โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 54, 72 ตรี, 74 จัตวา ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 1, 4, 9, 108 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้จำเลยทั้งสอง คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยทั้งสองออกไปจากป่าที่เกิดเหตุ กับจ่ายเงินรางวัล ที่ถูก เงินสินบนนำจับ แก่ผู้นำจับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ให้จำเลยทั้งสอง คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยทั้งสองออกไปจากป่าที่เกิดเหตุ
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 72 ตรี วรรคสอง ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1), 108 ทวิ วรรคสาม (ที่ถูก วรรคหนึ่ง วรรคสองและวรรคสาม) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 12 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 ปี ให้ยกคำขอจ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับตามกฎหมาย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ขณะจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 บริษัท ท. มีความประสงค์จะซื้อที่ดินในพื้นที่ หมู่ที่ 5 และที่ 7 ซึ่งขณะนั้นชาวบ้านได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแล้ว เมื่อปี 2531 จำเลยที่ 1 จึงรวบรวมที่ดินจากชาวบ้าน ได้ 2 แปลง เนื้อที่ประมาณ 600 ไร่ และ 2,000 ไร่ แล้วขายให้บริษัท ท. ต่อมาปี 2533 บริษัทดังกล่าวได้ขายที่ดินเนื้อที่ประมาณ 2,000 ไร่ ให้นางอารีย์ และขายที่ดินเนื้อที่ประมาณ 600 ไร่ ให้นายสุวรรณ หลังจากซื้อที่ดิน นายสุวรรณได้มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ดูแลทำประโยชน์ในที่ดิน โดยปลูกต้นปาล์มน้ำมัน มะพร้าว และพืชผลอื่น ๆ และแบ่งแยกที่ดินให้บุตรเป็น 5 แปลง โดยยื่นเรื่องขอทำการรังวัดต่อเจ้าพนักงานที่ดินบ้านนาสาร นายสุวรรณได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท. 5) มาตลอด ต่อมาปี 2539 นายสุวรรณถึงแก่ความตาย ภริยาและบุตรของนายสุวรรณยังคงมอบหมายให้จำเลยที่ 1 ดูแลที่ดินต่อไป ในปี 2541 รัฐประกาศยกเลิกการเก็บภาษีบำรุงท้องที่ ที่ดินดังกล่าวจึงไม่ได้เสียภาษีบำรุงท้องที่อีกเลย ปี 2549 นางอารีย์ขายที่ดินแปลงเนื้อที่ประมาณ 2,000 ไร่ ให้แก่บริษัท พ. หลังจากซื้อที่ดินมาแล้วบริษัท พ. เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน และได้รุกล้ำเข้ามาในที่ดินส่วนของนายสุวรรณ ทายาทของนายสุวรรณจึงฟ้องบริษัท พ. และนางอารีย์กับพวก ต่อศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นคดีแพ่ง เรื่องที่ดิน ขับไล่ ระหว่างพิจารณาทายาทของนายสุวรรณได้ถอนฟ้องจำเลยอื่นทั้งหมดยกเว้นนางอารีย์ซึ่งเป็นจำเลยที่ 6 ต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ภาค 8 ให้นางอารีย์ขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินพิพาท และห้ามเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท หรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาท กับให้ชดใช้ค่าเสียหายและค่าเสียหายรายเดือนจนกว่าจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินพิพาทและเลิกเกี่ยวข้องหรือกระทำการอันเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินที่เกิดเหตุคดีนี้ ต่อมาวันที่ 26 พฤศจิกายน 2560 นายยุทธภูมิ บุตรของจำเลยที่ 1 เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินแล้ว ถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงถึงแก่ความตายในที่ดินที่เกิดเหตุ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 10.30 นาฬิกา เจ้าพนักงานเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ เนื่องจากมีผู้แจ้งว่ามีรถแบ็กโฮเข้าไปปรับพื้นที่ พบจำเลยที่ 2 อยู่ในที่ดินที่เกิดเหตุ โดยจำเลยที่ 2 ยอมรับว่าเป็นผู้ดูแลแต่ไม่ทราบว่าที่ดินดังกล่าวมีเอกสารสิทธิหรือไม่ จำเลยที่ 2 ติดต่อจำเลยที่ 1 ทางโทรศัพท์ให้มายังที่ดินที่เกิดเหตุ นายจรัญ เจาพนักงานกรมป่าไม้สอบถามจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 แจ้งว่าที่ดินที่เกิดเหตุไม่มีเอกสารสิทธิมีเพียงคำพิพากษาของศาล จำเลยที่ 1 เป็นผู้ดูแลที่ดินและเป็นผู้ว่าจ้างให้นำรถแบ็กโฮมาปรับไถที่ดินที่เกิดเหตุ นายจรัญกับพวกจึงจับกุมจำเลยทั้งสองและยึดรถแบ็กโฮเป็นของกลางนำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีนี้ พื้นที่เกิดเหตุคำนวณเนื้อที่ได้ 404 ไร่ 2 งาน 21 ตารางวา สำหรับคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา จึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ในเบื้องต้นว่าที่ดินที่เกิดเหตุเป็นป่าไม้หรือไม่ โดย เห็นว่า แม้ที่ดินที่เกิดเหตุจะไม่มีสภาพเป็นพื้นที่ที่มีต้นไม้ต่าง ๆ ขึ้นเป็นป่าตามความเข้าใจของชาวบ้านทั่วไปก็ดี หรือมีผู้เข้าไปครอบครองทำประโยชน์แล้วก็ดี หรือในท้องที่ที่ดินที่เกิดเหตุตั้งอยู่มีการออกโฉนดที่ดินแก่ผู้ที่ครอบครองที่ดินแปลงอื่นไปแล้วก็ดี หาใช่เป็นเครื่องบ่งชี้แสดงให้เห็นว่า ที่ดินที่เกิดเหตุมิใช่ป่าไม้ ที่ดินแปลงใดจะเป็นป่าหรือไม่นั้น ต้องเป็นไปตามกฎหมาย โดยพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4 (1) นิยามคำว่า "ป่า" ว่า ที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ยอมรับข้อเท็จจริงว่า ที่ดินที่เกิดเหตุเป็นที่ดินที่ไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดิน ซึ่งมีความหมายอยู่ในตัวว่าเป็นที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน ที่ดินที่เกิดเหตุจึงเป็นป่าตามบทนิยามของกฎหมายดังกล่าว สำหรับการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่มีประกาศกำหนดทำการเดินสำรวจและสอบเขตโฉนดที่ดินเพื่อออกเดินสำรวจแล้วออกโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่บุคคลที่ครอบครองทำประโยชน์ที่ดิน ตลอดจนเจ้าพนักงานผู้เดินสำรวจได้เข้าไปสำรวจและจัดทำแผ่นที่นั้น เป็นเพียงขั้นตอนตามที่ประมวลกฎหมายที่ดินกำหนดไว้ เพื่อดำเนินการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ไม่มีผลทำให้ที่ดินที่เกิดเหตุพ้นสภาพความเป็นป่า เนื่องจากยังมิได้มีการดำเนินการขั้นสุดท้าย คือการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์และมอบให้บุคคลที่ครอบครอง ซึ่งจะถือว่ามีบุคคลได้ที่ดินนั้นมาตามกฎหมายที่ดินแล้ว หากถือว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการเพิกถอนความเป็นป่าทันทีดังที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นต่อสู้แล้ว ย่อมจะไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่จะปกปักรักษาป่าอันเป็นทรัพยากรที่สำคัญของชาติ และยังก่อให้เกิดช่องว่างที่จะหลบเลี่ยงกฎหมายขึ้นได้โดยง่ายตลอดจนจะเป็นการส่งเสริมให้บุคคลใด ๆ บุกรุกเข้าไปทำประโยชน์หรือเข้าครอบครองป่า โดยไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ ฯ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า