โจทก์ฟ้องว่า บริษัทนพพรซิลเวอร์โกลด์ จำกัด บริษัทชัวร์ออดิโอ จำกัด บริษัทท็อปไลน์ มิวสิค จำกัด บริษัทโรสมีเดียแอนด์เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด บริษัทไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น จำกัด บริษัทโมโน ฟิล์ม จำกัด บริษัทอลังการสตูดิโอ จำกัด บริษัทอาร์เอส จำกัด (มหาชน) บริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) บริษํทจีเอ็มเอ็ม ไทยหับ จำกัด ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 ตามลำดับ เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทยและมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยตลอดระยะเวลาที่สร้างสรรค์งาน ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในฐานะเป็นผู้สร้างสรรค์งานภาพยนตร์ งานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง โสตทัศนวัสดุ ตามบัญชีรายชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ ชื่อภาพยนตร์และชื่อเพลง วันเดือนปีที่โฆษณาครั้งแรก เอกสารท้ายฟ้อง ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ส่วนบริษัททเวนตี้ เซ็นจูรี่ฟ๊อกฟิล์ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัทดิสนี่ย์ เอ็นเตอร์ไพรส์ องค์ จำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัดยูนิเวอร์แซล ซีตี้ สตูดิโอส์ บริษัทวอร์เนอร์ บรอส เอนเตอร์เทนเม้นท์ อิงค์ จำกัด บริษัทโคลัมเบีย พิคเจอร์ อินดัสทรีส์ อิงค์ จำกัด บริษัท ทนู อิมเมจ อิงค์ จำกัด บริษัทไอพีเอ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โปรดักชั่น แอสโซซิเอตส์ อิงค์ จำกัด บริษัทไฮด์ปาร์ค อินเตอร์เนชั่นแนล แอล แอล ซี จำกัด บริษัทลอง เรด จำกัด บริษัทนิปปอน เทเลวิชั่นเน็ตเวอร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัทเวลเว็ท อ๊อคโทพัส ลิมิเต็ด จำกัด ผู้เสียหายที่ 11 ถึง 21 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายและมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศที่เป็นภาคีสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย ผู้เสียหายที่ 11 ถึง 21 เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โดยเป็นผู้สร้างสรรค์งานภาพยนตร์ ตามบัญชีรายชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ ชื่อภาพยนตร์ วันเดือนปีที่โฆษณาครั้งแรกเอกสารท้ายฟ้อง งานอันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งยี่สิบเอ็ดมีการโฆษณาครั้งแรกในประเทศไทยหรือในประเทศที่เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย จึงได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ผู้เสียหายทั้งยี่สิบเอ็ดจึงมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน ตลอดจนอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิและให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น
เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2551 เวลากลางวัน จำเลยกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ
(ก) จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์งานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง โสตทัศนวัสดุของผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 กับที่ 9 โดยการนำเพลงที่มีการขับร้องและบรรเลงโดยศิลปินอันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 กับที่ 9 มาทำซ้ำ ดัดแปลง โดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่สามารถบันทึกเขียนซีดี เครื่องพิมพ์สี และแผ่นสกรีนสี ทำการผลิตแผ่นซีดีเพลงที่บันทึกงานดนตรีกรรม เนื้อร้อง ทำนอง เสียงดนตรี และการเรียบเรียงเสียงประสานเพลงอันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 กับที่ 9 แบ่งเป็นแผ่นดีวีดีเพลงคาราโอเกะ 12 แผ่น แผ่นวีซีดีเพลงคาราโอเกะ 703 แผ่น แผ่นซีดีรอมเพลงเอ็มพีสาม 655 แผ่น โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 กับที่ 9 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 และหมายเลข 5 แผ่นที่ 1 เพื่อแสวงหากำไรทางการค้าอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย
(ข) จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์งานภาพยนตร์ของผู้เสียหายที่ 4 ถึงที่ 8 กับที่ 10 ถึงที่ 21 โดยการนำแผ่นวีซีดีต้นฉบับ หรือแม่แบบภาพยนตร์เรื่องต่างๆ อันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ 4 ถึงที่ 8 กับที่ 10 ถึงที่ 21 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3, 4, 5 แผ่นที่ 2 และหมายเลข 6 มาทำซ้ำ ดัดแปลง พิมพ์บันทึกลงในแผ่นซีดีเปล่า ทำให้แผ่นซีดีดังกล่าวสามารถนำไปเล่นซ้ำและทำซ้ำได้อีก โดยใช้เครื่องเล่นซีดี ดีวีดี ด้วยการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่สามารถบันทึกเขียนแผ่นซีดี เครื่องพิมพ์สี และแผ่นสกรีนสีทำการผลิตแผ่นซีดีภาพยนตร์แบ่งเป็นแผ่นวีซีดีภาพยนตร์ 1,688 แผ่น แผ่นดีวีดีภาพยนตร์ 133 แผ่น เพื่อแสวงหากำไรทางการค้าโดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ 4 ถึงที่ 8 กับที่ 10 ถึงที่ 21
