งานตามรายการ 1.5.2 ร้อยละ 10 เป็นเงิน 56,454.14 บาท งานตามรายการ 1.5.3 ทั้งหมด เป็นเงิน 778,486.16 บาท งานตามรายการ 1.6.1 ร้อยละ 10 เป็นเงิน 112,908.29 บาท งานตามรายการ 1.6.3 ร้อยละ 80 เป็นเงิน 62,253.44 บาท รวมเป็นเงินค่าการงานที่ได้กระทำไปแล้วซึ่งโจทก์ต้องชำระแก่จำเลย 2,643,465.72 บาท ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ต้องว่าจ้างบุคคลภายนอกแก้ไขงานที่จำเลยก่อสร้างชำรุดบกพร่องเป็นเงิน 120,000 บาท จึงต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวไปหักออกจากเงินค่าก่อสร้างหรือค่าการงานที่โจทก์ต้องชำระให้แก่จำเลยนั้น เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกคำขอของโจทก์ในส่วนนี้ โจทก์มิได้อุทธรณ์ ฎีกาของโจทก์ในส่วนนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 252 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ใช้ค่าการงานที่จำเลยได้กระทำให้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง คดีนี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จภายในกำหนด โจทก์มีอำนาจบอกเลิกสัญญา และมีสิทธิเรียกค่าเสียหายกับค่าปรับได้ ซึ่งเท่ากับว่าจำเลยต้องชำระค่าปรับ 18,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์ คงพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินตามฟ้องแย้งแก่จำเลยเท่านั้น ย่อมเป็นการไม่ชอบ และหลังจากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้ว ได้มีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และ มาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ข้อความที่บัญญัติขึ้นใหม่ ซึ่งมีผลให้กรณีที่ต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละ 3 ต่อปี และกรณีหนี้เงินให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี เว้นแต่เจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยที่จำเลยต้องรับผิดหลังจากวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับจึงต้องเป็นไปตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ ปัญหาทั้งสองประการเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 18,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 แก่โจทก์ กับให้โจทก์ชำระเงิน 2,643,465.72 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2560 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย แต่ถ้ามีการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใดก็ให้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยไปตามนั้น บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี นับแต่วันที่การปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยตามพระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอของจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