ที่ดินที่เกิดเหตุเป็นป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม่ ฯ จึงชอบแล้ว ที่จำเลยที่ 1 ฎีกา ต่อมาว่า ที่ดินที่เกิดเหตุเป็นที่ดินที่ราษฎรเข้าครอบครองและทำประโยชน์มาก่อนใช้บังคับประมวลกฎหมายที่ดิน เมื่อปี 2497 และมีการครอบครองต่อเนื่องเรื่อยมา ที่ดินที่เกิดเหตุจึงไม่ใช่ป่านั้น เห็นว่า ตามทางพิจารณา จำเลยที่ 1 นำสืบแต่เพียงว่า ที่ดินที่เกิดเหตุนั้น บิดามารดาของจำเลยที่ 1 และชาวบ้านต่างเข้าครอบครองทำประโยชน์มาโดยตลอด จำเลยที่ 1 มิได้นำสืบให้แจ้งชัดว่า บุคคลเหล่านั้นครอบครองทำประโยชน์มาแต่เมื่อใด ทั้งการที่ถือเอาปี 2492 อันเป็นปีที่จำเลยที่ 1 เกิด มาเป็นฐานอนุมานเวลาการครอบครองเพียงอย่างเดียวดั่งที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอ้าง โดยไม่พยานหลักฐานอื่นใดสนับสนุน ก็ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังว่า มีการครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุมาก่อนมีการใช้บังคับประมวลกฎหมายที่ดินอันจะทำให้ที่ดินที่เกิดเหตุมิใช่ป่าตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาข้อต่อไปว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองบุกรุกเข้าไปในป่าพรุ ป่าน้ำราด ป่ารกร้าง อันเป็นสาธารณประโยชน์ของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันในการหาปลา หาพืชผัก เพื่อการดำรงชีพ ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ โจทก์มีหน้าที่นำสืบพิสูจน์ความผิดของจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174 แต่ข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานโจทก์ที่ปรากฏในทางพิจารณาไม่ได้ความว่า ที่ดินที่เกิดเหตุเป็นป่าประเภทใด และไม่ปรากฏว่าเป็นป่าพรุ ป่าน้ำราด ป่ารกร้าง อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันดังที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่โจทก์กล่าวมาในฟ้องในข้อสาระสำคัญ ทำให้จำเลยที่ 1 หลงต่อสู้ ต้องยกฟ้องโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง นั้น เห็นว่า แม้โจทก์นำสืบแต่เพียงว่าที่ดินที่เกิดเหตุเป็นป่า โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงให้ชัดเจนว่าเป็นป่าตามฟ้องประเภทใดก็ตาม แต่เมื่อที่ดินที่เกิดเหตุเป็นป่า ซึ่งเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่สงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ก็ย่อมเป็นที่สาธารณประโยชน์ของแผ่นดินที่ประชาชนคนทั่วไปสามารถเข้าไปหาพืชผักหรือปลาที่ไม่ใช่ของป่าหวงห้ามเพื่อการดำรงชีพได้ ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาได้แตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องอันจะเป็นเหตุให้ต้องยกฟ้องโจทก์ ดังที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นฎีกาไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ต้องวินิจฉัยข้อต่อมาว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้รวบรวมที่ดินรวมทั้งที่ดินที่เกิดเหตุที่ชาวบ้านบุกรุกครอบครองทำประโยชน์มาขายให้บริษัท ท. จำเลยที่ 1 ย่อมทราบถึงความเป็นมาของที่ดินที่เกิดเหตุดีว่าเป็นที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิใด ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่รวบรวมนั้น จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการก็ย่อมทราบว่าที่ดินแปลงใดที่ไม่มีเอกสารสิทธิใด ๆ ตามกฎหมาย