คดีได้ความว่า นายเสาร์ได้แจ้งต่อนายร้อยตำรวจโทสุพัฒน์ผูบังคับกองฯ ว่า จำเลยที่ ๑ กับพวกลักโคไป นายร้อยตำรวจโทสุพัฒน์ จึงสั่งให้นายสิบตำรวจเอกฉอ้านกับนายสิบตำรวจตรีสมานไปเชิญตัวจำเลยมาพบ นายสิบทั้งสองไปแจ้งจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ไม่ยอมไป จึงเข้าจับกุมบนเรือน จำเลยใช้มีดและขวานต่อสู้ขัดขวางตำรวจแย่งไว้ได้แล้วกระโดดจากเรือนและรายงานให้นายร้อยตำรวจโทสุพัฒน์ทราบ นายร้อยตำรวจโทสุพัฒน์จึงแจ้งให้จำเลยทราบว่าเป็นผู้บังคับกองมาจับในข้อหาลักโคนายเสาร์ จำเลยก็ไม่ยอมให้จับ นายร้อยตำรวจโทสุพัฒน์จึงสั่งให้ตำรวจจับจำเลย ๆ ไม่ยอม โดยจำเลยที่ ๑ ชกนายสิบตำรวจเอกฉอ้าน จำเลยที่ ๒ ผลักอกนายสิบตำรวจตรีสมาน เพื่อช่วยจำเลยที่ ๑
ศาลชั้นต้นจึงพิพากษาว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง ลงโทษจำเลยที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๘, ๑๔๐ จำเลยที่ ๒ ตามมาตรา ๑๓๘ วรรค ๒
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานจริง แต่การจับกุมในระยะแรกนายสิบตำรวจไปจับโดยไม่มีหมาย จำเลยอยู่ในที่รโหฐาน และไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้า การจับกุมจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยต่อสู้ขัดขวางไม่เป็นความผิด ส่วนการจับกุมระยะหลังถือได้ว่าผู้บังคับกองฯ จับด้วยตนเอง ย่อมมีความผิดแต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องถึงผู้บังคับกองว่ามีส่วนร่วมในการจับกุม จึงเป็นการนอกฟ้องลงโทษไม่ได้
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในระยะแรก นายสิบตำรวจไปจับจำเลยบนบ้านในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายแม้นายร้อยตำรวจโทสุพัฒน์จะอยู่ห่าง ๑๐ วา แต่ก็อยู่ที่บ้านนายเสาร์ ไม่ได้ไปจับกุมด้วย การจับกุมไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๗๘, ๘๑ จำเลยต่อสู้ขัดขวาง จึงไม่มีความผิด ส่วนในระยะหลัง ผู้บังคับกองฯ ซึ่งเป็นนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ไปทำการจับกุมด้วย ชอบด้วยมาตรา ๗๘, ๙๒ วรรคท้ายแล้ว
ข้อที่ว่า ฟ้องมิได้ระบุว่านายร้อยตำรวจโทสุพัฒน์ไปจับกุมด้วย การนำสืบจะเป็นการนอกฟ้องหรือไม่นั้น โจทก์กล่าวในฟ้องว่า นายสิบตำรวจเอกฉอ้าน นายสิบตำรวจตรีสมานผู้เสียหายกับพวก ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดตามกฎหมาย เมื่อนายร้อยตำรวจโทสุพัฒน์เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จับกุมตามกฎหมายได้ จึงถือว่าฟ้องซึ่งระบุว่ากับพวกเจ้าพนักงานฯ หมายถึงผู้บังคับกองฯ ด้วย การที่ระบุแต่นายสิบก็เพราะเป็นผู้ถูกบาดเจ็บ เป็นผู้เสียหาย
พิพากษากลับ ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๘ วรรค ๒