(ค) จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งยี่สิบเอ็ด โดยมีไว้ซึ่งแผ่นดีวีดีเพลงคาราโอเกะ จำนวน 12 แผ่น แผ่นวีซีดีเพลงคาราโอเกะ จำนวน 703 แผ่น แผ่นซีดีรอมเพลงเอ็มพีสาม จำนวน 655 แผ่น แผ่นวีซีดีภาพยนตร์ จำนวน 1,688 แผ่น และแผ่นดีวีดีภาพยนตร์ จำนวน 133 แผ่น ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ถึง 6 ซึ่งจำเลยได้ทำซ้ำ ดัดแปลงขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งยี่สิบเอ็ด รวมทั้งสิ้น 3,191 แผ่น เพื่อขาย เสนอขาย และมีไว้เพื่อขายแก่ประชาชนทั่วไป เพื่อแสวงหากำไรในทางการค้า โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าแผ่นซีดีเพลง แผ่นซีดีภาพยนตร์ และแผ่นซีดีรอมเพลงเอ็มพีสามที่จำเลยมีไว้ดังกล่าว เป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งยี่สิบเอ็ดและไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายทั้งยี่สิบเอ็ด อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
(ง) จำเลยประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์ ตามรายชื่อภาพยนตร์ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3, 4, 5 แผ่นที่ 2 และหมายเลข 6 ในรูปของแผ่นซีดีอันเป็นวัสดุที่มีการบันทึกภาพ หรือภาพและเสียง ซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพเคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่อง เป็นแผ่นวีซีดีภาพยนตร์ จำนวน 1,688 แผ่น แผ่นดีวีดีภาพยนตร์ จำนวน 133 แผ่น ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ 4 ถึงที่ 8 กับที่ 10 ถึงที่ 21 รวมทั้งสิ้น 1,821 แผ่น ที่บ้านเลขที่ 19/2 หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านโพ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทนด้วยการขาย เสนอขาย และมีไว้เพื่อขายซึ่งแผ่นซีดีดังกล่าวแก่ประชาชนทั่วไป โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย
(จ) จำเลยจัดตั้งหรือประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายวีดิทัศน์คาราโอเกะที่มีภาพประกอบเพลงจำนวนหลายเพลงที่ขับร้องและบรรเลงโดยศิลปินต่างๆ ของผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 กับที่ 9 ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในรูปแบบแผ่นซีดีอันเป็นวัสดุที่มีการบันทึกภาพหรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่องในลักษณะที่เป็นเกมการเล่นโดยแยกเป็นแผ่นวีซีดีเพลงคาราโอเกะ จำนวน 241 แผ่น ดีวีดีเพลงคาราโอเกะ จำนวน 241 แผ่น ดีวีดีเพลงคาราโอเกะ จำนวน 8 แผ่น รวมทั้งสิ้น 249 แผ่น ที่บ้านเลขที่ 19/2 หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านโพ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทนด้วยการขาย เสนอขาย และมีไว้เพื่อขายซึ่งแผ่นวีซีดี ดีวีดีดังกล่าวแก่ประชาชนทั่วไป โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนานทะเบียนอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 5, 6, 8, 15, 27, 28, 31, 61, 69, 70, 75, 76 พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 38, 53, 79, 82 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91 ให้แผ่นซีดีและดีวีดีภาพยนตร์ ซีดีเพลงซีดีรอม (เอ็มพีสาม) ของกลางที่ละเมิดลิขสิทธิ์ตามฟ้อง (ก) (ข) (ค) จำนวน 3,191 แผ่น ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ และสั่งจ่ายค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 21 ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ริบของกลางอื่นทั้งหมด
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1), 28 (1) พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 53 วรรคหนึ่ง, 82 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า จำคุก 1 ปี และปรับ 400,000 บาท ความผิดฐานประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตปรับ 100,000 บาท รวมโทษทุกกระทงแล้วเป็นจำคุก 1 ปี และปรับ 500,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน และปรับ 250,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้ของกลางที่ละเมิดลิขสิทธิ์ตกเป็นของผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ของกลางอื่นให้ริบ และให้จ่ายค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษาฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า "ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยเป็นเพียงลูกจ้างขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ มีหน้าที่ดูแลและส่งสินค้า ส่วนการทำซ้ำและการผลิตเป็นเรื่องของนายจ้างกับลูกจ้างอื่น จำเลยให้การรับสารภาพเพราะติตต่อนายจ้างไม่ได้และอยากให้คดีเสร็จสิ้นโดยเร็วนั้น เห็นว่า คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงที่จำเลยอ้างจึงมิใช่เป็นข้อที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงไม่รับวินิจฉัย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาด้วยการรอการลงโทษจำคุกและลดโทษปรับนั้น พิเคราะห์พฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยประกอบกับของกลางที่เจ้าพนักงานยึดได้ ซึ่งเป็นเครื่องมือและอุปกรณ์ในการทำซ้ำ ดัดแปลง และผลิตแผ่นงานอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายถึง 21 ราย ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์โดยตรงแล้ว ยังก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงและระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมอีกด้วย โทษจำคุกและโทษปรับที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางลงโทษจำเลยในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ผู้อื่นเพื่อการค้านั้นเหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ในส่วนความผิดเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำซ้ำดัดแปลงงานอันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งยี่สิบเอ็ดตามฟ้องและมีไว้เพื่อขายแก่บุคคลทั่วไปซึ่งงานดังกล่าวเป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน และมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27, 28, 31, 69 และ 70 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยให้การรับสารภาพตามข้อหาในคำฟ้องซึ่งเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1), 28 (1), 31 (1), 69 วรรคสอง และ 70 วรรคสอง การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1), 28 (1) เพียงกระทงเดียว จึงไม่ถูกต้อง
ส่วนการกระทำของจำเลยอันเป็นควมผิดตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ (ง) ว่า จำเลยประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์ในรูปของแผ่นซีดี โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน และบรรยายฟ้องในข้อ (จ) ว่าจำเลยจัดตั้งหรือประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายวีดิทัศน์คาราโอเกะ โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทนด้วยการขาย เสนอขาย และมีไว้เพื่อขายซึ่งแผ่นซีดีดังกล่าวแก่ประชาชนทั่วไป โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน ขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 38, 53, 79, 82 จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามฟ้องว่า จำเลยมีความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์ โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 38 วรรคหนึ่ง, 79 ส่วนความผิดฐานประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 53 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ห้ามผู้ใดจัดตั้งหรือประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน โดยมาตรา 4 บัญญัติให้นิยามคำว่า "ร้านวีดิทัศน์" ว่า สถานที่ที่จัดให้มีเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ ตลิดจนสิ่งอำนวยความสะดวกในการฉาย เล่น หรือดูวีดิทัศน์ แสดงว่ากิจการร้านวีดิทัศน์ คือ การฉาย เล่น หรือดูวีดิทัศน์เท่านั้น ดังนั้น การกระทำของจำเลยตามข้อ (จ) ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยจัดตั้งหรือประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายวีดิทัศน์ จึงไม่เป็นความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษได้ และแม้โจทก์จะบรรยายฟ้องข้อ (จ) ด้วยว่าจำเลยจัดตั้งหรือประกอบกิจการดังกล่าว ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายวีดีทัศน์อันเป็นองค์ปรกอบความผิดในมาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 82 ก็ตาม แต่เมื่อคำขอให้ลงโทษจำเลย โจทก์ไม่ระบุมาตรา 54 มาด้วย จึงต้องถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 54 จำเลยคงมีความผิดเฉพาะตามมาตรา 38 วรรคหนึ่ง, 79 คำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสวนนี้จึงไม่ถูกต้องอีกเช่นกัน แต่เนื่องจากโจทก์มิได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงไม่อาจลงโทษจำเลยตามข้อหาในฐานความผิดที่ถูกต้องได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยและเป็นการเกินคำขอ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 แต่มีอำนาจปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทสและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง"
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1), 28 (1), 31 (1), 69 วรรคสอง และ 70 วรรคสอง พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง, 79 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยการทำซ้ำ ดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1), 28 (1), 69 วรรคสอง กระทงหนึ่ง ฐานมีไว้เพื่อขายซึ่งงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1), 70 วรรคสอง กระทงหนึ่ง และฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายภาพยนตร์ โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนอีกระทงหนึ่ง รวมโทษทุกกระทงเมื่อลดโทษแล้วคงจำคุก 6 เดือน และปรับ 200,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 53 วรรคหนึ่ง, 82 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่งประเทศกลาง