ที่ดินแปลงนั้นย่อมเป็นป่าและเป็นที่ดินของรัฐ จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจยกขึ้นอ้างว่าไม่ทราบว่าที่ดินที่เกิดเหตุ เป็นป่าและเป็นที่ดินของรัฐได้ เมื่อขณะเกิดเหตุ ที่ดินที่เกิดเหตุยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดินและจำเลยที่ 1 รับว่า เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาต่อมาว่า คำพิพากษาฎีกาที่ 8954/2558 ศาลฎีกาพิพากษารับรองสิทธิครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุของทายาทนายสุวรรณย่อมส่งผลให้ผู้มีสิทธิครอบครองได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามกฎหมายที่ดิน ทั้งในทางพิจารณาคดีดังกล่าว เจ้าหน้าที่ของรัฐได้เบิกความว่า ไม่ใช่ที่สาธารณะ ไม่ใช่ป่าสงวน หรือที่ซึ่งราชการหวงห้าม และที่ดินไม่มีสภาพป่าตามความหมายของพระราชบัญญัติป่าไม้ ฯ เมื่อจำเลยที่ 1 ถูกดำเนินคดีนี้ด้วยเหตุที่สืบเนื่องจากกรณีพิพาทในคดีแพ่งดังกล่าว จึงสามารถยกเอาคำพิพากษาศาลฎีกานี้ขึ้นกล่าวอ้างต่อสู้รัฐได้ นั้น เห็นว่า คำพิพากษาฎีกาที่ 8954/2558 เป็นเรื่องที่ทายาทของนายสุวรรณอ้างว่าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า ไม่มีเอกสารสิทธิใด ๆ ฟ้องขับไล่นางอารีย์ผู้บุกรุกและเรียกค่าเสียหาย จึงเป็นการที่ศาลฎีกาวินิจฉัยกรณีพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกันว่า ผู้ใดครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาก่อน และใครมีสิทธิในที่ดินดีกว่ากัน หาได้มีการวินิจฉัยรับรองถึงสถานะของที่ดินพิพาทว่าเป็นป่าหรือไม่ ทายาทของนายสุวรรณผู้ชนะคดีมีสิทธิครอบครองที่ดินและกระทำผิดต่อกฎหมายบ้านเมืองหรือไม่แต่อย่างใด คำพิพากษาฎีกาที่ 8954/2558 จึงไม่ได้ก่อสิทธิใดแก่ทายาทของนายสุวรรณที่จะยกขึ้นยันรัฐได้ ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ถูกดำเนินคดีนี้ แม้ที่ดินที่เกิดเหตุที่จำเลยที่ 1 ครอบครองแทนทายาทของนายสุวรรณเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินพิพาทในคดีแพ่งดังกล่าว จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีสิทธิอันหนึ่งอันใดที่เกิดจากผลของคำพิพากษาในการชนะคดีขึ้นยันรัฐได้เช่นเดียวกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง นั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อสุดท้ายว่า สมควรลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 สถานเบากว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนดหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 บุกรุกเข้าไปครอบครองทำประโยชน์ที่ดินที่เกิดเหตุเนื้อที่ถึง 404 ไร่ 2 งาน 21 ตารางวา ซึ่งเป็นจำนวนค่อนข้างมากก็ตาม แต่ที่ดินดังกล่าวมีการบุกรุกเข้าไปครอบครองทำประโยชน์มานานแล้ว และตกทอดครอบครองต่อกันมาอีกหลายคน จำเลยที่ 1 จึงมิใช่ผู้ที่เข้าไปบุกรุกสร้างความเสียหายแก่รัฐตั้งแต่เริ่มแรก ทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุแทนบุคคลอื่น และปัจจุบันที่ดินที่เกิดเหตุอยู่ในพื้นที่ที่ทางราชการอาจออกเอกสารแสดงสิทธิให้ได้ ประกอบกับจำเลยที่ 1 มีอายุมากแล้ว กรณีจึงมีเหตุอันควรปราณี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยที่ 1 ภายหลังลดโทษให้แล้วจำคุก 8 ปี จึงหนักเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี เมื่อลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 4 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8